เสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนา `เด็กปฐมวัย`
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา
สสส.ได้ร่วมกับโครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย (COACT) สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและได้ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ 23 แห่งและมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวนหลายหมื่นแห่ง ทั่วประเทศเข้าถึงการพัฒนาเชิงระบบอย่างมีคุณภาพ
เนื่องจากการลงทุนในวัยเริ่มต้นของชีวิตนั่นคือ ปฐมวัย พัฒนาเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปสู่สถานศึกษาและชุมชน ซึ่งอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คนวัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงวัย เพิ่มขึ้นควบคู่กับการดูแลเด็กปฐมวัย ซึ่งจะเป็นวัยแรงงานในอนาคต ในขณะที่สังคมไทยเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนถือเป็นความท้าทายใหม่ๆ ทำให้ต้องมาทบทวน และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กให้ทันสมัยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ สสส.จะร่วมสนับสนุนข้อมูลวิชาการ โดยให้ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นเป็นฐาน รวมถึงสนับสนุนการสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดนโยบายที่ทันยุคทันสมัยและล้ำสมัยเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญต้องการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายปฐมวัยที่เข้มแข็ง สานพลังอย่างต่อเนื่อง
นางทองล้วน เรืองใส นักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลโนนสูงเปลือย จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อน เพราะครูเป็นต้นทางที่จะถ่ายทอดความรู้ สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อนำไปพัฒนาเด็กปฐมวัยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งได้นำแนวทางการพัฒนาโดยการเทียบระดับ (Benchmarking) กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นศูนย์เรียนรู้ซึ่งช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศมาใช้อบรมพัฒนาครูของเรา และพัฒนาให้ครูมีความสามารถในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
ขณะเดียวกัน ยังบูรณาการความร่วมมือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุขจังหวัดในด้านโภชนาการ ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนมาว่าเด็กที่ออกจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเข้าเรียนต่อในระบบการศึกษา เด็กมีพัฒนาการที่ดี โรงเรียนไม่ต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมหรือปรับพื้นฐาน ครูสามารถสอนวิชาการให้เด็กได้เลย
รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการ COACT กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยมี 5 ระบบคือ 1. ระบบการบริหารจัดการ 2. ระบบการจัดการ สิ่งแวดล้อม 3. ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4. ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก 5. ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน และเกิดผลลัพธ์ที่ตัวเด็กคือ ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งนักวิชาการมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้คณะอนุกรรมการฯ และภาคีเครือข่ายเกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกันและทำให้ทุกภาคส่วน "ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมเรียนรู้" จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบในพื้นที่ เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน