เวลา `เธอ` เศร้า เราจะฟังด้วย `ใจ`
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ข่าวคนดังที่ปลิดชีวิตตัวเอง ด้วยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากภาวะซึมเศร้ากำลังปรากฏให้เห็นถี่ มากขึ้นในพื้นที่สื่อทั่วโลก กระแสข่าวเหล่านี้อาจกำลังเป็นข้อบ่งชี้ว่า โลกเรากำลัง เผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตใจ หนักหนาไม่แพ้ปัญหาสุขภาพกาย
สำทับด้วยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่คาดการณ์ว่า วินาทีนี้ทั่วโลกกำลังมีคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไม่น้อยกว่า 350 ล้านคน ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคาดว่าภายในปี 2030 โรคซึมเศร้า จะกลายเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอันดับ 1 แซงหน้าโรคยอดฮิตอย่างมะเร็งและหัวใจ
ท่ามกลางกระแสตื่นตัวของสังคมที่พยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา ในเรื่องนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตที่เล็กมาก จนหลายคนมองไม่เห็น หรือไม่ได้สนใจที่จะหันไปมอง นั่นคือ ตัวเลขสถิติโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าชาย
โดยจากหลักฐานทางวิชาการที่กรมสุขภาพจิตได้สำรวจความชุกโรคซึมเศร้าประเทศไทยปี 2551 ในกลุ่มคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 19,000 ราย ได้ข้อสรุปว่าเพศหญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าชายถึง 1.6-1.7 เท่า
สอดคล้องกับรายงานผลการวิจัยเรื่อง "เพศหญิงหรือความเป็นหญิง…จึงนำมาสู่การเป็นโรคซึมเศร้า" โดย รศ.ดร. สมพร รุ่งเรืองกลกิจ, ศิริพร จิรวัฒน์กุล, ธรณินทร์ กองสุข และคณะทำงาน ที่มีการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 57 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2555) ที่ช่วยตอกย้ำว่า แม้จะยังไม่มีข้อมูล เชิงประจักษ์จากการศึกษาในสังคมไทย แต่ก็มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า "เพศภาวะ" (gender) ที่สังคมกำหนดว่าเพศหญิงและเพศชายควรมีบทบาทและพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างไรนั้น มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคลไม่น้อยเลย
เหลื่อมล้ำนำไปสู่…ซึมเศร้า
เช่นเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าเพศภาวะ (gender) ที่สังคมกำหนด "คุณค่า" และ "บทบาท" ของเพศหญิงและชาย มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคล
ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องยอมรับแล้วหรือยังว่า การที่ในมุมมองสังคมไทย ได้กำหนด "คุณค่า" ให้หญิงไทยต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมและอยู่ในกรอบอันดีงาม คือดาบสองคมที่เป็นที่มาของปัญหาสุขภาพจิตในเพศหญิงโดยไม่รู้ตัว
ในผลการศึกษาในงานวิจัยของ รศ.ดร.สมพร ได้ระบุว่า ทั้งผู้ให้ข้อมูลหลักและข้อมูลรองมีความเห็นตรงกันว่า ความเป็นหญิงภายใต้การปฏิบัติตัวตามบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และมีแก่นสาระที่ค้นพบ ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ เหล้าและมีผู้หญิงเป็นธรรมดา สำหรับผู้ชาย ความรับผิดชอบต่อครอบครัวไม่มีเวลาหยุด เป็นความผูกพันแม่-ลูก ตัดใจไม่ได้ และผู้หญิงต้องอยู่ในบ้าน
