เสื่อกกลายขิด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอาชีพสู่เยาวชน
คุณครูศรศิลป์ ชุมศรี จากโรงเรียนกระเบื้องนอกพิทยาคม จ.นครราชสีมา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ‘การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอเสื่อกกลายขิด’ กล่าวว่า แม้ในปีนี้จะเกิดอุทุกภัยน้ำท่วม ทำให้ต้นกกค่อนข้างหายาก แต่นักเรียนทุกคนก็พยายามหาในท้องถิ่นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ได้เส้นกกเพื่อใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนจากการใช่กกที่ขึ้นตามห้วยหนอง มาใช้ต้นไหลที่ปลูกเองตามหมู่บ้าน ซึ่งมีคุณภาพคงทนและมันวาวกว่าต้นกก
ครูศรศิลป์ เล่าให้ฟังว่า ได้คิดนวัตกรรมหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้การทอเสื่อกกง่ายขึ้น โดยคิดค้นทำบล็อกขึ้นมามีลักษณะคล้ายฟันปลา เมื่อนำบล็อกไปกดกับเส้นกกที่ขึงไว้ แล้วนำเส้นกกที่เตรียมไว้อีกชุดหนึ่งสอดเข้าไป เราก็จะได้เสื่อที่มีลวดลายสวยงามคล้ายลายผ้าทอ จากการคิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้เด็กๆ เริ่มที่จะอยากเรียนรู้เพราะการสานเสื่อในรูปแบบใหม่ง่ายขึ้น อีกทั้งชาวบ้านก็ยังสามารถนำไปใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ (เสื่อกก) ได้อีกด้วย จากเดิมที่เคยมีแต่ลายสามเหลี่ยม ปัจจุบันเสื่อมีลายที่งดงามมากยิ่งขึ้น
“ในส่วนของโรงเรียน ก็ได้บันทึกวิชาการสร้างสรรค์เสื่อกกลายขิด ให้เป็นวิชาสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 อีกทั้งยังเปิดเป็นชุมนุมให้กับผู้ที่สนใจเข้าเรียนอีกด้วย ซึ่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนครั้งนี้ สิ่งที่นักเรียนจะได้รับคือได้เรียนรู้จากชุมชน มีความคิดสร้างสรรค์สามารถออกแบบลายเสื่อของตัวเองได้อย่างเสรี ตลอดจนยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย” ครูศรศิลป์กล่าว
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน
update : 06-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน