เวทีวัยทีน…ร้องเล่นเป็นสุข
เปิดพื้นที่เยาวชนปล่อย ‘ของดี‘
ถ้าพูดถึงพื้นที่สำหรับวัยรุ่นในบ้านเรา ดูเผินๆ เหมือนว่ามีมากมายแต่ถ้ามองกันจริงๆ แล้ว จะเห็นได้ว่ามีแต่พื้นที่คล้ายๆ กันทั้งนั้น กิจกรรมวัยรุ่นจึงหนีไม่พ้นการเดินห้างชอปปิ้ง ดูหนัง ดูโทรทัศน์ หรือ เล่นอินเทอร์เน็ต ทั้งที่วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังเหลือเฟือ และต้องการการยอมรับในท้ายที่สุดเราจึงได้เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าวัยรุ่นมักรวมตัวกันแข่งรถซิ่ง บางครั้งย่ำแย่ถึงขนาดไปตั้งแกงค์ปาหิน
เหตุนี้เองผู้ใหญ่บางส่วนในสังคมนี้จึงเกิดไอเดียจัด เวทีวัยทีน : ร้องเล่นเป็นสุข ขึ้น เมื่อวันที่ 22-23 สิงหาคม 2552 ณ centerpoint@centralworld โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับพันธมิตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และกลุ่มสลึงเพื่อเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นที่มีใจรักในการแสดงออก ทั้งด้านการเล่นละครเวที และเล่นดนตรี ได้มีพื้นที่ในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์
งานนี้ ผู้เข้าร่วมการประกวดจะผ่านการเวิร์คช็อปจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ เช่น รศ.พรรัตน์ ดำรุง ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ จิรพรรณ อังศวานนท์ อดีตศิลปินวงบัตเตอร์ฟลาย ซึ่งจะสอนพื้นฐานทุกอย่าง เหมือนเริ่มจากนับหนึ่งใหม่ รวมถึงการเพิ่มเติมเรื่องราวดีๆ ลงในผลงาน
“ผมรู้สึกแปลกใจมากที่ตอนแรกทาง สสส. ติดต่อให้ผมไปเวิร์คชอปเกี่ยวกับการประพันธ์เพลงที่พูดถึงเรื่องความดี ผมยังสงสัยอยู่เลยว่า เข้าใจผิดกันหรือเปล่า เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครเขาคิดกันแล้วโดยเฉพาะในทางธุรกิจ นี่ไม่ต้องพูดเลย พอทางผู้จัดอธิบายในจุดยืนของโครงการ ผมก็ยินดีเข้ามาช่วยทันที เพราะเพลงที่ดีจะนำพาสังคมไปในทางที่ดีได้” จิรพรรณ กล่าว
หลังจากการเวิร์คชอปนานหลายเดือน ในที่สุดผู้เข้าประกวดก็ได้ฤกษ์แสดงฝีมือในวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการแยกเป็นเวทีดนตรีและเวทีละคร ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อพิจารณาจากคุณภาพของผลงานแล้วแทบไม่เชื่อว่าก่อนการเวิร์คชอปผู้เข้าประกวดเหล่านี้บางคนไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ
เวทีละครดูจะเป็นที่เฮฮากันเป็นพิเศษ แต่ละทีมแม้จะทำงานขึ้นมาด้วยแนวคิดละครสะท้อนปัญญา แต่ไม่มีใครยอมทิ้งลายความเป็นศิลปินในการเอนเตอร์เทนคนดู เรียกได้ว่า ทุกๆ 2 – 3 นาที จะต้องมีเสียงหัวเราะเกิดขึ้น แม้บางครั้งจะเป็นการหัวเราะแบบเศร้าๆ ก็ตาม เพราะหลายๆ เรื่องนำปัญหาใกล้ตัวมาพูดได้อย่างแสบๆ คันๆ
ดังกรณีของละครเรื่อง “เมืองแตงโม” ของทีมเด็กปั้นฝัน (ม.ราชภัฎสวนสุนันทา) ซึ่งคว้ารางวัลบทละครยอดเยี่ยม ที่หยิบเอามุมมองความขัดแย้งในบ้านเมืองมาเล่าผ่านประชาชนเมืองแตงโม ที่ต้องเลือกผู้นำคนใหม่ ซึ่งต่างฝ่ายต่างหาเสียงเอาใจประชาชนกันอย่างไม่ลดละ หลายครั้งทำให้เห็นภาพซ้อนกับความเป็นจริงจนอดขำไม่ได้
นอกจากนี้ยังมี “ยายหวัง” จากทีมกำแพงเพชร ละครสะท้อนปัญหาวัยรุ่นลืมรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งถูกใจทั้งคณะกรรมการและผู้ชมโดยคว้ารางวัลไปทั้งประเภท “ละครยอดเยี่ยม” และ “ขวัญใจผู้ชม” นอกจากนี้ ยังมีรางวัลทีมนักการละครรุ่นใหม่ ที่ทีมละครมด (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) จากเรื่อง “เงียบ” คว้าไปได้ เนื้อหาพูดถึงความไม่ไว้ใจกันของเพื่อนร่วมห้องเมื่อโทรศัพท์มือถือราคาแพงของเพื่อนคนหนึ่งหายไป สะท้อนถึงปัญหาวัตถุนิยมที่ลุกลามมากระทบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม
พรรัตน์ วิทยากรในส่วนละครเวที อดปลื้มไม่ได้ว่า ได้สร้างบทเรียนที่ดีให้แก่เด็กหลายๆ คน “รู้สึกดีใจมากที่เด็กๆ ได้เจอปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำละคร หลายคนเหนื่อย มีปัญหา ทะเลาะกัน บางทีมไม่มีที่ซ้อม ต้องไปซ้อมใต้รางรถไฟฟ้าก็มี แต่สุดท้ายแล้วทุกคนอดทนอดกลั้นเพื่อมาถึงเป้าหมายร่วมกัน ตรงนี้เด็กจะสามารถนำไปใช้ได้ในการใช้ชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร”
ส่วนด้านของเวทีประกวดดนตรีถือว่าร้อนระอุไม่แพ้กัน เพราะแม้จะมีการวางกรอบเนื้อหาของเพลงให้พูดถึงการสร้างปัญหาแต่แน่นอนว่าไม่มีการจำกัดแนวเพลงใดๆ ทั้งสิ้น บนเวทีเราจึงได้เห็น ทั้งป๊อป ร็อค สกา เพื่อชีวิต จนถึงลูกทุ่ง หรือดนตรีพื้นบ้านเลยทีเดียว แม้ทุกวงจะผ่านการเวิร์คชอป และได้อัดเสียงออกอัลบั้มกันแล้ว แต่การเล่นสดบนเวทีที่มีคนดูมากมาย ยังเป็นสิ่งที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งวงที่ฉายแวว และดับ จากการเล่นสด 15 นาทีที่ได้รับมา จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าแต่ละวงจะสามารถใช้อย่างคุ้มค่าและสื่อสารกับคนดูได้มากเพียงไหน
วงที่เข้าตาที่ในงานนี้ หนีไม่พ้นสามหนุ่มเพื่อชีวิต วง “สมุนไพร” (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) จากเพลง “ไฟกลางสายฝน” ด้วยแนวคิดง่ายๆ ว่าอยากให้คนไทยสามัคคี ซึ่งทั้งสามนำเสนอออกมาอย่างง่ายๆ แต่จริงใจ จนคว้ารางวัลวงชนะเลิศไปในที่สุด ตามมาติดๆ จากสถาบันเดียวกันด้วยวงรองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง อย่าง “กระถิน” จากเพลงป๊อปร็อค เนื้อหาให้กำลังใจ “สิ่งที่เหลืออยู่” และรองชนะเลิศ อันดับสอง วง “ไข่เจียว” (ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) เพลง “โลกมุมใหม่” ป๊อปน่ารักๆ ที่มีนักร้องสาวเสียงใสๆ มาช่วยทำให้เพลงดูสดใสยิ่งขึ้น
ส่วนรางวัลขวัญใจมหาชน ตกเป็นของวงชื่อแปลกอย่าง วง “อาจารย์เบียร์นะจ๊ะๆ” (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) นอกจากนี้ยังมี triple h จากแนวคิดของโครงการ อันประกอบด้วยรางวัล heart ยอดเยี่ยม (มาด้วยใจ) ซึ่งวง “ดวงจำปา” (ม.มหาสารคาม) คว้าไปครอง ส่วนรางวัล hand ยอดเยี่ยม (ลงมือทำอย่างตั้งใจ) วงสกาอารมณ์ดีอย่าง “ป้าปลาสกาอิสระภาพ 15” (ม.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา) คว้าไปเชยชม ด้านรางวัล head ยอดเยี่ยม (เติมไฟให้คิดฝัน) เป็นของ วง “abc” (ม.บูรพา)
นพ.บัญชา พงษ์พาณิชย์ กรรมการบริหารแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า แม้ สสส. จะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม แต่พันธกิจหนึ่งคือการเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาดังนั้นจึงน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มกิจกรรมทางบวกและสร้างสุขผ่านงานศิลปะได้และหวังอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยให้วัยรุ่นเพิ่มทักษะในการคิดอย่างมีเหตุและผล
ในท้ายที่สุด แม้งานจะจบลงแล้ว แต่ละทีมทั้งที่ได้รางวัล และไม่ได้รางวัลต่างมารวมตัวแสดงความยินดีอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส รวมถึงแลกเบอร์โทรศัพท์กันระหว่างเพื่อนใหม่ ซึ่งเป็นภาพน่าประทับใจ หวังใจให้ภาพแบบนี้เกิดขึ้นต่อไปในสังคมวัยรุ่นของบ้านเรา
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update 26-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่