เสียงคนบนแผ่นดินเมืองเลย

ที่มา  : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เสียงคนบนแผ่นดินเมืองเลย thaihealth


ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ที่จังหวัดเลย ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นทุกวัน เพราะทุกตารางนิ้วของจังหวัดแห่งนี้มีสินแร่อยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก ทั้งแร่ทองคำ ทองแดงและเหล็ก และในห้วงระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอยื่นประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่หลายบริษัท หลายแห่งได้รับประทานบัตรแล้ว หลายแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการและเช่นกันหลายแห่งก็ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แล้วเช่นกัน


หลายผลกระทบที่เกิดขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีทั้งจำยอมรับมันและบางพื้นที่ลุกขึ้นสู้ สู้ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีทางชนะ แต่ยอมสู้เพราะหากไม่สู้ก็ต้องตายและไม่ได้ตายแค่เฉพาะคนในห้วงอายุนี้แต่อาจจะต้องสะสมความตายไปจนถึงเจนเนอเรชั่นหน้า


การลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีชาวบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่ทองคำ และการยื่นขอประทานบัตรเพิ่มของเหมืองแร่เจ้าเดิม ทั้งปิดถนน ทำกำแพง การฟ้องศาล และอื่นๆ อีกมากมาย และแทนที่ชาวบ้านจะชนะ กลับถูกบริษัทฟ้องกลับคนละหลายร้อยล้านบาท ทั้งที่สินทรัพย์ที่พวกเขามีอยู่ มีเพียงที่ดินทำกินไม่กี่สิบไร่ แต่บริษัทยักษ์ใหญ่มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าพันล้าน


เสียงคนบนแผ่นดินเมืองเลย thaihealth


หลายครั้งที่พวกเขาตะโกนร้องบอกคนอื่นๆ ให้รับฟังแต่ดูเหมือนจะถูกเพิกเฉย เพราะ "ธุระไม่ใช่" ทำให้พวกเขาต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวมายาวนานและถูกหมายหัวจากผู้นำบ้านเมืองมาหลายยุคสมัย กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา พวกเขาได้มีโอกาสมาบอกเล่าในเวทีเสวนา "เสียงแผ่นดินเลย" ที่จัดโดยกลุ่มหน่อไม้หวานที่มี ปริพนธ์ วัฒนขำและ วัชราภรณ์ วัฒนขำสองสามีภรรยานักพัฒนาเจ้าของรางวัลแทนคุณแผ่นดิน ที่ลุกมาทำสิ่งดีๆ เพื่อบ้านเกิด โดยใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยงและเป็นสื่อกลางในการสื่อสารปัญหาจากคนในพื้นที่สู่คนภายนอก


ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ใน จ.เลย 3 คน ได้แก่ นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ จากบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย นางวิภาดา หงษาบ้านอุมุง ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย และนายชาลิน กรรแพงศรี ชาวบ้านห้วยม่วง ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย


แม่ไม้ หรือนางวิรอน บอกว่า ปัญหาเหมืองแร่ทองคำกับชาวบ้านวังสะพุงเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2549 ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาสอบถาม ทวงสิทธิ์ และคัดค้านตั้งแต่ปี 2550 เพราะผลกระทบจากปัญหาสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำ ในดิน


นายชาลิน บอกว่า ปัญหาเหมืองแร่ทองแดงที่อำเภอเมืองเลยนั้น มีการขอสำรวจไว้ตั้งแต่ปี 2549 และสิ้นสุดการสำรวจปี 2551 ในพื้นที่ 18,000 ไร่ ซึ่งชาวบ้านอยากให้มีการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และรวมตัวกันเพื่อขอมีส่วนร่วมในการสำรวจ การดำเนินการ โดยเฉพาะให้มีการประชาพิจารณ์จนกระทั่งโครงการเงียบๆ ไป ยังไม่มีการดำเนินการต่อ ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ ยังไม่ได้อนุญาตให้ประทานบัตร


เสียงคนบนแผ่นดินเมืองเลย thaihealth


ส่วนนางวิภาดา บอกว่า ปัญหาเหมืองแร่เหล็ก ที่อำเภอเชียงคานนั้นไม่ค่อยมีใครรับรู้เท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่คนรู้จักเชียงคานในนามเมืองท่องเที่ยวแต่ไม่รู้ว่าเลยไปไม่ไกลจากเมืองท่องเที่ยวมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเหมืองแร่ ทั้งๆ ที่หมู่บ้านอุมุงเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวด้านเกษตร มีการปลูกพืชผักส่งขาย โดยเฉพาะกล้วย แต่ปัญหาที่พบคือในน้ำมีสารเคมี ในดินมีสารเคมี จนชาวบ้านได้รับสารพิษไปมาก สารเคมีปนเปื้อนมาก ทุกวันนี้เดือดร้อนจากผลกระทบของเหมืองเหล็กทั้งเรื่องเสียง ฝุ่น สารเคมีปนเปื้อน และคุณภาพชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านแตกแยกกันเพราะคนที่ได้ทำงานกับเหมืองก็บอกเหมืองดี คนที่ไม่ได้ทำงานกับเหมืองก็บอกเหมืองส่งผลกระทบ


นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของพวกเขาแล้ว ยังมีความคับแค้นใจที่ไม่สามารถบอกเล่าให้ใครฟังได้ เพราะภาพลักษณ์เมืองเลยคือเมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม และเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็อยากมาเยือน ผลกระทบที่ชาวบ้านเหล่านี้ได้รับจึงเป็นเหมือนเสียงตะโกนที่ไม่มีใครได้ยิน หรือถึงแม้ได้ยินก็ไม่มีใครอยากรับฟัง


"ชาวบ้านที่ลุกมาต่อต้านไม่เอาเหมือง ถูกฟ้องศาลเรียกค่าเสียหาย แต่ละวันพวกเราต้องไปขึ้นศาล การงานไม่ได้ทำ เงินทองไม่ต้องหา ทุกวันนี้ชีวิตติดศาล ชาวบ้านแตกแยก ลูกเต้าลำบาก แต่เราก็ต้องสู้ เพราะหากไม่สู้วันนี้ก็ไม่รู้จะสู้ตอนไหน รู้ว่าอย่างไรก็ตายแต่เราตายแล้วจบก็ไม่เป็นไร แต่ยังมีอีกหลายชีวิตในครอบครัวที่สะสมสารเคมีและรอวันตาย เพราะในน้ำมีแต่สารพิษ ในดินมีแต่สารเคมีและตรวจเลือดพวกเราก็มีแต่สารพิษที่เราลุกขึ้นสู้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้คนทั้งจังหวัดเลย" แม่ไม้ตัวแทนจากเหมืองทองคำบอก


เช่นกันกับ นางวิภาดา ตัวแทนจากเหมืองเหล็กก็บอกเช่นกันว่า "เราบอกว่าเราเดือดร้อน แต่หน่วยงานภาครัฐกลับไม่ได้สนใจ เพราะคำสั่งอนุญาตให้ตั้งเหมืองคือคำสั่งมาจากส่วนกลาง หน่วยงานรัฐในพื้นที่ไม่มีอำนาจสั่งการอะไร เราอยากให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่มาตรวจสอบน้ำ ตรวจสอบดิน เช็กสารปนเปื้อน มาดูสารพิษในเลือดเราหน่อย มีไซยาไนด์ มีสารหนูไหม เพราะสารพิษเหล่านี้มันเป็นสารเคมีที่ใช้ในเหมืองแร่ และปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลลงมาจากเหมืองแต่ไม่มีหน่วยงานไหนมา" นางวิภาดา บอก


ในขณะที่พื้นที่เหมืองทองแดงในตัว อ.เมือง จ.เลย แม้จะยังไม่มีการขอประทานบัตรแต่ชาวบ้านก็เฝ้าระวังและติดตามศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเฝ้าระวัง "เราไม่อยากให้มีเหมืองในเมืองเลย เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมันเยอะ เมืองเลยเป็นเมืองท่องเที่ยว เราอยากจะให้เป็นเมืองสวยงาม ไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ป่าภูหินเหล็กไฟที่เขาจะทำเหมืองทองแดงคือต้นน้ำเลย คือชีวิตของคนเมืองเลย หากเราปล่อยให้เขามาเอาไปทำเหมืองแร่ พวกเราก็ตาย ชีวิตเราก็ไม่เหลือเราจะยอมแบบนั้นไหม"


เสียงคนบนแผ่นดินเมืองเลย thaihealth


ส่วนการที่มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมกับโครงการ "เสียงแผ่นดินเลย" ด้วยการนำเอาดินจาก 3 พื้นที่ปัญหามารวมกันและปั้นเป็นประติมากรรมรูปแบบต่างๆ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้ปั้นเอง ออกแบบเองมีการนำมาจัดแสดงให้คนในเมืองเลยและผู้ที่สนใจได้ชม โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการสปาร์คยู หรือ ปลุกใจเมืองอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พวกเขาต่างบอกว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้มีโอกาสสื่อสารกับคนข้างนอก ถึงแม้ว่าจะไม่มีหน่วยงานภาครัฐมารับฟัง หรือมารับรู้ปัญหา แต่อย่างน้อยการได้ออกมาจากพื้นที่ ได้มาบอกความทุกข์ของตนเองให้เพื่อนๆ ได้ฟัง ก็ดีใจที่สุดแล้ว เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาของชาวบ้านนาหนองบง ต้องต่อสู้ขึ้นโรงขึ้นศาล จนไม่ได้ออกไปไหน และการไปไหนก็จะถูกจับตามอง หลายคนอาจจะมองแบบเป็นมิตร แต่หลายคนอาจจะมีความรู้สึกแตกต่างออกไป แต่การได้มาพูด มาสื่อสาร มาบอกเล่าในวันนี้ ทั้งผ่านเสียงของตัวเอง และเสียงที่สื่อสะท้อนออกมาเป็นประติมากรรมดินเผา ทั้งหมดทั้งมวลมันคือเสียงคนเมืองเลย เสียงของแผ่นดินเมืองเลย ที่ทนทุกข์ทรมานมานานได้มีโอกาสบอกเล่า

Shares:
QR Code :
QR Code