"เรื่องนี้เพศสรีระ (Sex) ไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือ เพศภาวะหรือเพศสภาพ (Gender) ต่างหาก"
รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ เปิดประเด็นตีแผ่ถึงชุดความเชื่อในสังคมไทย ที่กำลังเกี่ยวพันกับที่มาของโรคซึมเศร้า ซึ่งการเจาะลึกเรื่องนี้ อาจทำให้เราช่วยค้นหาคำตอบหรือทางเลือกใหม่ของการเยียวยาปัญหาที่ยั่งยืน
จากประสบการณ์ทำงานในด้านนี้ มาต่อเนื่อง รศ.ดร.สมพร ตอบคำถามถึงเหตุผลที่เป็นโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่นั้นเกิดใน ผู้หญิง เพราะมาจาก "ปัญหาความรุนแรง" ซึ่งแน่นอนว่า "เพศหญิง" คือผู้ที่ได้รับ ผลกระทบด้านนี้มากกว่าชาย โดยเฉพาะการถูกทำร้ายจิตใจ ที่เธอบอกว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้หญิงค่อนข้างเยอะ
"ถ้าเราพูดถึงผู้หญิง สังคมมองและเรียกร้องโดยอัตโนมัติ ว่าผู้หญิงต้องเป็น ผู้ตาม ทำงานบ้าน ดูแลคนเจ็บป่วย"
รศ.ดร.สมพร ให้เหตุผลต่อว่า หากสืบสาวยิ่งลึกลงไป ก็จะพบว่า "ต้นตอ" ของปัญหา คือผลผลิตที่เกิดจากพื้นฐาน ของสังคม "ชายเป็นใหญ่" ซึ่งไทยเป็น หนึ่งในประเทศที่ถูกปลูกฝังพฤติกรรมสังคม รูปแบบนี้ โดยไม่รู้ตัว
"ผู้ชายมักมีทัศนคติว่า ผู้หญิงเป็นสมบัติของครอบครัว ของสามี ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหน ดังนั้น บทบาทของผู้หญิงตั้งแต่อดีตมาเนิ่นนาน ตลอดจนถึงทุกวันนี้ คือ การถูกปิดกั้น "โอกาส" ไม่ว่าจะเป็น โอกาสเรียนหนังสือในกลุ่มยากจน โอกาสที่จะสามารถแสดงออกความรู้สึกหรือความทุกข์ของตัวเอง หรือการแสดงออกความรุนแรง ก็ต้องควบคุมตัวเอง"
รศ.ดร.สมพร เล่าถึงผลการศึกษาต่อว่า หากเป็นผู้หญิงที่มีครอบครัว ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ปัญหาในชีวิตคู่ เพราะแม้ว่าผู้หญิงยุคนี้คือที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่กลับมาก็ยังต้องทำงานในบ้าน ฉะนั้นผู้หญิงจึงมีความเครียดเรื้อรังให้แบกรับ จนบางคนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ส่วนผู้ชายบางครั้งยังมีโอกาสหลังเลิกงานไปเที่ยว กินเหล้า สังสรรค์กับเพื่อนได้
ขณะที่ในกลุ่มผู้หญิงโสด ก็ไม่ได้มีชีวิตที่ดีไปกว่ากัน เพราะสังคมไทยกดดันความกตัญญูลูกชายกับลูกสาวไม่เหมือนกัน ลูกผู้ชายแสดงถึงความกตัญญูด้วยการบวช แต่ลูกสาวต้องดูแลพ่อแม่
"เวลาพ่อแม่ป่วย ลองคิดดูว่า ระหว่างลูกสาวกับลูกชาย ใครจะถูกออกจากงาน หรือต้องรับผิดชอบการดูแลพ่อแม่ ยิ่งยุคนี้เราสามารถยื้อความตาย มีพ่อแม่หลายคนที่เป็นคนป่วยติดเตียงทำให้ลูกผู้หญิงอาจเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต เพราะต้องดูแลพ่อแม่"
"นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ผู้หญิงต้องแบกรับคือความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ" เธอรีบเสริมข้อมูลต่อเนื่อง
"ซึ่งความรุนแรงในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมถึงการถูกทำร้ายจิตใจ การนอกใจของสามีหรือคู่ชีวิต การที่ผู้ชายออกไปใช้ชีวิตข้างนอก หรือการที่ผู้หญิงไม่ได้มีอิสระเท่า กระทั่ง ใครที่อยากจะเลิก หรือเวลาเกิดการหย่าร้าง สังคมส่วนใหญ่ตั้งคำถามกับผู้หญิงก่อนผู้ชาย ถูกตำหนิว่าทำตัวไม่ดี ทั้งที่ผู้ชายมีเมียน้อย หรือทำร้ายร่างกาย ผู้หญิงบางคน ไม่สามารถบอกใครได้ เพราะไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ต้องรักษาสถานภาพครอบครัว รักษาหน้า จะเลิกก็ไม่ได้ เพราะทุกคนจะคอยบอก เดี๋ยวลูกจะมีปัญหา หรือผู้ชายบางคนเพิกเฉยไม่สนใจ ก็เป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งเหมือนกัน
แต่ที่สำคัญผู้หญิงหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องยอม นั่นเพราะเราถูกสังคมและครอบครัวสอนมาแบบนี้
ซึ่งเราไม่ได้มองเป็นเหตุผลทั้งหมด แต่เป็นส่วนหนึ่ง เพราะบางครั้งต่อให้ไม่มีคนบอก ผู้หญิงก็รู้สึกผิดเอง เพราะมันกลายเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในหัวไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่เขาไม่รู้ตัว บางคนจึงไม่รู้เลยว่าเขากำลังได้รับความรุนแรง แล้วเรื่องแบบนี้ กินยาอย่างเดียวจะหายได้? หรือมาบอกให้เขาคิดบวก แล้วเขาจะไปคิดบวกได้ยังไง ในเมื่อเขายังเผชิญความทุกข์จากการถูกกระทำความรุนแรงตลอด"
จน เครียด ซึมเศร้า
แม้จะบอกว่าปัญหาเรื่องนี้มีทุกชนชั้น แต่หากเป็นกลุ่มผู้หญิงระดับฐานล่างของ ปิรามิดในสังคม กลับยิ่งประสบความบอบช้ำมากขึ้น ด้วยมีตัวแปรที่เข้าเสริมนั่นคือเรื่อง "ความยากจน" เป็นปัญหาหลัก และเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่วังวนแห่ง ความทุกข์ที่ต้องแบกรับไม่สิ้นสุด จากความที่ ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจด้วยรายได้สามี
"ปัจจุบันเราทำงานกับกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ผู้หญิงกลุ่มนี้ ไม่ค่อยมีความรู้ ตัวเองจึงไม่มีโอกาสได้ทำงานดีๆ มากนักหรือไม่ก็ต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน ส่วนสามีเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้วันละ 300 บาท หรือผู้มีรายได้น้อย แต่ในฐานะภรรยาผู้มีหน้าที่ดูแลและจัดการครอบครัว เธอจะต้องบริหารทุกอย่างให้ ราบรื่น โดยที่อาจไม่เคยได้รับเงินเต็มจำนวน นั่นเพราะผู้ชายมีอิสระในการใช้เงิน เขาจะ หักเงินใช้ส่วนตัวก่อน อาจเพื่อนำไปกินเหล้าเล่นการพนัน หรือใช้เพื่อผ่อนคลาย โดย ให้เหตุผลว่า ก็ชั้นเหนื่อย ชั้นต้องหาความสุข ให้กับตัวเองบ้าง แต่ผู้หญิงมีหน้าที่ในการต้องบริหารจัดการเงินที่เหลือตรงนั้น ให้สำหรับครอบครัวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่าย ใช้หนี้สิน หาอะไรให้ลูกกิน"
รศ.ดร.สมพร บอกต่อว่า การที่คนเราเครียดเรื้อรังเช่นนี้ ประกอบกับการพักผ่อนน้อย ออกกำลังกายน้อย จนกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ จึงส่งผลทำให้สารสื่อประสาทไม่สมดุลนั่นเอง
หากเธอเศร้า เราจะรับฟัง
