เหตุที่ไม่ควรนำปลาปักเป้ามารับประทาน
จากกรณีข่าวชาวบ้านที่จังหวัดมหาสารคามเสียชีวิตจากการรับประทานปลาปักเป้า จึงอยากขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการบริโภคปลาปักเป้าซึ่งมีสารพิษถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ย้ำไม่ควรนำมาประกอบอาหารเพราะความร้อนทำลายพิษไม่ได้
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวชาวบ้าน หัวเรือ หมู่ที่ 4 ตำบลหัวเรือ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม นำปลาปักเป้าน้ำจืดที่หาได้จากลำห้วย ใกล้หมู่บ้านมาต้มรับประทานแล้วเกิดอาการอาเจียนอย่างหนัก ปากชา แขนขาอ่อนแรง ช็อกหมดสติและเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล จึงขอเตือนประชาชนว่าไม่ควรนำปลาปักเป้ามาประกอบอาหาร เพื่อรับประทานเด็ดขาดเนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่สามารถแยกชนิดปลาปักเป้า ที่มีพิษและไม่มีพิษได้
ปลาปักเป้า มีทั้งปลาปักเป้าน้ำจืด และปลาปักเป้าน้ำเค็ม สารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้าน้ำจืดคือ ซาซิท็อกซิน (Saxitoxin) ส่วนสารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้าน้ำเค็ม คือ เทโตรโดท็อกซิน(Tetrodotoxin) การออกฤทธิ์ของซาซิท็อกซิน คล้ายกับเทโตรโดท็อกซิน แต่รุนแรงมากกว่า โดยส่วนที่มีพิษสูงที่สุด ของปลาปักเป้า คือ ตับ รังไข่ เครื่องใน รองลงมา คือ หนังปลาและเนื้อปลา ตามลำดับ สารพิษนี้ทนต่อความร้อนสูงมาก ดังนั้นการทำให้สุกจึงไม่สามารถทำลายพิษได้สำหรับผู้ที่รับประทานปลาปักเป้าเข้าไปมักจะเกิดอาการหลังจากกินประมาณ 30 นาทีพิษของปลาปักเป้าจะมีผลต่อระบบกล้ามเนื้อและประสาท โดยจะเริ่มชาที่ริมฝีปากปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อแขน ขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตและถ้ามีอาการช็อก อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-4 ชั่วโมง ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษปลาปักเป้า จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตามอาการและเนื่องจากพิษจะถูกขับทางปัสสาวะการให้ยาขับปัสสาวะจะช่วยให้พิษถูกขจัดออกได้เร็วขึ้น
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต