เสนอ 4 แนวทางฝ่าวิกฤติปฏิรูปสื่อ
หนุนคลอด พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่
เปิดเวที “ปฏิรูปสื่อ” นักวิชาการ เสนอ 4 แนวทางฝ่าวิกฤต หวั่นการตลาด-อำนาจรัฐ คุกคาม “นักสื่อสารมวลชน” หนุนเร่งทำคลอด พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ หวังเป็นกลไกกำกับดูแล สสย. แนะตั้งองค์กรอิสระ สร้างองค์ความรู้-เฝ้าระวัง
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 กันยายน ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน(คพส.) ร่วมกับคณะอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง รุ่นที่ 2(บสก.2) โดยสถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “ปฎิรูปสื่อ : ผ่าปัญหา…คว้าทางออก”
โดย ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และคณะกรรมการ คพส. กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อ เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม โดยสื่อจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความถูกต้อง ควบคู่ไปกับการมีเสรีภาพ ซึ่งกลไกที่จะทำให้เกิดขึ้น คือ 1.กลไกการตลาดที่สมดุล ไม่ให้การตลาดนำจนเกินไป และไม่ให้รัฐกุมอำนาจได้มากเกินไป 2.กลไกการดูแล ไม่ใช่ควบคุม เพราะเมื่อสื่อดูแลตัวเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกทางกฎหมายควบคุมเพราะอาจกระทบต่อเสรีภาพ 3.การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนหรือกลไกการตรวจสอบโดยประชาชน เช่น มีเดียมอนิเตอร์ และ 4.ความรับผิดชอบของสื่อแบบมืออาชีพ เพราะสื่อเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังสูง ความรับผิดชอบเพื่อให้เกิดสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
“การปฏิรูปสื่อถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสื่อเป็นผู้เชื่อมต่อและส่งความเป็นจริงให้กับประชาชนในวงกว้าง จึงต้องทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรม ถูกต้อง สร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้รับสารได้รับความจริงที่ถูกต้อง ซึ่งสื่อปัจจุบันไม่ใช่แค่ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ แต่รวมถึงเคเบิ้ล ดาวเทียม วิทยุชุมชน ทุกส่วนต้องปรับตัวและสร้างความรับผิดชอบซึ่งจะมีผลกระทบทำให้เกิดสังคมคุณภาพ และสร้างสรรค์ในที่สุด”ดร.สุดารัตน์ กล่าว
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปสื่อ ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) กล่าวว่า การเร่งให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดกลไกการกำกับดูแล โดยเฉพาะสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น วิทยุชุมชน ดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ซึ่งการมีกฎหมายจุดประสงค์ต้องเป็นไปเพื่อกำกับดูแล ไม่ใช่การควบคุม เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการนำเสนอสื่อ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสื่อ เป็นองค์กรที่ได้รับการคาดหวังมาก จึงจำเป็นต้องทำให้กลไกมาดูแลสื่อที่ยังมีปัญหา เพื่อนำไปสู่การนำเสนอที่สร้างสรรค์ ถูกต้อง ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า กลไกตรวจสอบการทำงานของสื่อปัจจุบัน จะเน้นไปที่การตรวจสอบกันเองหรือการออกกฎหมายคงไม่เพียงพอ แต่ภาคสังคมซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต้องเป็นพลังสำคัญในการเฝ้าระวัง ซึ่งในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นเพื่อดูแลประเด็นเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่มีการส่งเสียง หรือร้ายกว่านั้นคือส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยว่าตนเองได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ เสนอว่าควรมีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมวิชาชีพ มีแหล่งที่มาของเงินทุนสนับสนุนที่แน่นอน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ มีการจัดการความรู้ ศึกษาวิจัย เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ เพื่อสร้างกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ
ที่มา:สำนักข่าว สสส.
Update:25-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