เสริมความรู้และทักษะชีวิต ผ่านกิจกรรมลูกเสือ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
"…หนูตื่นมากลางดึก แล้วตะโกนบอกเพื่อนๆ ว่าไฟไหม้ จากนั้นจำได้ว่าเคยเรียนวิชาผูกเงื่อนจากวิชาลูกเสือ- เนตรนารี จึงใช้ผ้าขาวม้าผูกต่อกันเป็นเชือก แล้วช่วยลำเลียงเพื่อนลงมาทางหน้าต่างชั้น 2 ทำให้ตัวเองและเพื่อนๆ รอดตายหลายชีวิต…"
เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ "รอดตาย"จากเหตุเพลิงไหม้หอพักนักเรียนหญิงโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย ซึ่งมีเด็กนักเรียนเสียชีวิตคากองเพลิงถึง 17 ราย เล่าให้ฟังถึง "นาทีชีวิต" ระหว่างประสบเหตุครั้งนั้น คำบอกเล่า…บ่งชี้ให้เห็นว่าวิชา "ลูกเสือ-เนตรนารี"สามารถช่วยชีวิตเด็กได้เช่นกัน เพียงแต่เด็กไทยอีกมากยังขาดความรู้และทักษะในการนำมาใช้เพื่อเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน อุบัติเหตุ และอุบัติภัย ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น เรื่อยๆ ดังนั้นการ "ฝึกทักษะ" วิชาลูกเสือ-เนตรนารี เพื่อให้เด็ก "ทำเป็น" และเอาตัวรอดได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจ "มองข้าม" "ลูกเสือและเนตรนารีเป็นวิชาสำคัญ และจะมีประโยชน์มากถ้าผู้เรียนนำมาประยุกต์และเอาไปใช้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เช่น น้องนักเรียนที่มีสติ นำวิชาความรู้เรื่องการผูกเงื่อนช่วยเพื่อนจากเหตุเพลิงไหม้"
เมธี ชราศรี วัย 31 ปี ครูสอนวิชาลูกเสือและเนตรนารี โรงเรียนปากเกร็ด จ.นนทบุรี กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรม "เรียนรู้ทักษะชีวิต ผ่านกิจกรรมลูกเสือแบบใหม่" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ(สสส.), สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อฝึกให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านคู่มือกิจกรรม ลูกเสือ ที่เตรียมขยายผลใช้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ
เมธี กล่าวด้วยว่า เนื้อหาวิชาลูกเสือฯเป็น "ทักษะพื้นฐาน" ที่คนทั่วๆไปควรรู้และเข้าใจ เพราะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และยังมี "ทักษะเอาชีวิตรอด"หรือช่วยชีวิตผู้อื่นในสถานการณ์ "เสี่ยง" อีกด้วย เช่น การใช้เชือก "ผูกเงื่อน" การเรียนรู้ "วิชาสูทกรรม" ว่าด้วยการหาอาหารมายังชีพ การปรุงอาหาร เพื่อเอาตัวรอดเมื่อ "หลงป่า" เป็นต้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในป่าที่ "เด็กเมือง" อาจไม่เคยสัมผัส ด้าน "ปิ่นทิพย์ ทอนเกาะ" ผู้อำนวยการโรงเรียนสามัคคีรถไฟ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า วิชาลูกเสือฯจะสอนให้เด็กเกิดทักษะชีวิต เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยที่โรงเรียนสามัคคีรถไฟ จะนำคู่มือ "ลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต" มาสอนในวิชาลูกเสือฯเหมือนโรงเรียนอื่นๆ แต่เพิ่มเติมเรื่องแผน หรือการ "จำลองเหตุการณ์" เข้าไป เพื่อให้เด็กได้วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาต่างๆที่ต้องเผชิญได้อย่างตรงจุด
"เช่น กรณีเพลิงไหม้ ทักษะในวิชาลูกเสือฯ คือ เมื่อเด็กเห็นควันไฟต้องหมอบลงติดพื้น เพราะควันไฟจะลอยอยู่ในอากาศ จากนั้นให้รีบหาถุงต่างๆมาเป่าให้มี อากาศ จากนั้นเอามาครอบศีรษะ เพื่อให้หายใจได้โดยไม่สำลัก ควันเข้าปอด นอกจากนี้ที่โรงเรียนได้ทำสัญลักษณ์เป็นปักธงสี ต่างๆปักไว้ เพื่อชี้นำไปยังไปยังทางออก ซึ่งจากที่เราได้ ทดสอบหลังสอนทักษะนี้ให้เด็กแล้ว พบว่า เด็กทุกคนมีทักษะเอาตัวรอดจากเหตุอัคคีภัยได้" ปิ่นทิพย์ กล่าว
