เสนอ ‘ทำผิดกฎจราจรหักเงินอัตโนมัติ’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
จี้รัฐตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าแก้อุบัติเหตุ เสนอทำผิดกฎจราจรหักเงินอัตโนมัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ THE 13TH WORLD CONFERENCE ON INJURY PREVENTION AND SAFETY PROMOTION (SAFETY 2018) หรือ "การประชุมว่าด้วย การป้องกัน การบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13" ระหว่างวันที่ 5-7 พ.ย. 61 ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,500 คน จาก 90 ประเทศ
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ เปิดเผยว่า จากสถิติองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ไทยมีแนวโน้มมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นควรนำเรื่องบิ๊กดาต้ามาใช้เรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยต้องมีศูนย์ข้อมูลเรื่องใบขับขี่หรืออีไลน์เซนให้เร็วที่สุด และใบขับขี่ต้องเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุในจุดใดก็สามารถเชื่อมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะทำให้รู้ถึงรายละเอียดของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เกิดจากรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ พิกัดการเกิดเหตุ และผู้ขับขี่ เป็นต้น รวมทั้งต้องใช้กล้องตรวจจับความเร็ว
นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า การเชื่อมต่อข้อมูลต้องเป็นเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถนำไปสู่การตัดแต้มใบขับขี่ หรือ หักเงินอัตโนมัติได้ เมื่อทำผิดกฎหมายจราจรเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพื่อไม่ปล่อยให้คนที่ทำผิดไม่เสียค่าปรับหรือวางเฉยเหมือนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไทยมีความพยายามจะเชื่อมข้อมูลเรื่องใบขับขี่ แต่ภาครัฐต้องเอาจริง ไม่ใช่มีแต่ไอเดียแต่ไม่ลงมือทำ หรือแม้แต่ระบบของตำรวจที่ทำแล้วแต่ยังไม่เชื่อมข้อมูลกัน และถนนในไทยก็มีความเสี่ยงทำให้ในแต่ละวันมีคนพิการเพราะการขับขี่เพิ่มขึ้นเกือบ 100 คนทุกวัน
นพ.อีเทียน ครูกก์ ผู้อำนวยการกองการจัดการโรคไม่สามารถติดต่อได้ ความพิการ, การป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ไทยควรจัดหน่วยงานอิสระที่ทำงานเรื่องความปลอดภัยทางถนนเช่นเดียวกับหลายประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นประธาน เพราะต้องทำร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ ตำรวจ ทั้งนี้ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย พบสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนมาจากรถจักรยานยนต์ (จยย.) สูงถึง 80 % นอกจากคนขับขี่ จยย.ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้วคนที่ขับขี่รถยนต์ต้องเอื้อเฟื้อกับคนที่ใช้จยย.ด้วย เพราะต้องใช้ถนนร่วมกัน และรถยนต์มีความปลอดภัยสูงกว่า
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนกว่า 30 แห่ง เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องวินัยจราจรให้กับเด็กและผู้ปกครอง และการไม่สนับสนุนให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่จยย.