เสียงสะท้อนจากเยาวชน
ร่วมปฏิรูปการศึกษา สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
เยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤติการศึกษา พร้อมผลักดันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ รับการปฏิรูปการศึกษา ทศวรรษที่ 2
จากการประชุมปฏิบัติการเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพเยาวชน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 โดยมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนมีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เข้าถึงระดับฐานล่าง ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพเยาวชนอย่างแท้จริง การสัมมนาดังกล่าว เยาวชนจากทั่วประเทศร่วมสะท้อนถึงปัญหาวิกฤติการศึกษาไทย ตลอดจนเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ด.ช.กิตติณัฐ เล้า นักเรียนชั้น ม.1 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า อยากเห็นการศึกษาไทยพัฒนาไปถึงระดับที่นักเรียนทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่ต้องท่องสูตร โดยให้ครูสอนถึงที่มาของสูตรและหลักการในการใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ นอกจากนี้ ยังอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดค่ายพระพุทธศาสนา และปลูกจิตสำนึกในการเป็นคนดีของสังคม ตลอดจนการปลูกฝังถึงการรักชาติโดยมีการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ หรือการจัดทำห้องสมุดที่รวบรวมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรักชาติ
นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร กล่าวว่า การเรียนรู้ในสังคมไทยนั้น ควรครอบคลุมในทุกมิติ หรือที่เรียกว่า สิบรู้ ได้แก่ รู้จักตนเอง รู้คิด รู้ผิดชอบชั่วดี รู้ภาษาสื่อสาร รู้รอบตัว รู้เทคโนโลยี รู้จักชุมชน รู้วิธีแสดงออก รู้รักตนเองและผู้อื่น และรู้รับผิดชอบสังคม
นายธนสาร พฤฒิสถาพร นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอว่า อยากให้เด็กมีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น แต่วันนี้กลับติดปัญหาในเรื่องของงบประมาณ การใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางสมอง และทางจิตมากขึ้น แต่ปัจจุบันเด็กอนุบาลซึ่งอยู่ในวัยที่มีการพัฒนาการทางสมอง กลับถูกคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ 3g รบกวน ซึ่งสมองของเด็กวัยนี้ ยังไม่สามารถต้านทานในเรื่องของการรบกวนของคลื่นสัญญาณต่าง ๆ ได้ และอยากให้มีการพัฒนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 เพราะปัจจุบันนี้ เด็กเรียนหนังสืออย่างหนักทั้งวัน มีการพัฒนาทางสมอง แต่ขาดการพัฒนาทางด้านจิตใจ
นายอิบราน มอสู ประธานองค์กรเยาวชน ปัตตานี เขต 1 กล่าวว่า จากเวทีปฏิรูปการศึกษาในหลายเวที มีการกล่าวว่าควรใช้ฐานของชุมชนเป็นตัวตั้งแต่กลับเป็นแนวคิดเชิงวิชาการมิได้นำไปปฏิบัติจริง ในโรงเรียนยังไม่มีตัวอย่างที่ชัดเจนว่าจะเอาภูมิปัญญาเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนได้อย่างไร จริง ๆ แล้วควรนำหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาวิถีชีวิตของเขาเอง เพราะปัญหาที่เห็นในปัจจุบัน คือ เด็กที่อยู่ในวิถีชีวิตชุมชน เขาไถนาหรือดำนาไม่เป็น
ด.ช.สมศักดิ์ หมีน้ำเงิน นักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ ลาดหญ้า เสนอว่าควรมีโรงเรียนในหมู่บ้านจะดีกว่า เพราะว่าเด็กจะได้เรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงานไปได้ด้วย เป็นการส่งเสริมให้เด็กสามารถช่วยพ่อแม่ทำงานไปในอีกทางหนึ่ง เหมือนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ตอนเช้าเรียน 3 ชั่วโมง ตอนบ่ายช่วยกันทำงาน นอกจากนี้ คนที่ยากจน หรือคนที่ไม่มีเงิน เมื่อไปโรงเรียนมักถูกเพื่อนล้อ ถามว่าเมื่อเวลาเด็กเรียนแล้ว เขาจะฟังที่อาจารย์สอนได้มั้ย บางครั้งก็จดไม่ทันที่อาจารย์พูด ถ้าอาจารย์จริงจังกับการสอนจริง ๆ ควรที่จะทำให้เด็กเข้าใจที่อาจารย์สอนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่จดทันที่อาจารย์พูดเท่านั้น