"โครงการนำร่องของเราเริ่มต้นที่ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี เพราะที่นี่เป็น Excellent Center of Depression และยังมีดำเนินการกับ โรงพยาบาลเครือข่ายอีก 3 โรงพยาบาล โดยสิ่งแรกที่เราทำ คือให้ความรู้ด้านนี้แก่พยาบาล นักจิตสังคม นักสังคมสงเคราะห์ เพราะที่ผ่านมาในระบบการศึกษาด้านสุขภาพของประเทศไทยไม่เคยมีการเรียนเรื่องเพศภาวะ (Gender) มาก่อน เราจึงพยายามชี้ให้เห็นที่มาที่ไปว่าทำไมถึงมีความไม่เท่าเทียม หรือถ้าใครก็ตามถ้าต้องประสบหรือมีชีวิตแบบผู้หญิงที่เรากำลังพูดถึงนี้ เขาก็ต้องมีอาการนี้ ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ซึ่งเราไม่ควรตีตราเขา แต่ต้องพยายามเข้าใจ สิ่งนี้จะเป็นฐานคิด สำคัญในการให้บริการเพื่อบำบัด ซึ่งหลังจากนั้นเราจึงเพิ่มด้วยทักษะการให้คำปรึกษาที่เรียกว่า "การฟังด้วยหัวใจ"
รศ.ดร.สมพร อธิบายต่อว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการพบว่า ในการบำบัดส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีใครฟังคนกลุ่มนี้ แม้แต่ผู้ให้การบำบัดรักษาหรือคนใกล้ชิดเองก็อาจไม่ค่อยให้ความสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะไม่เข้าใจนั่นเองทำให้จะคุ้นเคยกับทักษะการฟัง เพื่อหากรอบ ในการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หรือพยายามแนะแนวทางแก้ไข โดยไม่ได้เข้าใจถึงต้นตอของปัญหาของผู้รับบริการ
"แต่ของเราจะเป็นการฟังเขาให้เต็มที่ ยังไม่ต้องพูดแนะอะไร เพราะการฟังด้วยหัวใจ คือ "เราฟังเขาจริงๆ" และยังไม่ต้อง ตัดสิน และไม่ต้องเอากรอบความเป็น "ภรรยาที่ดี" ลูกสาวที่ดี มาวิเคราะห์ ซึ่งการที่มีคนฟังเราพูดด้วยหัวใจเพียง สิบนาที เราจะรู้สึกมีคนเห็นความสำคัญของเรา" นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังนำอีกทักษะสำคัญที่กระบวนการอื่นอาจไม่เคยใช้ นั่นคือกระบวนการ "บอกความจริง"
"เคยมีน้องนักศึกษาคนหนึ่งอยู่กับแฟน พอเรียนกลับมาต้องมาทำกับข้าวให้แฟนกิน ล้างจาน แต่ผู้ชายนอนเล่นเกม เพราะเขาถูกสอนมาว่าเมียที่ดีต้องทำทุกอย่าง เขาเป็นโรคซึมเศร้า เราจะบอกเขาเลยว่า "คุณกำลัง ถูกใช้ความรุนแรง" เราอธิบายว่าสิ่งนี้คือ รูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรง เพราะเขาทำให้น้องทุกข์ใจนะ และสิ่งที่เราจะบอกเขาต่อ คือผู้ชายไม่มีสิทธิ์ที่จะทำร้ายเราอย่างนี้ ทั้งร่างกายและจิตใจ และอีกสิทธิ์ของเขาคือ คุณต้องรักตัวเอง ฟังเสียงหัวใจตัวเองว่าต้องการอะไร
ซึ่งส่วนใหญ่ความรู้สึกแรกที่ได้ฟังคือทุกคนอึ้ง แต่มันทำให้เขาตื่น แต่ก่อนหน้านั้นเราต้องฟังเขาให้เสร็จแล้วเราจะค่อยๆ บอก เช่น บอกเขาว่าการที่สามีคุณมีคนอื่นแล้วทำให้คุณทุกข์ใจ เขากำลังทำร้ายจิตใจคุณ ซึ่งคนที่รักกันจะทำร้ายจิตใจกันหรือ? ดังนั้น กว่าจะผ่านจุดนี้ได้ ผู้ให้คำแนะนำ จะต้องมาเรียนเรื่องนี้ก่อน เพราะโดยปกติคงไม่มีพยาบาลหรือใครกล้าที่จะ พูดความจริง คือดิฉันว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงน่ะคิดนะแต่ไม่กล้าพูด ไม่ก็มักคิดว่าบอก คนอื่นอาจไม่เข้าใจ แต่เราเน้นว่าไม่ใช่ การตัดสินใจให้เขา แต่ช่วยให้เขาแค่รู้ ข้อเท็จจริง"
