เสียงจากแดนใต้ “เบอยีวา” เยาวชนจิตอาสา…เพื่อบ้านของเรา

เสียงจากแดนใต้ “เบอยีวา” เยาวชนจิตอาสา…เพื่อบ้านของเรา

ด้วยพื้นที่ที่ถือเป็นจุดศูนย์กลางของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ห่างจากตัวเมืองปัตตานี 47 กิโลเมตร หรือถ้าวัดระยะจากอำเมือง จังหวัดนราธิวาส ก็จะห่างจากที่นี่ 48 กิโลเมตร และอีก 50 กิโลเมตรจากตัวเมืองจังหวัดยะลา ประกอบกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ทำให้ที่นี่ ตำบลมะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ถือเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ ทั้งในสายตาภาครัฐและคนแดนไกลที่สำคัญ ‘คนในพื้นที่’ ด้วยกันเองก็มีปัญหาหวาดระแวงกันไม่น้อย

“การไม่มีงานทำของเยาวชนที่นี่ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการชักนำไปสู่เรื่องยาเสพติด เรื่องสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นถ้าเขามีผู้นำที่นำไปในทางที่ดี มันน่าจะช่วยให้ปัญหาเบาบางลงได้ และนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น”

จากจุดเริ่มต้น ทีมงาน อบต.มะนังดาลำ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเบอยิวา เยาวชนจิตอาสาขึ้น โดยกำหนดอายุสมาชิกไว้ที่ 15-25 ปี อาราซู สายอ หรือ “ซู” คือ ประธานกลุ่มเยาวชน อีกภาคหนึ่งเขาคือ ช่างไฟฟ้าประจำ อบต. เล่าว่าการจัดตั้ง “กลุ่มเบอยิวา เยาวชนจิตอาสา” นี้ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่ออยากพัฒนาชุมชน เยาวชนที่ว่างงาน ติดยาให้มีงานทำ เยาวชนที่ไม่ได้ศึกษาต่อก็อยากให้ห่างจากยาเสพติด เนื่องจากที่นี่ปัญหายาเสพติดมันหนักมากในชุมชน จึงทำให้มีเรื่องลักเล็กขโมยน้อยตามมาด้วย”

สมาชิกในกลุ่มเบอยีวามีประมาณ 40 คน ตั้งแต่คนหนุ่มจนกระทั่งน้อง ๆ ชั้นประถมศึกษา ก็จะเข้าร่วมกลุ่ม อาทิตย์หนึ่งจะมีการประชุมกัน 1 ครั้งที่มัสยิดบ้านกา โดยกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้จะพยายามเป็นต้นแบบให้กับเยาวชนในพื้นที่หมู่อื่นๆต่อไป ตอนนี้กลุ่มเบอยีวาแยกเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ กลุ่มทำน้ำยาล้างจาน กลุ่มเพาะเห็ด และกลุ่มเลี้ยงปลาดุก และกำลังขยายไปสู่กลุ่มทำเฟอร์นิเจอร์ โดยมีวิทยากรในพื้นที่บ้างนอกพื้นที่บ้างมาฝึกอบรม

นอกจากนี้น้องๆ ยังบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชนด้วยการช่วยกันถางหญ้าทำความสะอาดสองข้างถนน พร้อมปลูกตะไคร้ พัฒนามัสยิดเดือนละครั้ง เป็นหัวเรียวแรงช่วยจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา เรียกได้ว่าใช้พลังคนหนุ่มให้เกิดประโยชน์

ที่นี่มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน 13 ชุมชน 1,425 ครัวเรือน 6,929 คนของมะนังดำลำ นับถือศาสนาอิสลาม 100 เปอร์เซ็นต์ และใช้ภาษามลายูสนทนาในชีวิตประจำวัน จึงไม่แปลกที่กลุ่มเบอยิวา เยาวชนจิตอาสา จะยึดหลักคำสอนของท่านนบี มุฮัมหมัด มาเป็นหัวใจในการทำงาน ได้แก่การมีจิตสาธารณะ การอุทิศตนเพื่อทำเรื่องดีงาม สร้างสรรค์โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ต้องเป็น‘ผู้ให้’ มิใช่เป็นเพียง ‘ผู้รับ’

แม้ว่ากลุ่มเบอยีวา จะเป็นเพียงกลุ่มเยาวชน แต่พวกเขาก็ได้มีการจัดการดูแลช่วยเหลือกัน และทำกันอย่างจริงจัง ซึ่งกลุ่มนี้ได้มีการต่อยอด โดยจัดตั้งกลุ่มกองทุนกลุ่มสมาชิก “โดยในกลุ่มจะมีการเก็บเงินสวัสดิการ วันละ 1 บาททุกคน ซึ่งจะถูกนำมาสมทบกับกำไรจากการจำหน่ายผลผลิต สะสมเป็นทุนในการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนเป็นทุนสำรองให้สมาชิกรุ่นต่อๆ ไป รายได้ที่เข้ามามีทั้งจากกลุ่มเพาะเห็ด โดยสมาชิกกลุ่มจะไปส่งตามร้านอาหารในพื้นที่ ส่วนหนึ่งนำไปขายที่ตลาด ขณะที่กลุ่มเลี้ยงปลาดุกเองก็จะมีคนมารับซื้อถึงที่โดยรายได้จะแบ่งกันในแต่ละกลุ่มอาชีพ อีกส่วนเข้าสมทบกองทุนของกลุ่มเพื่อบริหารจัดการสวัสดิการ

ใครไม่สบาย นอนโรงพยาบาล จะให้ไปเลยคืนละ 200 บาทไม่เกิน 3 คืน ถ้าเสียชีวิตให้คนละ 2,000 บาทกับสมาชิกในกลุ่ม” อาราซู สายอ เล่าถึงการบริหารจัดการในกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน อีกทั้งพวกเขายังให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาจิตใจด้วย

ถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินจำนวนไม่มาก แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ เหล่านี้ ก็ทำให้เด็กๆ รู้ค่าของเงินและรู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ไม่ให้เงินทองรั่วไหล นอกจากการฝึกบริหารกระเป๋าสตางค์แล้ว แกนนำกลุ่มเบอยิวายังจัดหลักสูตรบริหารใจ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนรู้จักดำเนินชีวิตตามหลักวิถีศรัทธาในบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า

อาราซู สายอ ยังบอกอีกว่า “ที่นี่ได้มีการจัดอบรมจริยธรรมเดือนละครั้ง มีการบรรยายธรรมที่มัสยิด สมาชิกจะมาเข้าค่ายที่มัสยิดเดือนละ1วันตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อทำการปฏิบัติศาสนากิจร่วมกัน”

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักฝึกปฎิบัติทักษะชีวิตที่สอดคล้องบนหลัก‘อากีดะห์’ และ ‘อีบาดะห์’ ตามหลักศาสนาอิสลาม เช่นการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การเสียสละต่อส่วนรวมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

มูฮำหมัด เจะแวมาดู หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเบอยีวา เปิดเผยว่าเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เลิกยาเสพติดมาได้หนึ่งปีแล้ว “ก่อนนี้จะอยู่กับเพื่อนที่ต้มใบกระท่อม เมื่อก่อนว่างงาน ไม่ได้ทำอะไรแต่ตอนนี้ไม่มีอะไรแบบนั้นแล้ว มีการสัญญาลูกผู้ชายกันว่า “เมื่อมึงเลิกได้ ทำไมกูจะเลิกไม่ได้” ตอนนี้อยากมีอาชีพจะได้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง”

การยอมรับของสังคมนี่เองที่ทำให้เด็กหนุ่มเกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ความรู้สึกเดียวกันนี้กำลังถูกส่งต่อไปถึงเพื่อนๆในกลุ่ม น่าดีใจที่วันนี้กลุ่มเบอยีวาแห่งบ้านกาแระ ได้กลายเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนๆในหมู่ 3 ก่อเกิดกลุ่มฝึกอาชีพเยาวชนทำวงกบประตู-หน้าต่างขึ้น แม้จะเพิ่งเริ่มต้นก้าวแรก

ตุลาคม พ.ศ.2554 ผู้บริหารแกนนำชุมชน อบต.มะนังดำลำ และกลุ่มเยาวชนเบอยิวา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนสู่ตำบลสุขภาวะ ที่เทศบาลตำบลปริกอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้จุดประกายให้กลุ่มเบอยิวาไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสภาเด็กและเยาวชนกับอบต.มะนังดาลำอย่างเป็นทางการโดยภารกิจหลักคือ สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเครือข่ายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่มเบอยิวาเยาวชนจิตอาสา อบต.มะนังดาลำ เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพ เรียกได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนพื้นที่อื่นๆ ได้ดำเนินรอยตาม

ปัจจุบันกลุ่มเบอยิวา จะประชุมกันทุกวันอังคารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ กัน สมาชิกกลุ่มเบอยิวาหลายคนในอดีตเคยมีปัญหาติดยาเสพติด ครอบครัวแตกแยกแต่สิ่งที่ตามมาหลังการเข้ากลุ่มคือการยอมรับของสังคมชีวิตจึงเริ่มถอยห่างจากมุมมืดออกสู่แสงสว่าง

“เราอยู่หมู่บ้านเดียวกันอยากให้สามัคคีกัน เราอยากให้โอกาสทุกคนเข้ามาร่วมกลุ่ม หลายคนมีความสุข เราก็สบายใจ” อาราซู กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code