เว็บไซต์เพื่อผู้พิการ สิทธิเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม
“มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน ใช้สองมือไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน” โดยเฉพาะโลกของอินเทอร์เน็ตที่มีความรู้ข่าวสารเพื่อยกระดับของชีวิตผู้พิการในสังคมไทยแต่เมื่อหันกลับไปดูเว็บไซต์ที่ดาษดื่นในสังคมไทยตอนนี้ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่พัฒนาระบบมาเพื่อให้ผู้พิการด้านต่าง ๆ เข้าถึงได้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร ใปโบริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร และบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2554 ตามมาตรา 20 (6) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2500 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2554 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ได้มีการลงนามระหว่าง W3C (World Wide Web Cosortium) ซึ่งเป็นองค์กรกลาง ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ
“แม้กระทั่งเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการหลายแห่งยังไม่ได้พัฒนาระบบให้รองรับผู้พิการ สสส.จึงพัฒนาเว็บไซต์ของสสส.เองให้เป็นเว็บไซต์นำร่อง“ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)บอกถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเว็บไซต์สสส. www.thaihealth.or.th ให้รองรับการใช้งานของ ผู้พิการทุกประเภทและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง
ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณการว่า ไทยมีผู้พิการราว 2 ล้านคน หากคนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจะช่วยพัฒนาศักยภาพเป็นพลังในการช่วยเหลือสังคมได้ แต่จากการสำรวจพบว่า 90% ของเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ยังไม่เอื้ออำนวยแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ
“ปัจจุบัน เว็บไซต์ สสส. มีผู้เข้าชมวันละ 15,000 คน ส่วนใหญ่เข้ามาดูข้อมูลด้านสาระสุขภาพ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่าง ๆ และเพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว สสส. จะจัดอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานของผู้พิการและทุพพลภาพให้แก่ภาคีเครือข่ายของสสส.และสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ส่งผลให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีแนวคิดส่งเสริมให้ผู้พิการเป็นผู้ทดสอบเว็บไซต์ที่ได้รับการปรับปรุงว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่” ทพ.กฤษดา กล่าวและว่า มีเว็บไซต์ในต่างประเทศมากมายโดยเฉพาะเว็บไซต์ชอปปิงต่าง ๆ ได้พัฒนาระบบเพื่อให้ผู้พิการสามารถซื้อของผ่านออนไลน์ได้ และในอนาคตการเปิดเสรีอาเซียนเหล่าผู้พิการในย่านนี้อาจซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตถ้าเว็บไซต์ไทยยังไม่พัฒนา อาจจะเสียลูกค้ากลุ่มนี้ได้
น.ส.ธีรารัตน์ เรืองกิจธนโชติ จากบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาเว็บไซต์ สสส. กล่าวว่า การปรับปรุงเว็บไซต์ สสส. ได้พัฒนาให้รองรับลักษณะการใช้งาน 4 ประเภท คือ 1.โปรแกรมช่วยอ่านออกเสียงบนหน้าจอ(Screen Reader) สำหรับผู้พิการทางสายตา 2.แป้นพิมพ์ (Keyboard) สำหรับผู้พิการที่ไม่สามารถใช้เมาส์ได้จึงต้องมีอุปกรณ์เสริม เช่น แท่งกดแป้นพิมพ์ด้วยศีรษะ แท่งกดแป้นพิมพ์ด้วยปาก 3.การใส่คำบรรยายในสื่อประเภทวิดีโอ สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถอ่านคำบรรยายในคลิปวิดีโอได้ และ 4.เมนูปรับแสง สี พื้นหลังเว็บไซต์ และการขยายหน้าจอ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีสายตาเลือนราง หรือผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาในการมองเห็น โดยปรับสีตัวอักษร สีของพื้นหลัง ให้มีโทนสีเหมาะสม สว่างเพียงพอ และมีขนาดตัวอักษรให้เลือกใช้ จะช่วยให้มองเห็นหน้าจอได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“การปรับปรุงเว็บไซต์ สสส. ได้ผ่านมาตรฐาน WCAG 2.0 (Web Content Accessibility Guideline 2.0) ระดับ AA ซึ่งเป็นมาตรฐาน สากล W3C ซึ่งเป็นองค์กรสากล ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ”
อย่างไรก็ตามกระทรวงไอซีทีได้พัฒนาระบบเว็บไซต์ให้ผู้พิการเข้าถึงข้อมูลได้ นับแต่ประกาศใช้กฎหมายแต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ผ่านมาตรฐานของ WCAG เพราะยังไม่นำผู้พิการด้านต่าง ๆ ไปทดสอบใช้จริง ซึ่งระดับการใช้งานของเว็บไซต์เพื่อรองรับผู้พิการแบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่ 1A 2A และ 3A
นายวีระศักดิ์ ตั้งพลูพันธ์ ตัวแทนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยผู้พิการทางสายตา ประกอบอาชีพอิสระ นักกีฬาเหรียญทองแดง กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ผ่านมา กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 6 คนของกลุ่มตัวอย่าง ที่เข้าทดสอบเว็บไซต์ สสส. จากการทดสอบการใช้งาน พบว่า สามารถใช้งานได้จริงและข่าวสารในอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายขึ้น ช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้ท่องไปในโลกกว้างเสมือนทลายกำแพงทุกอย่างที่เคยมี
นางผ่องพรรณ จ้อยรุ่ง อายุ 55 ปี ผู้พิการทางสายตา อาชีพนวดแผนโบราณ กล่าวว่า ปกติจะใช้อินเทอร์เน็ตประจำ เว็บไซต์ที่เข้าบ่อยคือกูเกิล และเล่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เคยโพสต์อาชีพของตัวเองผ่านทวิตเตอร์ปรากฏว่าก็มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น
“อาชีพนวดแผนโบราณตาดีเข้ามาทำเยอะคนตาบอดก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้การพัฒนาเว็บไซต์จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่ำประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าพัฒนาสำหรับเว็บไซต์ที่สร้างใหม่ภายใน 5 ปี.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์