เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันวัณโรค
ที่มา : กรมการเเพทย์
เเฟ้มภาพ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนประชาชนหมั่นดูแลร่างกาย รักษาสุขอนามัย เลี่ยงสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ลด ละ เลิกสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีป้องกันการติดเชื้อวัณโรค แนะวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้เร็วและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) ซึ่งวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง การติดต่อและการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรคจะแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลอื่น แพร่กระจายสู่อากาศจากการไอ จาม ผู้ที่ใกล้ชิดสูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าไปจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ นอกจากนี้วัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุดคือ ที่ปอด เรียกว่า วัณโรคปอด
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยวัณโรคปอดและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจมาด้วยอาการบางอย่างคล้ายคลึงกัน โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจเหนื่อย มักเกิดในช่วง 1 – 14 วันหลังได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และอาจมีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วงร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยวัณโรคปอดมักมีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ มักจะเป็นตอนบ่าย เย็น หรือกลางคืน และเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน ดังนั้นอาการของวัณโรคและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงแตกต่างกัน เพราะวัณโรคทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรัง ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน
ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโรควัณโรคได้จากการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรค และหากพบว่าป่วยเป็นวัณโรค ผู้ป่วยควรป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรค ดังนี้ 1.ไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น 2.ควรสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม 3.อยู่ในที่โปร่งโล่ง 4.ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์ 5.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง 6.ตรวจสุขภาพ ปีละ 1-2 ครั้ง
ข้อควรระวังและสำคัญ คือ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ตามแผนการรักษาและไม่ควรหยุดยาเอง แม้อาการจะทุเลาลง หากผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง คือ หยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษาหรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษา ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ เชื้อวัณโรคจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้
ทั้งนี้ เนื่องในวันวัณโรคโลก สถาบันโรคทรวงอกได้มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัณโรค เพื่อให้ความรู้กับประชาชนและผู้มารับบริการ ณ บริเวณอาคาร 8 ชั้น 1 สถาบันโรคทรวงอก