เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวนิวส์พลัส


เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม thaihealth


ทิศทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมสมัยใหม่ มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วย "ผู้นำเดี่ยว (Heroic leadership)" สู่ "การทำงานร่วม (Collective leadership)" ซึ่งเป็นการทำงานโดยอาศัยปัญญาร่วมของกลุ่ม ทักษะ ความสามารถ ความถนัดของแต่ละบุคคล ประกอบกับ "ทักษะของการบริหารความสัมพันธ์" เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ บนฐานของความเข้าใจ ใส่ใจ และมีความสุขร่วม (Collective happiness) กัน


โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงการหล่อเลี้ยงพลัง และเปิดมุมมองแห่งการเรียนรู้ในด้านนี้แก่แกนนำภาคีภาคประชาสังคม (NGOs) มาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 5 ปี และในปีนี้ได้ขยายผลไปสู่ทีมงาน เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งการทำงานในด้าน "ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งจากภายใน" โดยกิจกรรมที่พึ่งผ่านมาเป็นการจัดให้กับตัวแทนคนทำงานจากสมาคมพังงาแห่งความสุข สงขลาฟอรั่ม และภาคีจากจังหวัดสงขลา ณ โรงแรมภูงา จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2562


คุณณัฐฬส วังวิญญู วิทยากรจากสถาบันสู่ขวัญแผ่นดิน ได้อธิบายถึงเป้าหมายในการจัดกระบวนการครั้งนี้ว่า "ในการจัดผลและทีมมีเป้าหมายต้องการให้คนทำงานได้ไคร่ครวญกับตัวเองว่า สภาวะภายใน ณ ปัจจุบันของตนเป็นอย่างไร และจะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้มีความสุขและมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพราะสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมที่มีความหมาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่ดี"


เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม thaihealth


กิจกรรมที่เกิดขึ้นใน 3 วัน ถูกออกแบบร้อยเรียงมาให้เกิดการทำงานกับตัวเองในด้านต่าง ๆ เริ่มด้วย "การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)" รับฟังด้วยความตั้งใจ เคารพและห้อยแขวนการตัดสิน เพื่อให้สามารถรับรู้ได้ถึงเนื้อหา ความรู้สึก และคุณค่าเบื้องลึกที่ผู้สื่อสารต้องการจะบอกเล่า "สัตว์ 4 ทิศ" เรียนรู้แรงขับเคลื่อนภายในที่ส่งผลให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เพื่อให้รู้จักและเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นมากขึ้น "ลงพื้นที่งานวัฒนธรรมนอนหาดของชาวมอแกลน ณ หาดทรายแก้ว จังหวัดภูเก็ต" การได้ลองปะทะกับสิ่งที่แตกต่าง แล้วสังเกตความรู้สึกและความคิดของตนเองที่เกิดขึ้น


เมื่อทำงานกับตนเองผ่านการรับฟังเสียงจากภายในที่แท้จริงและเรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่นแล้ว จึงขยับมาสู่การสังเกตแรงขับเคลื่อนในการทำงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่อง "การพัฒนาตนเองแบบองค์รวม" สังเกตสภาวะ ณ ปัจจุบันขณะของตัวเอง ทั้งในด้านจิตใจ ความแข็งแรงของร่างกาย ความยืดหยุ่น และเงามืดที่เป็นแรงขับ ฯลฯ "Integral Model" ตรวจสอบแรงขับเคลื่อนในการทำงานว่ามาจากส่วนไหนมากน้อยเพียงใดระหว่าง ตนเอง วัฒนธรรม ระบบ และผลลัพธ์ "บันได 5 ขั้น สู่ความสำเร็จ" สะท้อนการทำงาน 2 แบบ คือแบบปกติ (Normal Mode) และแบบปกป้อง (Defensive Mode) ซึ่งในแบบปกติจะเป็นการทำงานด้วยความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ ผูกพัน เกิดเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีความหมาย แต่ในแบบปกป้องที่ตรงกันข้ามจะเป็นการก้าวไปสู่การทำงานร่วมที่ล้มเหลว


กระบวนการเรียนรู้สุดท้ายที่เกิดขึ้น คือ "8 Acts" ทีมกระบวนกรได้แสดงละคร 8 ฉาก สะท้อนให้เห็นถึงบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานจริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ใคร่ครวญสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดจากในเวทีและประสบการณ์ตรงที่เคยเกิดขึ้น ความโดดเด่นของกระบวนการทั้งหมด คือ การที่ผู้เข้าร่วมได้ก้าวออกจากโหมดปกป้องตนเองมาสู่พื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้คนทำงานจากองค์กรเดียวกันและต่างองค์กรได้เปิดใจสะท้อนคิด (Reflection) และเรียนรู้ (Learning) ร่วมกัน


เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม thaihealth


คุณไมตรี จงไกรจักร แกนนำภาคประชาสังคมสมาคมพังงาแห่งความสุข สะท้อนถึงความสำคัญของการนำร่วมว่า "พี่เชื่ออย่างสุจริตใจว่าการทำงานไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีเป้าหมายร่วม มีความสัมพันธ์อันดี และทำงานเป็นทีม โดยนำต้นทุนที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด การนำร่วมเป็นการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ได้จริง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสร้างผู้นำเดี่ยวจะไม่มีทางไปต่อได้ ดังนั้นแล้วพี่จึงส่งคนทำงานที่อาจไม่ใช่ผู้นำแถวหน้ามาเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพที่ทัดเทียม เพราะในระยะยาวคนกลุ่มนี้จะขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานต่อไป"


เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม thaihealth


ในส่วนของผู้นำรุ่นเล็ก คุณอภิศักดิ์ ทัศนี จากสงขลาฟอรั่ม ได้สะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้ตลอด 3 วันว่า "ประทับใจทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นในงาน ทุกเครื่องมือเป็นการทำงานกับตัวเอง เหมือนเป็นกระจกส่องเข้าไปให้เราเห็นและเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกของตัวเอง รวมถึงได้เข้าใจผู้อื่นอย่างที่เขาเป็นจริง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่จากสิ่งที่เราคิดว่าเขาเป็นหรือไปตัดสินเขา"

Shares:
QR Code :
QR Code