เสริมศักยภาพนักเรียนนายสิบ
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ Workpoint News
เสริมศักยภาพ'นักเรียนนายสิบ' หนุนเป็นผู้นำจัดการภัยพิบัติในชุมชนสร้างมิติใหม่วงการ'ตำรวจไทย'
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ตามโครงการ "การพัฒนาสมรรถนะนักเรียนนายสิบตำรวจเพื่อเป็นผู้เชื่อมประสานการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง" ที่บริเวณถนนคนเดินวัวลาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายนักเรียนนายสิบตำรวจ เป็นตัวแทนเชื่อมประสานการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติในระดับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
"พ.ต.ต.นันทวิทย์ เทียมบุญธง"ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนนายสิบตำรวจถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน ว่า โครงการนี้ถือเป็นภารกิจเชิงรุก ทั้งยังสอดคล้องกับกระบวนการปฏิรูปการศึกษาในระบบตำรวจ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ภารกิจของตำรวจมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน พื้นที่ภาคเหนือได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตำรวจชั้นประทวนเป็นตำรวจกลุ่มที่ประจำอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานและมีความคุ้นเคยกับชุมชน จึงมักจะได้รับการร้องขอจากหน่วยงานต่างๆ และคนในชุมชนในการเข้ามาร่วมจัดการภัยพิบัติเสมอ ซึ่งการจะจัดการภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยองค์ความรู้อย่างเป็นระบบมาจัดการเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ถูกต้องตั้งแต่การเตรียมการก่อนเกิดภัยพิบัติ การดำเนินการขณะเกิดภัยพิบัติและการจัดการภายหลังเกิดภัยพิบัติ
โดยนักเรียนนายสิบตำรวจที่ผ่านการพัฒนาสมรรถนะในโครงการนี้ จะมีความสามารถในการเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้รอบด้าน มีความรู้และวิธีการสื่อสารให้คนในชุมชนของตนเตรียมความพร้อมเมื่อก่อนเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งสามารถเป็นผู้ช่วยประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระดับชุมชนพื้นที่เกิดภัยพิบัติให้สามารถเข้าช่วยเหลือจัดการลดทอนความเสี่ยงขณะเกิดภัยพิบัติ และช่วยเหลือฟื้นฟูภายหลังการเกิดภัยพิบัติได้อย่างต่อเนื่อง โดยมี ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่1.ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง 2.ตำรวจภูธรจังหวัดน่าน 3.ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่4.ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ 5.ตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน 6.ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน 7.ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และ 8.ตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา
"นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก10) สสส.กล่าวถึงการให้การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายนักเรียนนายสิบตำรวจ เพื่อมาเชื่อมประสานการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังของชุมชนว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นภัยที่ใกล้ตัว อาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้และเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ดูแล้วน่ากลัว แต่ในความเป็นจริง หากชุมชนและเครือข่ายภาคประชาชนมีการเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดการภัยพิบัติ เราก็สามารถลดทอนความเสี่ยง และลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ สสส. เล็งเห็นว่า โครงการฯนี้ ให้ความสำคัญกับการจัดทำกระบวนการพัฒนาผู้เชื่อมประสาน (Chang agent) ผ่านกลุ่มนักเรียนนายสิบตำรวจที่มาฝึกอบรมกับศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชุมชนเป็นพื้นฐานในการจัดการภัยพิบัติ ตามแนวคิดหลักสากล คือ"รู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็ว อย่างยั่งยืน"ให้นักเรียนนายสิบตำรวจมีทักษะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ตลอดจนมีความคล่องตัวในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นผลดีที่สามารถจัดการภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
"อาจารย์ ดร.ปิยะพันธ์ นันตา"รองประธานโครงการฯ กล่าวถึงหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะพื้นฐานให้แก่นักเรียนนายสิบตำรวจประจำปีการศึกษา 2562 ให้มีความรู้ความเข้าใจและความตระหนักพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Management : DRM) ที่สอดคล้องกับบทบาทของนักเรียนนายสิบตำรวจเมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทั้งขณะออกฝึกงานและเมื่อสำเร็จการศึกษาว่า การสร้างนักเรียนนายสิบตำรวจให้เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง โดยจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการภัยพิบัติโดยการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ซึ่งมีการกำหนดการดำเนินการจัดการภัยพิบัติเป็นสามระบบสำคัญได้แก่การเตรียมการก่อนการเกิดภัยพิบัติ การดำเนินการขณะเกิดภัยพิบัติ และการจัดการภายหลังการเกิดภัยพิบัติ
โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับแนวคิดและการพัฒนาสมรรถนะในการดำเนินการทั้งสามระบบ นอกจากนี้ความรู้สำคัญที่ได้รับการพัฒนาพร้อมกันในโครงการ คือ การพัฒนาความเป็นผู้เชื่อมประสานเพื่อให้สามารถประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยผ่านการสร้างความไว้วางใจของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นกับตำรวจ การปลูกฝังตั้งแต่กลุ่มนักเรียนสิบตำรวจ นั้นหมายถึงเราได้สร้างนายตำรวจที่มีคุณลักษณะในการเปลี่ยนแปลงบริบทด้านจัดการภัยพิบัติ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างน้อยเท่าอายุราชการของเขาเลยทีเดียว
"พ.ต.อ.ไพศาล นันตา" รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดงานในวันนี้ว่า กิจกรรมรณรงค์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการในส่วนแรกคือการเตรียมการก่อนการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของการพัฒนาตำรวจชุมชนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยนักเรียนนายสิบตำรวจที่ผ่านการเรียนรู้จากโครงการจะนำความรู้ที่ได้รับการพัฒนามาใช้ในหลายส่วนอย่างวันนี้ก็นำมาใช้ในการจัดทำสื่อและการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนในพื้นที่เกิดความตระหนักและเตรียมการเพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไรการพัฒนาตำรวจให้มีสมรรถนะตามเป้าหมายของโครงการนี้จึงมีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาตำรวจให้เป็น ตำรวจชุมชน ทางตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่จึงได้ขอความร่วมมือจากทางโครงการเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันนี้ โดยหวังว่าจะเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาตำรวจชุมชนที่มีประสิทธิภาพ