เธอเล่าว่ามีหลายคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เริ่มจะมีเวลาของตัวเอง เขาหันมาออกกำลังกาย ทำอะไรที่เติมเต็มความสุขให้ตัวเอง เขาเลิกเป็นแม่ที่ต้องแบกรับการดูแลลูกและสามี เขาเปลี่ยนให้ทุกคนมีหน้าที่เท่ากัน
ความทุกข์ใจไม่ได้แยกเพศ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนัก สนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลเสริมว่า จากหลายผลการวิจัยและการศึกษาในเรื่องเพศสภาพต่อเนื่อง พบว่าผู้หญิงไทยมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่มีคุณภาพชีวิตน้อยกว่า ที่สำคัญผู้หญิงอยู่ในสภาวะซึมเศร้ามากกว่า
"การที่ สสส. ให้การสนับสนุนโครงการทางเลือกในการลดความซึมเศร้าในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการของ รศ.ดร.สมพรนี้ เพราะเราเองก็เริ่มมองว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขระดับรากของปัญหาได้ แต่ต้องมีกระบวนการเยียวยา จึงมุ่งเน้นการทำงานเพื่อลดอัตราของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าในพื้นที่ โดยใช้ชุมชนและกลไกในพื้นที่เป็นตัวจัดการ เพื่อแก้ปัญหาคนเป็นโรคซึมเศร้าในระดับชุมชน ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ สสส.อยากเสนอ เพราะเรามองว่า มีความสำคัญไม่แพ้การปฏิบัติงานของกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เข้าไปปฏิบัติงาน อีกเหตุผลสำคัญในการสนับสนุนโครงการ ดังกล่าวนี้ เพื่อพยายามหารูปแบบที่เป็นต้นแบบก่อนที่จะนำไปเป็นข้อเสนอในระดับนโยบายของประเทศ"
ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกันและบำบัด จำเป็นต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการลดปัญหาระยะยาว รวมไปถึงการพัฒนากลไกและศักยภาพชุมชนที่ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร และใครที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถกำหนดปัญหาและแก้ไขกันเองในชุมชน
ภรณี เอ่ยต่อว่า อย่างไรก็ตาม สสส. ยังมองแนวทางการบำบัดนี้ ในกรณีกลุ่มผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วย
"เราไม่ปฏิเสธความรู้สึกของผู้ชาย เพราะผู้ชายมักจะบอกว่าตัวเองเครียด มากกว่าคำว่าเศร้า เนื่องจากผู้ชายเป็นเพศที่ถูกคาดหวังมากกว่าในสายตาของคนในสังคม ก็จะมีการแสดงออกอีกแบบ เช่นพฤติกรรมหงุดหงิด โกรธ โมโห พฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายร่างกาย กินเหล้าหรือไปพึ่งพาสิ่งเสพย์ติด ก็เป็นการหลีกหนีความรู้สึกว่าตัวเอง อ่อนแอ ด้อยค่า เพราะแม้ผู้หญิงเป็นโรคนี้ มากกว่าแต่อัตราผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า"
แน่นอนว่าการนำเสนอมุมมองแบบลงลึกสังคมเช่นนี้ จะทำให้อีกฝ่ายที่โดนพาดพิงอดคิดไม่ได้ว่าตนเองกำลังตกเป็นจำเลยของปัญหาดังกล่าว เรื่องนี้ รศ.ดร. สมพรเอ่ยว่า
"มีผู้ชายบางคนเราอธิบายเรื่องนี้ ตอนแรกเขาจะรู้สึกว่าผู้ชายเป็นจำเลย แต่เราจะบอกว่าเราไม่ได้ว่าผู้ชายนะ แต่เราว่าระบบ เราเข้าใจว่าคุณเป็นแบบนี้ เพราะถูกสอนมาเป็นแบบนี้ แต่เราให้โอกาส ถ้าคุณคิดว่าไม่ถูกต้องก็ต้องช่วยเรา เปลี่ยนกัน" เธอเอ่ยทิ้งท้าย