เสียสละ…หัวใจการปฏิรูป


 


ข้อพิพาทในการถือครองที่ดินเหนือเขตรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหาร  กลายเป็นประเด็นระดับโลกท่ามกลางความกังวลของคนไทยทั้งประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่อย่างไรก็ตาม หากเรามองสถานการณ์นี้อย่างสร้างสรรค์แล้ว  นับเป็นบทเรียนที่สังคมไทยน่าจะร่วมกันพินิจพิเคราะห์ไม่มากก็น้อยอย่างน้อยที่สุด เราสมควรต้องถามตัวเองว่าในฐานะคนไทยแล้ว เราต้องทำหน้าที่อย่างไรเพื่อไม่ให้สถานะที่เสียเปรียบของเรานั้น ย่ำแย่ไปกว่าเดิม มิเช่นนั้น  ตัวแทนในการต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของชาติบ้านเมือง  คงไม่ผิดกับนักรบที่ต้องสู้ศึกหลายด้าน…จริงไหม


ครับ…ก็ขอให้กำลังใจกัน  ทั้งรัฐบาล ข้าราชการพลเรือน  ทหาร และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอธิปไตย ถึงแม้งานนี้ค่อนข้าง “หิน” เพราะพื้นที่ชายแดนนั้น ไม่ได้มีเสาหรือกำแพงเป็นเครื่องหมายแสดงเขตแดนอย่างชัดแจ้งนั่นเองคิดๆไป… แม้แต่ปัญหาที่ดินที่มีหนังสือถือครองในมือ ยังมีข้อขัดแย้ง พิพาทระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ่อยครั้ง นับประสาอะไรกับบริเวณชายแดน 4.6 หมื่นตารางกิโลเมตร จะไม่ให้เกิดกรณีกระทบกระทั่งกันบ้างเลยนั้น  ผมว่า มันอิมพอสซิเบิ้ลนะครับแต่กรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มี “นายอานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน เสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยการ “ปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร” เมื่อต้นเดือนกุมภานี้ผมว่ามันน่าจะ “พอสซิเบิ้ล”  หรือเป็นไปได้(เสียที)


ถึงแม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นมาตรการดั้งเดิมที่มีความพยายามผลักดันกันมานาน แต่ไม่สำเร็จสักกะทีก็ตาม เพราะอย่างน้อยที่สุด ข้อเสนอแนะในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินครั้งนี้แตกต่างจากในอดีต นั่นคือ รัฐบาลขอมา โดยการกำหนดเป็นนโยบายการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ภาคประชาชนไปเย้วๆ กดดันนี่นา 5 มาตรการใหญ่ที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอนั้นได้แก่ 1.จำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน 2.จัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศ 3.จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร 4.จัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า และ 5.กำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ผู้ถือครองที่ดินดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น



 


เฉพาะหน้านี้ดูเหมือนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็รับปากแล้วว่าจะนำข้อเสนอทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ฉะนั้น คงต้องวัดวากันต่อไปว่างานนี้ผู้กำหนดนโยบายปฏิรูปประเทศไทยนั้นจริงใจหรือจิงโจ้  เพราะเท่าที่ผมศึกษาแล้วข้อเสนอให้จำกัดการถือครองที่ดินนี้ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่เอาจริงเอาจังกับการผลักดันหรือแก้ไขปัญหานี้จนเป็นผลสำเร็จต่างหากเหตุผลคือ ผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศคือคนกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินจะประสบความสำเร็จได้ จึงต้องอาศัยความเสียสละของคนกลุ่มนี้ขอรับ  ซึ่งผมขอยืมถ้อยคำของประธานสมัชชาปฏิรูป ศ.นพ.ประเวศ วะสี (ตามเคย) มาตอกย้ำยืนยันว่า“ เราต้องปฎิรูปที่ดินของเกษตรกร ให้เขาได้มีที่ดินทำกิน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปเรื่องอื่น ๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. คณะกรรมการปฎิรูปได้เสนอแนวทางให้จำกัดถือครอง 50 ไร่ ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ ตอนนี้มีกระแสนักการเมืองไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีจะได้ถกเถียงกันทั้งประเทศ และเป็นเรื่องธรรมดา คนที่มีที่เยอะก็ไม่อยากสูญเสีย แต่อยากวิงวอนให้คนที่มีที่เยอะให้เห็นแก่บ้านเมือง และที่ของราชการก็เยอะ ควรเอามาจัดการให้ราษฎรได้เอามาทำกิน”