นายมูคอลิด คำเต๊ะ สภาพเด็กและเยาวชน อบจ.สตูล กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มานานแล้ว แต่ในส่วนของเด็กและเยาวชนมีความอ่อนไหวในเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้ามายั่วยุมากกว่าผู้ใหญ่ ชาวบ้านบางคนสามารถสอนเด็กให้เรียนรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพไปด้วย โดยให้เด้กช่วยงานที่ตนเองทำ อาจจะเรียกว่าการสอนแบบ home school ซึ่งเรียกว่าเป็นการเรียนรู้เช่นเดียวกัน อยากให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบนี้ด้วย โดยสามารถให้เทียบโอนวุฒิการศึกษาเพื่อให้สามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ยังควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ ปัจจุบันสังคมวัดระดับกันที่ระดับการศึกษา ต้องมีสถาบันการศึกษามารองรับ ถ้าไม่มีเวลาที่พูดก็จะไม่มีน้ำหนัก จริง ๆ แล้วคนบางคนมีความสามารถ มีความรู้ในเรื่อง ๆ หนึ่งเป็นอย่างดี เขาสามารถบรรยายได้อธิบายได้เช่นเดียวกับนักวิชาการต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับเขาด้วย ต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเขาเพื่อให้เขากล้าแสดงออก ในส่วนของการจัดโครงสร้างของระบบสังคมและระบบการศึกษา ควรที่จะช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรคนไทยจึงจะใฝ่รู้ ใฝ่ดี และใฝ่เรียนให้ได้ในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์ถึงปัญหาวิกฤติการศึกษาไทยอีกด้วย อาทิ ปัจจุบัน ครู อาจารย์ยังไม่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น หรือโต้แย้งได้ และอาจารย์บางคนไม่มีความรู้ในเรื่องที่ตนเองกำลังจะสอน บางคนก็เรียนไปพร้อมกับนักเรียนเลย พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะว่า การเรียนการสอนควรเพิ่มภาคปฏิบัติเข้าไปด้วย เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติได้จริง เพราะว่าเด็กบางคนมีความถนัดหรือความเก่งกันคนละด้าน ซึ่งถ้าหากเอาวิชาการหรือข้อสอบมาวัด บางครั้งก็ไม่ได้ความจริงกลับไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากการระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน เด็กและเยาวชนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการศึกษาไทยว่า การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องเริ่มจากครอบครัว พ่อแม่ เน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง เติมเต็มจินตนาการ ความต้องการการเรียนรู้ โดยการเพิ่มจินตนาการให้กับเด็ก ผ่านสื่อ เช่น กระตุ้นให้อยากเป็นหมอ เป็นนักวิทยาศาสตร์การศึกษาตามอัธยาศัยผ่านสื่อมวลชน ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอในประเด็นที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ควรยอมรับความแตกต่างระหว่างพื้นที่ บุคคล การศึกษาระหว่างกรุงเทพฯ และชนบท เยาวชนที่ศึกษาในระบบ และเยาวชนที่ศึกษานอกระบบ ส่งเสริมการเทียบโอนวุฒิการศึกษาในระบบและนอกระบบ และส่งเสริมการเรียนเพื่อความรู้ ไม่รับวุฒิการศึกษา ความแตกต่างของเยาวชนในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาษา วัฒนธรรม การส่งเสริมการเรียนภาษากลาง และภาษาท้องถิ่นควบคู่กัน ปรับเปลี่ยนค่านิยมให้มองที่คุณค่าแท้ และปัญญา มากกว่า ปริญญา ส่งเสริมการสอนวัฒนธรรมที่ดี เช่น การเคาะประตู การขอบคุณ ขอโทษ ไม่เหยียดหยามซ้ำเติมผู้ตอบผิดในห้องเรียน
เกณฑ์การวัดมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ควรให้ความสำคัญกับการวัดเชิงคุณภาพเท่ากับการวัดคุณภาพเชิงปริมาณ วิชาเรียนโดยเฉพาะศาสนา กีฬา วิทยาศาสตร์ ควรเน้นการฝึกปฏิบัติจริง ให้เท่าเทียมกับทฤษฎี หรือภาควิชาการ สำหรับบางวิชาควรใช้ครูผู้เชี่ยวชาญ ครูอาสา เอ็นจีโอ ที่มีความรู้ในประเด็น นั้น ๆ เช่น เพศศึกษา จากภายนอก ซึ่งสามารถทำให้นักเรียนเข้าใจได้ดีกว่าครูในโรงเรียน การจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา เช่น เก้าอี้ โต๊ะ ที่เหมาะสมกับนักเรียน การปรับสภาพแวดล้อมด้านสถาปัตยกรรม การให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อลดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โภชนาการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาพ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองทำงาน ลองผิดลองถูกด้านอาชีพ เช่น การหัดทำงาน ฝึกงานสำหรับนักเรียนมัธยม เพื่อมีได้ทดลองแนวทางและทำความเข้าใจด้านอาชีพ ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้จากสังคมภายนอกโรงเรียน โดยใช้หลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เพราะการศึกษาในระบบไม่สมบูรณ์ ต้องอาศัยการศึกษาที่เน้นประสบการณ์จริง โดยความร่วมมือของเครือข่ายชุมชน ศาสนา ngos วิทยากรนอกหลักสูตร มาร่วมมือจัดการเรียนรู้ด้วย
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน สสค.
update:06-07-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่