เสริมเด็กปฐมวัย อ่านเขียนถูกต้อง
ความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัย (Reading and Writing Interest of Young Children) หมายถึง กิริยาท่าทางหรือการกระทำที่แสดงออกถึงความสนใจ ความต้องการ กระตือรือร้นที่จะอ่านและเขียนด้วยความเต็มใจ โดยไม่ได้ถูกบังคับหรือทำตามคำสั่ง พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจในการอ่านเขียน เช่น การหยิบหนังสือต่างๆมาเปิดดูรูปภาพ ข้อความและทำท่าอ่าน หยิบจับอุปกรณ์ดินสอ ปากกา สี กระดาษ มาขีดเขียนหรือวาดภาพ ขอให้ครูหรือเพื่อนช่วยเล่าเรื่องหรือเล่านิทานให้ฟัง หรือขอให้เพื่อนช่วยวาดภาพให้ดู พูดเล่าเรื่องตามหนังสือ ป้ายสัญลักษณ์ ข้อความตามลำพัง เป็นต้น
ความสำคัญของความสนใจในการอ่านและการเขียนของเด็กปฐมวัย
เด็กวัย 2–5 ปีถือเป็นวัยทองของภาษา พัฒนาการของพวกเขาจะเจริญงอกงามอย่างมาก ซึ่งถ้าเด็กวัยนี้ได้รับการส่ง เสริมอย่างถูกต้องและเพียงพอ จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว แต่มีเด็กจำนวนมากไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้จากบ้านและโรงเรียนเท่าที่ควร ทำให้เด็กขาดประสบการณ์ทางภาษา เด็กวัยนี้มักจะถูกมองว่ายังไม่มีความสามารถในการอ่านและการเขียน ทั้งที่ในความเป็นจริงการเรียนรู้ของเด็กเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องพัฒนามาพร้อมกับการเรียนรู้ภาษาพูด ไม่จำเป็นต้องพูดได้คล่องก่อน ถึงจะมาเรียนการอ่านและการเขียน
ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลหลายแห่งที่จัดประสบการณ์แบบเตรียมความพร้อม มักให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะการฟังและการพูดมาก แต่ค่อนข้างละเลยเรื่องตัวอักษรและเสียง บางแห่งไม่จัดประสบการณ์ให้เด็กได้อ่านเขียนเลย เด็กได้รับประสบ การณ์การอ่านการเขียนน้อยมาก แต่ในทางตรงข้ามโรงเรียนบางแห่งเห็นว่า เด็กควรเริ่มอ่านเขียนอย่างจริงจังในชั้นอนุบาล จึงจัดประสบการณ์แบบเน้นอ่านเขียนอย่างจริงจัง ฝึกให้เด็กจดจำตัวอักษร แจกลูกประสมคำเช่นเดียวกับการเรียนในระดับ ชั้นประถมศึกษา เด็กจึงถูกเร่งให้เรียนอย่างจริงจัง ทั้งที่เขาไม่มีความสนใจและครูนำแบบฝึกหัดพัฒนาทักษะทางภาษามาใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบเร่งให้อ่านเขียนแบบผิดวิธีดังกล่าว ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดและเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ภาษา ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กวัยนี้ควรเรียนรู้ภาษาจากกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก เช่น การเคลื่อนไหว การท่องคำคล้องจอง การร้องเพลง ฯลฯ
การเรียนอ่านเขียนเกิดจากการที่เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เด็กสนใจในชีวิตประจำวัน การตอบสนองที่ดีจากบุคคลอื่น การเสริมแรงจากผู้ใหญ่และควรเกิดจากความสนใจของเด็กเองไม่ใช่การถูกบังคับ ซึ่งผู้ใหญ่มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมสร้างแรงจูงใจให้เด็กสนใจจนสามารถอ่านเขียนได้ การส่งเสริมให้เด็กเกิดความสนใจในการอ่านเขียน จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความสนใจเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้คนเรามีความตั้งใจต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้บุคคลมีความสามารถทำกิจกรรมนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าสามารถสร้างความสนใจให้กับเด็กอย่างได้ผลแล้ว ก็จะทำให้เด็กตั้งใจฝึกทักษะนั้นๆได้อย่างจริงจัง ทั้งยังสามารถปฏิบัติกิจกรรมได้นาน มีความมั่นใจจนเกิดเป็นนิสัยขึ้นมา เด็กไม่ควรถูกบังคับให้อ่านก่อนที่จะเกิดความสนใจอย่างชัดเจน และในการเขียนเช่นเดียวกันก็ไม่ควรเริ่มสอนเขียนอย่างเป็นทางการในวัยอนุบาล
วิธีการที่จะช่วยส่งเสริมความสนใจในการอ่านและเขียนให้กับเด็กควรเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน และเมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียนอนุบาลก็เป็นหน้าที่ของครู โดยในส่วนของโรงเรียนควรจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมด้วยตนเอง ควรเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและมีความหมายต่อเด็ก เช่น ส่งเสริมให้เด็กได้พูดเกี่ยวกับตนเอง มีโอกาสได้ทำกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เช่น การหยิบจับสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ขีดเขียน กิจกรรมการอ่านนั้นสามารถทำได้ตลอดเวลา เช่น อ่านจากหนังสือ อ่านจากประสบการณ์การเดินทางบนท้องถนน อ่านจากป้ายโฆษณา ป้ายบอกสัญญาณจราจร อ่านจากคำบนถุงขนมต่างๆ ความรู้ของเด็กจะเพิ่มพูนขึ้นเมื่อเด็กได้รับโอกาสในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านร่วมกับผู้ใหญ่ และกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้อ่านตามลำพัง การอ่านกับเพื่อนเป็นคู่ เป็นกลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายร่วมกัน และสิ่งที่เด็กเขียนขึ้นเองนับได้ว่าเป็นการอ่านที่ดีที่สุดของเด็ก
ส่วนการเขียนเป็นการสื่อ สารแสดงความคิด ความรู้สึกออกมาอย่างมีความหมาย ดังนั้นการเขียนและการอ่านควรดำเนินไปพร้อมๆกัน เนื่องจากการเป็นนักเขียนที่ดีได้นั้นต้องอาศัยการอ่านที่แตกฉานในเรื่องนั้นๆ ส่วนการฝึกฝนให้เด็กเขียนหนังสือได้นั้นครูต้องตระหนักถึงการฝึกเขียน ที่อาศัยการลอกเลียนแบบ เน้นการฝึกกล้ามเนื้อมือเพื่อฝึกความสวยงามของลายมือนั้น จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากการฝึกเขียนที่ใช้ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกคิดและถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาษาสัญลักษณ์ก็คือตัวอักษร การฝึกอย่างเป็นธรรมชาติ ทำได้โดยให้เด็กได้ฟังมาก อ่านมากจนสามารถถ่ายทอดเองได้ และค่อยฝึกฝนความถูกต้องสวย งามภายหลัง
สภาพการณ์ของการสอนอ่านเขียนให้กับเด็กอนุบาลในปัจจุบันพบว่า ครูมักละเลยการสอนอ่านเขียน ถ้ามีการสอนอ่านเขียน มักสอนแบบเดียวกันกับระดับประถมศึกษา ซึ่งผิดจากธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของเด็ก การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนครูเป็นผู้มีบทบาทเสียส่วนใหญ่ให้เด็กมีส่วนร่วมเพียงบางส่วน การจัดกิจกรรมจะเน้นครูเป็นศูนย์กลาง ครูใช้การควบคุมมากกว่าการกระตุ้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการตอบสนองมากกว่าการริเริ่ม การปฏิสัมพันธ์กับเด็กมีน้อยเพราะครูไม่เข้าใจวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งที่กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้นั้น ควรให้เด็กมีส่วนร่วมหรือดำเนินกิจกรรมให้มากที่สุด
ครูเป็นเพียงผู้เตรียมเนื้อหาหรือประสบการณ์ให้เด็กค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ต้องกระตุ้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น จนเกิดความความสนใจในการอ่านเขียน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะทางภาษาในระดับสูงต่อไป พฤติกรรมความสนใจในการอ่านและการเขียน สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกให้เห็นถึงความสนใจ ตัวอย่างของพฤติกรรมความสนใจในการอ่าน เช่น การขอให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง อ่านหนังสือกับผู้ใหญ่ได้นานพอเหมาะกับวัย เปิดอ่านหนังสือตามลำพัง เปิดหนังสือและเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เลือกและนำหนังสือมาให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง พูดคุยแสดงความคิดเห็นต่อภาพสัญลักษณ์หรือตัวหนังสือขณะที่ผู้ใหญ่ถาม ส่วนพฤติกรรมความสนใจในการเขียน เช่น ทำกิจกรรมที่ใช้ดินสอ แสดงท่าทางเขียนหนังสือในการเล่นสมมติ ทำท่าเขียนหนังสือคัดลอกคำหรือข้อความโดยครูไม่ได้สั่ง นำผลงานที่ตนเขียนให้ผู้อื่นดูอย่างภาคภูมิใจ เขียนคำและข้อความอย่างคล่องแคล่วสนุกสนาน สนใจงานเขียนของผู้อื่น เป็นต้น
ที่มา: เว็บไซต์แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน อาจารย์ นิติธร ปิลวาสน์ ศึกษานิเทศก์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