ขณะที่ ด.ช.ชยานนท์ ทะยอมใหม่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสามัคคีรถไฟ กล่าวว่า หลังจากที่เรียนวิชาลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตแล้ว สามารถนำมาใช้ป้องกันตัว และช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย เช่น การผูก "เงื่อนเป็นเงื่อนตาย" สามารถนำไปใช้ช่วยคนตกน้ำได้ หรือช่วยคนถูกงูกัด โดยการนำเชือกมามัดเหนือแผลแทนวิธี "ขันชะเนาะ" ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดเนื้อตาย จนอาจต้องตัดอวัยวะนั้นทิ้งได้
"หรือการเอาตัวรอดจากเพลิงไหม้ ที่โรงเรียนมีการฝึกซ้อมหนีไฟอยู่แล้ว ซึ่งทักษะวิชาลูกเสือฯที่ได้ คือ เมื่อเกิดเพลิงไหม้จริงๆให้เราหมอบต่ำอยู่กับพื้น เพราะพื้นจะมีอากาศ ส่วนข้างบนจะมีแต่ควันไฟที่อาจทำให้เราสำลักได้" ลูกเสือชยานนท์ กล่าว
ด้าน สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า ทักษะชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา คิดสร้างสรรค์ สื่อสารเป็นรู้จักปรับตัวในอนาคต และทำงานร่วมกันเป็นทีม ในหลายประเทศทั่วโลกได้มุ่งสร้างทักษะพื้นฐานเหล่านี้ โดยสอดแทรกอยู่ในการเรียนการสอนในสถาน สร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน เรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านวิชาลูกเสือ ซึ่งเน้นการลงมือทำและฝึกปฏิบัติ จึงเป็นชั่วโมงของการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีตัวอย่างการสอนลูกเสือเพื่อสร้างทักษะชีวิตในต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา มีการสอนทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จน "ลูกเสือ" เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ
"สสส.จึงร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสมาคมวางแผนครอบครัวฯ ออกแบบคู่มือการเรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านกิจกรรมลูกเสือ โดยออกแบบการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย และดึงสถานการณ์ปัจจุบันเข้ามาอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้เป็นเรื่องใกล้ตัวกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการติดอาวุธทางทักษะชีวิตให้เด็กตั้งแต่ต้น รวมถึงสร้างความเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมด้วย" ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ส่วน กาญจนา กาญจนสินิทธ์ นายกสมาคมวางแผนครอบครัวฯ กล่าวว่า คู่มือการเรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านกิจกรรมลูกเสือได้ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง 26 แห่ง พร้อมกับประเมินผลแล้ว พบว่า นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในเด็กเล็กจะพบความเสี่ยง จากการถูก "ล่อลวง" จึงมีกิจกรรม "ภัยใกล้ตัว" โดยให้เด็ก แสดงบทบาทสมมุติ เมื่อมีคนมาชวนขึ้นรถตู้เพื่อฝึกคิดวิเคราะห์ และการปฏิเสธ หรือกิจกรรม "นาทีชีวิต" ด้วยการช่วยเหลือ ตัวเองจากอุบัติภัยทางน้ำและวิธีป้องกัน เป็นต้น
ขณะที่ การุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เห็นความสำคัญต่อการสร้างทักษะชีวิต จึงเพิ่มกิจกรรมเสริมผ่านการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งลูกเสือถือเป็นวิชาที่ช่วยสร้างทักษะชีวิต ดังเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ จ.เชียงราย ที่นักเรียนใช้วิธีผูกเงื่อนช่วยชีวิตคนไว้ได้ เมื่อมีคู่มือเรียนรู้ทักษะชีวิตในวิชาลูกเสือจะทำให้การเรียนรู้ เข้มขึ้น เพื่อขยายผลต่อไป
"ลูกเสือ-เนตรนารี"…วิชาที่หลายๆคนอาจมองข้าม และ "หลงลืม" ทั้งๆ ที่ถ้ารู้จักฝึกฝนอาจช่วยให้เอาตัวรอดในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้ และไม่จำเป็นว่า ต้องเรียนเฉพาะจากในโรงเรียนเท่านั้น เพราะ "ทักษะชีวิต" เหล่านี้ เรียนรู้และศึกษาได้จากสื่อต่างๆ ขึ้นอยู่ที่ว่าจะนำมาใช้ "ถูกที่ ถูกเวลา" หรือไม่