จากเอกสารเรื่อง “การจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร:สภาพปัญหาและข้อเสนอปฏิรูป” ของคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลถึงปัญหาความจำเป็นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นระบุให้เห็นเป็นตัวเลขว่า“ทรัพยากรที่ดินในประเทศไทย มีเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนในประเทศ ถ้าทรัพยากรที่ดินจะได้รับการบริหาร จัดการ และมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม”จากอดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นที่รวมในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่า 100 ล้านไร่ และพื้นที่เกษตร 130 ล้านไร่ แต่ 90% ของที่ดินดังกล่าวอยู่ในมือของคนแค่หยิบมือคือ 10%เท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่าที่ดิน 70%ถูกทิ้งร้างรอการเก็งกำไร ซึ่งตัวเลขนี้มูลนิธิสถาบันที่ดินตีมูลค่าว่าเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 127,384 ล้านต่อปีเลยทีเดียว



 


ขณะที่คน 1.46 ล้านคนเป็นแลนด์ลอร์ด ทิ้งที่ดินให้ว่างเปล่า รู้หรือเปล่าครับว่ามีคนกว่า 4.8 ล้านคนอยู่ในสถานภาพที่ไร้ที่ดินทำกินตัวเลขที่น่าสนใจ อีกทั้งท้าทายต่อหัวใจการเสียสละ และความจริงใจในการปฏิรูป คือ การพบว่า ในจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ทุกวันนี้เกือบ 500 คนนั้นมีส.ส.ถึง 134 คนที่ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่  หรือเบ็ดเสร็จแล้วรวมกัน42,221 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 10,872 ล้านบาทถ้าปฏิรูปที่ดิน คนไทยนับล้านจะได้ประโยชน์ถ้าเจ้าของที่ดิน 70% ที่ปล่อยรกร้าง  เก็งกำไร มีความเสียสละ  สวมหัวใจรักชุมชนเข้มแข็ง  อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปอย่างยั่งยืน จะมีคนไทย 1,680,000 คนได้รับผลประโยชน์ สามารถมีชีวิตที่ดีมีคุณภาพ และรักษาสุขภาวะอย่างพอเพียงตามพระราชดำรัส “ในหลวง” ได้อย่างไม่ต้องสงสัยผมมองว่า ตรรกของการออกกฎหมาย หรือแก้ไขระเบียบกติกาการถือครองที่ดิน ยากที่จะสำเร็จ หากขาดซึ่งหัวใจแห่งความเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเจ้าของหรือแลนด์ลอร์ดส่วนใหญ่นั้นคือคนที่มีหน้าที่ในสภา แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฏกติกามารยาทดังกล่าว


ฉะนั้น ผมขอร่วมด้วยช่วยอีกแรงครับว่า ในการกระตุ้นจิตสำนึกของเจ้าของที่ดิน 10% ให้ลองคิดพิจารณา “คลาย”  ที่ดินในมือออกมาเพื่อส่วนรวม  อาจจะด้วยการจัดตั้งเป็นสถาบัน หรือมูลนิธิ ให้เกษตรกรได้เข้าไปเช่าซื้อในราคากันเอง เมื่อทำมาหากินตั้งตัวได้ในระยะหนึ่งก็ต้องมีโปรโมชั่นต่อว่า ทำดีจะมีโบนัส นั่นคือ ที่ดินที่ทำกินมากกว่า 10 ปีจะตกเป็นของพวกเขา งานนี้ไม่ต้องรอ ครม. ตัดสินใจ ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายในสภา ก็ทำได้ทันทีครับ …อยู่ที่ว่าหัวใจคุณเสียสละ และมีจิตสำนึกพอหรือเปล่าว่า ที่ดินมีคนทำประโยชน์ให้ ดีกว่าปล่อยให้รกร้าง
 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code