เสริมสร้างศักยภาพครูพี่เลี้ยงด้านโรคมะเร็ง

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


เสริมสร้างศักยภาพครูพี่เลี้ยงด้านโรคมะเร็ง thaihealth


แฟ้มภาพ


          กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดอบรม “เสริมสร้างศักยภาพครูพี่เลี้ยงสำหรับพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง” เพื่อส่งเสริมให้ทีมพยาบาลมะเร็งทั้งโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคและโรงพยาบาลแม่ข่าย 12 เขตสุขภาพ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


          วันนี้ (15 พฤษภาคม 2560) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต  นายแพทย์ณรงค์  อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคมะเร็งเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาและออกแบบระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคมะเร็งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุขให้มีขีดความสามารถพร้อมรองรับความท้าทายและบริบทที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนเสริมสร้างการพัฒนาเครือข่ายให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านโครงสร้างบุคลากรและคุณภาพบริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการภายในเวลาที่เหมาะสมและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายสาธารณสุขที่เน้นการพัฒนาระบบบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาประชาชนด้านโรคมะเร็ง ตามเป้าหมายการดำเนินงานที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) ลดอัตราตาย 2) ลดอัตราป่วย 3) ลดระยะเวลาการรอคอย 4) สถานบริการสุขภาพได้มาตรฐาน


          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคมะเร็ง และเพื่อส่งเสริมให้ทีมพยาบาลมะเร็งในส่วนของโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาคและโรงพยาบาลแม่ข่ายจาก 12 เขตสุขภาพ  จึงได้จัดอบรมหลักสูตร “การเสริมสร้างศักยภาพครูพี่เลี้ยงสำหรับพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง” ซึ่งมุ่งเสริมสร้างความรู้และหลักการในการดำเนินงานจัดทำหลักสูตรเพื่อการพัฒนาศักยภาพพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง ในเขตสุขภาพ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดำเนินการอบรมหลักสูตรในการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็งในพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการดำเนินงานและเป็นเครือข่ายการประสานงานที่มีความเข้มแข็งของเขตสุขภาพ เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคมะเร็งต่อไป


          ด้านนายแพทย์วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงการอบรมหลักสูตรดังกล่าวว่า จากการประเมินพบว่าพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงาน เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนจัดการกับข้อมูลตัวชี้วัดและมีระบบเครือข่ายข้อมูลในกลุ่มเขตบริการ ปัจจุบันการกระจายของพยาบาลผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็งในแต่ละเขตสุขภาพยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิและปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ตลอดจนการดูแลอย่างต่อเนื่องภายหลังการรักษา

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