เสริมพลังอาสาดูแลผู้สูงวัยในอนาคต
สังคมเริ่มเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุ สสส.หนุนชุมชนผนึกเครือข่าย รพ.สต.-ร.ร. สร้างระบบดูแลผู้สูงอายุ รับสังคมสูงวัย ต.กองควาย จ.น่าน โชว์ 5 จุดแข็ง "ผู้นำ-ความร่วมมือ-วัด-ประเมิน-สานต่อ" เสริมพลังอาสาสมัครดูแลผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าไม่เกิน 30 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงระหว่างผู้สูงอายุและวัยแรงงานสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผล กระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบสุขภาพ สสส. จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเตรียมพร้อมในประเด็นต่างๆ อาทิ สนับสนุนผู้สูงอายุให้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น พัฒนาพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลผู้สูงอายุ
"การดูแลผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ โดยเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นกระบวนการทำงานร่วมของผู้ใหญ่และเด็กซึ่งส่งผลต่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น" นางเพ็ญพรรณ กล่าว
นายเสถียร ธงเงิน ประธานผู้สูงอายุ ต.กองควาย อ.เมือง จ.น่าน ซึ่งเป็น "ต้นแบบของชุมชนน่าอยู่ด้านการดูแลผู้สูงอายุ" กล่าวว่า โครงการ "อาสาสมัครเยาว์วัยใส่ใจผู้สูงอายุ" หรือ อผส.น้อย มีจุดแข็ง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ผู้นำเข้มแข็ง คนในชุมชนมีจิตอาสา 2.ความร่วมมือระหว่างผู้สูงอายุ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กองควาย และโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โดยประสาน รพ.สต.กองควาย ขอความรู้ในการดูแลและขอรายชื่อ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใน 3 หมู่บ้านใกล้เคียงกับโรงเรียนรวม 13 คน แล้วออกดูแลผู้สูงอายุเดือนละ 2 ครั้ง
3.วัดเป็นศูนย์กลางการทำงาน 4.ประเมินโครงการโดยใช้แบบสำรวจ พบว่า คนในชุมชนเห็นด้วยกับโครงการ ครอบครัวนักเรียนยอมรับและสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการ และ 5.การสานต่อการดำเนินงานโดย อผส.น้อย พี่สอนน้อง ทำให้การดำเนินงานมีความยั่งยืน ซึ่งปีนี้จะขยายความร่วมกับสถานศึกษาอื่นๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้ครบทั้ง 12 หมู่บ้าน
โครงการนี้ แต่ละครั้งเด็กๆ 2-3 คน จะออกไปดูแลคนแก่ 1 คน โดยจะออกไปในเวลาหลังเลิกเรียน หรือ วันเสาร์ หรือ อาทิตย์ ซึ่งนักเรียนนจะไปด้วยความสมัครใจ มี จิตอาสา ในช่วงแรกๆ ที่ดำเนินการโครงการพบว่า แรกๆ ผู้ปกครองเด็กนักเรียนไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กๆ ต้องออกมาทำอย่างนี้ด้วย แต่เมื่อเด็กๆ ได้ออกมาช่วยเหลือและดูแลคนแก่ด้วยความสมัครใจ ทำให้คนแก่ที่ป่วย สดชื่น มีรอยยิ้ม ส่งผลให้เด็กๆ รู้สึกดีใจ และมีความสุข เพราะได้ทำความดี ทำให้ผู้ปกครองในครอบครัวเข้าใจว่า นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ ได้ทำความดี มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญจะไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ด.ญ.วลัยพร บัวชุ่ม ด.ญ.ยุพารัตน์ กองอิ่น และ ด.ญ.ช่อชมพู ดอนอินชัย สามนักเรียนตัวน้อย มีหน้าที่ที่ต้องไปดูแลคุณยายวัย 82 ปี ซึ่งป่วยเป็นเบาหวาน และโดนตัดขาไปข้างหนึ่งแล้ว ในทุกเย็นหลังเลิกเรียน เด็กทั้ง 3 คน จะไปวัดความดัน โดยมีเครื่องมือวัดความดันไปวัดให้ถึงบ้าน หลังจากนั้นก็นวดให้คุณยาย พร้อมกับชวนพูดคุย เพื่อให้คุณยายสบายใจและไม่เหงา
เด็กทั้ง 3 คน บอกว่า ทุกครั้งที่มาเยี่ยมคุณยายรู้สึกว่าตัวเองได้ทำอะไรที่มีคุณค่ามาก และมีความสุขมากเมื่อเห็นคุณยายยิ้ม และพูดคุยได้อย่างร่าเริง เมื่อมาถึงก็จะวัดความดัน บางวันก็ช่วยเช็ดตัวให้คุณยาย หลังจากนั้นก็บีบนวดให้ตามร่างกาย หรือในจุดที่ คุณยายปวดเมื่อย
"พวกหนูรู้สึกว่า การได้มาทำอย่างนี้ดีมากเลย ทำให้หนูได้คุยกับคุณยาย แล้วก็ช่วยให้คุณยายยิ้ม ช่วยนวดให้คุณยายดีขึ้น ดีใจมากค่ะที่ได้ทำความดี รู้สึกภูมิใจ" เด็กๆ ทั้ง 3 คน กล่าว
ขณะที่ ด.ญ.ณัฐธิดา แสงแก้ว หรือน้องออย อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วยเช่นกัน เล่าเสริมว่า เข้าร่วมโครงการเพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จากปกติใช้เวลาวันหยุดเล่นเกม ก็เปลี่ยนเป็นดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งการ ลงเยี่ยมจะแบ่งกลุ่ม อผส.น้อย 3 คน และอาสาสมัครผู้สูงอายุ 2 คน ไปดูแลผู้ป่วยสูงอายุ โดยช่วยบีบนวด ป้อนยา ป้อนอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ครอบครัวภาคภูมิใจ และ ทุกวันนี้แม้จะเรียนจบและไปเรียนต่อโรงเรียนใหม่แล้ว ก็ยังเข้าร่วมโครงการ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่รุ่นน้องต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต