เวที ‘คนมีราก’ การศึกษาบนฐานชุมชน

     สืบสานภูมิปัญญาล้านนา เรียนรู้รากเหง้าผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน

เวที 'คนมีราก' การศึกษาบนฐานชุมชน

      การศึกษาบนฐานชุมชน คือ กระบวนการเรียนรู้รากเหง้าของตนเองผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติ วิถีการทำมาหากิน ประเพณีพิธีกรรมในรอบปี และผู้รู้ในชุมชน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย การฟัง การฝึกอบรม การร่วมทำกิจกรรม การลงมือทำ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปบทเรียน เป็นต้น จนสามารถเลือกสรรความรู้ใหม่มาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง ชุมชน และสังคมได้

      จากการถอดความรู้ประสบการณ์ของเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา จึงได้ร่วมกันจัดเวที “การศึกษาบนฐานชุมชน ตอน คนมีราก”  ในวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 เวลา  8.30 – 15.30 น. ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาได้นิยามความหมายของ “คนมีราก” ไว้ว่า เป็นผู้ที่รู้จักตนเอง รู้รากเหง้า สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งรอบตัวอย่างลึกซึ้ง มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนและวิถีชุมชนตนเอง มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันการเปลี่ยน แปลงของยุคสมัย สามารถกำหนดอนาคตตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ

      โดยการจัดเวทีครั้งนี้เพื่อเป็นการนำเสนอแนวคิด รูปธรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ของการศึกษาบนฐานชุมชนและขยายผลไปสู่เครือข่ายการทำงานด้านเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา มีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาบนฐานชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่ไปเสริมสร้างการพัฒนาเด็กเยาวชนและชุมชน เป็นการสร้างคนสู่อนาคตของสังคมไทย

 

 

     ที่มา: เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา

Shares:
QR Code :
QR Code