เสริมทักษะขับขี่ปลอดภัย ปลูกฝังจิตสำนึกถนนสีขาว

ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ถือเป็นห่วงเวลาที่คร่าชีวิตคนไทยจากอุบัติเหตุในการเดินทางมากที่สุด โดยยอด 6 วันอันตรายจนถึงวันที่ 4 ม.ค.2559 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวน 340 ราย บาดเจ็บ 3,216 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากเมาสุราเป็นสาเหตุหลัก


เสริมทักษะขับขี่ปลอดภัย ปลูกฝังจิตสำนึกถนนสีขาว thaihealth


ปัญหาเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อให้ยอดการสูญเสียลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ต้องเริ่มปลูกฝังค่านิยมเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนตั้งแต่ในห้องเรียนให้เกิดขึ้นให้ได้


ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าในแต่ละปีมีเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2,500 ราย และอีกเกือบ 200 คนได้รับบาดเจ็บหรือพิการต่อวัน หรือ 72,000 คนต่อปี โดยเด็กที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงสุด เนื่องจากไม่สวมหมวกนิรภัย แม้ว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้ก็ตาม


ด้วยสถานการณ์อุบัติเหตุที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมการขนส่งทางบก กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิเพื่อนโยบายถนนปลอดภัย


ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ "การจัดการความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน-ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 “ครึ่งทางทศวรรษฯ กับการจัดการที่เข้มแข็ง” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


เสริมทักษะขับขี่ปลอดภัย ปลูกฝังจิตสำนึกถนนสีขาว thaihealthดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เผยว่าเด็กอาชีวะถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการขับขี่เดินทางมาโรงเรียน ซึ่งจากข้อมูลกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงและในสังคมไทยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์พบว่า มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมชนบท


ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจะขยายผลในการขับเคลื่อนปัญหาการดูแลความปลอดภัยทางถนนแก่เด็กต้องเป็นเรื่องของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยจัดฝึกอบรมการขับขี่ปลอดภัยแก่นักเรียนและเยาวชนในสถานศึกษา สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนและวินัยจราจรในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงด้านความปลอดภัยทางถนนแก่เด็ก


ทั้งนี้ การให้ความรู้ในประเด็นความปลอดภัยทางถนนกับนักเรียน ผู้ปกครองผู้เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างแท้จริง โดยผู้ที่ใกล้ชิดนักเรียนและชุมชนที่สุดคือ โรงเรียนแต่ที่ผ่านมาพบว่า ทางโรงเรียนไม่สามารถจัดสรรเวลาสำหรับการเรียนการสอน หรือการทำกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนได้ เนื่องจากต้องเน้นการเรียนการสอนวิชาการเป็นหลัก จึงเกิดการประกาศนโยบาย “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ขึ้น


โดย อาจารย์จิตรา สิริภูบาล นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เผยว่า นโยบาย “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้”หมายถึงในห้องเรียนเรายังเรียนกันเหมือนเดิม ใช้เวลาเรียนปกติเหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่การเพิ่มเวลารู้ เราสนับสนุนให้นักเรียนมีส่วนช่วยในการคิด ให้คุณครูเป็นผู้กระตุ้นความคิดของนักเรียน เป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือเบื้องต้นในการทำกิจกรรมเสริมที่มีประโยชน์และมีความสุขโดยเน้นไปที่กิจกรรมทักษะชีวิต จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการสนับสนุนให้สถานศึกษาใช้เวลาว่างในการให้ความรู้หรือจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตและเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับแรกของเด็กและเยาวชน


ด้านอีกหนึ่ง ตัวแทนจากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. อาจารย์สันติสุข สันติศาสนสุข นักวิชาการศึกษา กล่าวว่า การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนสามารถป้องกันได้ มีเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหา ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยทางถนนแก่เด็ก ควบคู่กับการสนับสนุนให้จัดหาอุปกรณ์นิรภัยที่เหมาะสำหรับเด็ก อาทิ ที่นั่งนิรภัย หมวกนิรภัย โดยการจะสร้างความปลอดภัยทางถนนสามารถป้องกันในเด็กได้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน


อาทิ โครงการ Car seat for kids ของ โรงเรียนอนุบาลทานตะวัน ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี จัดทำกิจกรรม โรงเรียนต้นแบบที่นั่งนิรภัย (car seat) สำหรับเด็กขึ้น ผ่านการรณรงค์ให้ความรู้คุณครู ผู้ปกครอง และจัดการให้เกิดช่องทางการเข้าถึงคาร์ซีตให้ง่ายขึ้น โดยมีการวิจัยยืนยันว่าการใช้ที่นั่งเสริมสำหรับเด็กวัยนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 59


หรือจะเป็นโครงการ THE 7% PROJECT โดย Save the Children องค์การช่วยเหลือเด็กที่ได้ริเริ่มกิจกรรมขึ้นรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ ด้วยการเพิ่มสวมหมวกนิรภัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นไทย เนื่องจากการเดินทางจากบ้านไป-กลับโรงเรียนคือเส้นทางหลักสำหรับครอบครัว และมอเตอร์ไซค์ คือ ยานพาหนะหลักที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้รับ-ส่งบุตรหลานแต่ละวัน ซึ่งในจำนวนเด็กที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์นั้น มีเพียง 7% ที่สวมหมวกกันน็อก


ทั้งนี้ ในปีแรกได้ริเริ่มโครงการนำร่องใน 6 โรงเรียนระดับประถมศึกษา โดยให้คุณครูและนักเรียนที่สวมหมวกนิรภัยเป็นประจำมาเป็นผู้นำในการชักชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองและคนอื่นๆ ในชุมชน ให้หันมาใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เชื่อว่าความสำเร็จจากโครงการดังกล่าวนี้จะได้รับการถ่ายทอดขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไปทั่วประเทศได้


อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัย.


 


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


 

Shares:
QR Code :
QR Code