เสื้อชูชีพผักตบชวา รับมือน้ำท่วม ฝีมือน้องๆ ‘ร.ร.นครไทย’
ใครที่คิดว่าการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ช่างน่าเบื่อ และดูเป็นเรื่องไกลตัว เห็นทีจะต้องคิดใหม่เสียแล้ว เพราะเพื่อนๆ โรงเรียนนครไทย จ.พิษณุโลก ร่วมกันสร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาสตร์แบบอิน เทรนด์ อย่าง เสื้อชูชีพจากผักตบชวา เพื่อใช้รับมือกับ น้องน้ำ โดยมีถ้วยรางวัลดาวทองประเภทโครงงานระดับชั้นมัธยมต้น การันตีสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้
ไอเดียนี้มาจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยฝีมือน้องๆ 3 คน ประกอบด้วย ดิว-วันวิสา สุวรรณ์, บิว-ชนกานต์ ไชยสัตย์ และ หมิวประภากร ทองสน นักเรียนชั้น ม.3 ที่แม้จะริเริ่มทำค่ายวิทย์แบบโชคชะตาพาไป หากประสบการณ์ครั้งนี้กลับได้อะไรมากกว่าที่คิด
“ตอนนั้นได้ยินข่าวน้ำท่วม ถึงเราไม่เกี่ยวอะไร แต่ก็อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อเตรียมพร้อมบ้าง จะให้ไปซื้อข้าวของมาบริจาค คงจะได้ไม่เท่าไร จะเตรียมเรือไว้ เงินที่มีก็คงไม่พอ เลยจะหาทางช่วยเหลือในแบบของเรา จนมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมโครงงาน (เชิง) วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ก็เหมือนมีแรงผลักดันอยากจะทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้”
สำหรับวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์เสื้อชูชีพจากผักตบชวา ได้แก่ 1.ลำต้นผักตบชวาแห้ง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1 เซนติเมตร (ซ.ม.) 2.ถุงพลาสติก 3.ถุงปุ๋ย ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม 4.กรรไกรหรือคัตเตอร์ 5.เข็ม ด้าย และจักรเย็บผ้า 6.เทียนไข หรืออุปกรณ์จุดไฟ 7.ก้ามปูหรือตัวล็อก 8.สายวัดตัว 9.ไม้บรรทัด 10.บีกเกอร์ 11.กระบอกตวง 12.ถ้วยยูรีกา 13.น้ำ และ 14.เครื่องชั่ง
ขั้นตอนการศึกษา แบ่งเป็นตอนที่ 1 ศึกษาแบบ และขนาดต่างๆ ก่อนนำพลาสติกใสชนิดหนามาวัด และตัดเย็บตามแบบให้เรียบร้อย โดยเย็บด้านหลังตามขวางจากระดับรักแร้ข้างซ้ายถึงข้างขวา เย็บตามยาวของลำตัวแบ่งเป็น 2 ช่อง สำหรับบรรจุผักตบชวาแห้ง ส่วนด้านข้างใต้รักแร้ ขณะที่ด้านหน้าเย็บเป็นช่องข้างละ 1 ช่อง ติด ซิบรูดยาวรอบชายเสื้อ จากนั้นค่อยเอาก้ามปู หรือตัวล็อกมาเย็บติด 3 คู่ แต่ละคู่ห่างกัน 10 ซ.ม. 2.นำส่วนของลำต้นผักตบชวาตากแห้งที่คัดเลือกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1 ซ.ม. ยาวไม่น้อยกว่า 50 ซ.ม. วัดจากส่วนโคนลำต้น และตัดให้ได้ความยาว 30 ซ.ม. นับลำต้นผักตบชวาที่ใช้ทำ 20 ชิ้น รวมเป็นมัด นำไปชั่ง และหาปริมาตร ก่อนบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด 18×35 ซ.ม. แพคให้เรียบร้อย นำไปใส่ในช่องของเสื้อที่ตัดเย็บไว้จนครบทั้ง 6 ช่อง รอบลำตัว และ 3.ตัดเย็บในวิธีการเช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากพลาสติกใสและหนา เป็นถุงบรรจุปุ๋ย และถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม พร้อมไปกับทดสอบตามขนาดของเสื้อที่มี 3 ไซซ์ คือ s, m, l
“หมิว” แจกแจงว่า ขั้นตอนสำคัญคือการศึกษาปริมาณของผักตบชวาที่ใช้ประดิษฐ์เสื้อชูชีพ ทั้งการนำส่วนของลำต้นผักตบชวาตากแห้งที่คัดเลือกเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1 ซ.ม. ยาวไม่น้อยกว่า 50 ซ.ม. วัดจากส่วนโคนลำต้น และตัดให้ได้ความยาว 30 ซ.ม. นำไปชั่งและหาปริมาตรโดยการแทนที่น้ำ จากนั้นทดลองเพื่อหาค่าเฉลี่ย นำค่ามวล และปริมาตรที่ได้และแทนค่าในสูตรหาความหนาแน่นได้ได้สัดส่วนของผักตบชวาที่ใช้ตามขนาดของเสื้อชูชีพที่ตัดเย็บ
“ขั้นตอนการตัดเย็บพลาสติกยาก ทำอย่างไรก็ไม่พอดี ก็ลองศึกษาดูจากเสื้อชูชีพจริงๆ ว่าเขาวางอย่างไร เราก็ต้องมาเรียงผักตบชวาให้ถูก ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ กับการลองขนาดไซซ์ ดูวิธีการตัด กว่าจะลงตัว เช่น ขนาดของตัวเสื้อชูชีพขนาด s จะสำหรับคนที่มีน้ำหนัก 20-40 กิโลกรัม ซึ่งจะมีความกว้างของไหล่ซ้ายถึงไหล่ขวา 30 ซ.ม. รอบสะโพก 100 ซ.ม. ความยาวไหล่ถึงสะโพก 40 ซ.ม. ส่วนรอบคอ ความกว้างของบ่า ก็ลดทอนมาเป็นระดับ”
ความสนุกที่สุดของโปรเจ็กต์นี้คือช่วงทดลอง ซึ่งแน่นอนว่านายแบบ-นางแบบ หนีไม่พ้นเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และเหล่าสมาชิก ก่อนจะเอาไปลอยน้ำจริงๆ
“เราทดสอบการพยุงตัวของเสื้อชูชีพจากผักตบชวาทั้ง 3 ขนาด และวัสดุอื่นๆ อาทิ พลาสติกชนิดใสและหนา ถุงบรรจุน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือถุงบรรจุน้ำยารีดผ้าชนิดเติมมาเปรียบเทียบ เพื่อทดสอบการพยุงตัวเมื่อใช้วัสดุที่ต่างกัน โดยให้ลงไปในน้ำที่ตำแหน่งเดียวกัน ระดับความลึกเท่ากัน ก่อนบันทึกผลการทดลองจนได้ขนาด และวัสดุที่ดีที่สุด”
ถ้าปีนี้น้ำท่วมอีก เพื่อนๆ ก็อย่าลืมหา “เสื้อชูชีพผักตบชวา” มารับมือกับน้องน้ำกัน!!
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน