เสวนาสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ภูมิอากาศ การลงทุนข้ามชาติ และจินตนาการสยามที่ยั่งยืนและเป็นธรรม" คือหัวข้ออันท้าทายของสมัชชาความมั่นคงทางอาหารปี 2559
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ได้จัดเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกัน หลังจากความมั่นคงทางอาหารไทยกำลังเกิดวิกฤต พื้นที่และแรงงานภาคเกษตรลดลงมากกว่า 50%
ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของไทยนั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรลดลงจากที่มีกว่า 81 ล้านไร่ ในปี 2549 ลดเหลือกว่า 41 ล้านไร่ในปี 2556 ที่ดินที่เกษตรกรเช่าทำกินเพิ่มขึ้นจากกว่า 23 ล้านไร่ ในปี 2551 มาเป็นกว่า 29 ล้านไร่ ในปี 2556 แรงงานภาคเกษตรลดลงจาก 67% เหลือ 39% ในปี 2556 แรงงานภาคเกษตรซึ่งเป็นผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 11% เกษตรกรมีหนี้สินครัวเรือนละกว่า 1 แสนบาท แต่ความสามารถใช้หนี้ลดลง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงโดยเฉพาะปัญหาดินเสื่อมสภาพกว่า 190 ล้านไร่ คิดเป็น 60% ของพื้นที่ประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีและการผูกขาดทางเมล็ดพันธุ์
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลเน้นเรื่องรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แม้จะมีการหยิบยกประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมเข้ามาด้วย แต่ก็ไม่ได้มุ่งพัฒนาทรัพยากรชีวภาพและส่งเสริมเกษตรกรระดับชุมชนอย่างยั่งยืน มีการใช้นวัตกรรมโดยหวังพึ่งพามหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ การลงทุนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งมีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม น่าห่วงว่านโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกินและการทำการเกษตรในพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมให้นักวิจัยต่างชาติเข้ามาศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรชีวภาพในไทย เช่น พืชผัก สมุนไพร จะเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามายึดเอาทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยได้
สอดคล้องกับ สมนึก จงมีวศิน ตัวแทนเครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก ที่ระบุว่า จากการสำรวจผลกระทบการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด เช่น ตาก เชียงราย มุกดาหาร สงขลา พบว่าจะใช้พื้นที่รวมกันทั้งหมดประมาณ 5 ล้านไร่ ให้เช่าที่ระยะยาว 50-99 ปี ซึ่งการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษมองข้ามวิถีชีวิตชุมชนและการเกษตรในพื้นที่ มีการยกเว้นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ในไทยและนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่เพราะรัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการคมนาคมและสาธารณูปโภคตามแนวชายแดน ซึ่งจะมีการจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทยเพราะค่าจ้างต่ำกว่า
"เมื่อคำนวณจากอัตราการส่งเสริมการลงทุนของไทยกับการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ที่กว่า 2.8 แสนล้านบาท/ปี มีการจ้างงาน 5.5 หมื่นคน/ปี สร้างรายได้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี เท่ากับรัฐขาดทุนถึง 25 เท่า ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้ที่ดินทำการเกษตรหายไปมาก มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทาเกษตรมากขึ้น"
สมนึก กล่าวธีระ วงษ์เจริญ ตัวแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอว่า หากรัฐบาลจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรแต่ละชุมชนสามารถสู้กับนายทุนต่างชาติได้ จะต้องให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์เพื่อการเกษตร จัดตั้งหน่วยงานรัฐมาดูแลโดยเฉพาะ สร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์การเกษตรแต่ละชุมชนทั้งระบบตั้งแต่เงินทุน การผลิต การแปรรูป การตลาดและส่งออก