เวทีจิตอาสา สร้างกิจกรรมทางกาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พรประไพ เสือเขียว
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
จิตอาสา'เวทีประชุมนานาชาติ เติมเต็มสุขภาวะทางปัญญา
เวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 (ISPAH Congress) ที่จะจัดขึ้นในระหว่าง 16-19 พฤศจิกายน 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย และในเอเชียประโยชน์สำคัญของเวทีการประชุมฯ จะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้นำเสนอนโยบายและศักยภาพ วิชาการเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนานาประเทศ และโอกาสที่จะปรากฏชัดคือเหล่าจิตอาสาจากทุกสาขาอาชีพจากประเทศไทย จำนวน 60 คนจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเวทีประชุมครั้งนี้ และถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการประชุมนานา ชาติในประเทศไทยที่จะใช้จิตอาสามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้จัดการธนาคารจิตอาสา บอกเล่าถึงวิธีคัดเลือกบุคคลที่จะมาร่วมจัดการประชุมฯ ว่า ใช้วิธีเปิดรับสมัครในเว็บไซต์ของธนาคารจิตอาสา เปิดรับสมัครไม่ถึงหนึ่งวันแต่มีผู้สมัครถึง 200 คน แต่ขอบ ข่ายสามารถรับจิตอาสาได้ 60 คน เปิดรับสมัครตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งคุณสมบัติแรกที่ต้องการคือมีทักษะ การสื่อสารภาษาอังกฤษดี ทักษะมนุษยสัมพันธ์ดี และกลุ่มคนที่มีความสามารถด้านไอที นอกจากนี้ยังสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องกิจกรรมทางกาย หรือมีความสนใจกิจกรรมทางกาย ทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับวิทยากรรับลงทะเบียน เป็นต้น
"อาสาสมัครเหล่านี้ จะเป็นหน้าตาของประเทศ สิ่งที่อาสาสมัครจะได้คือความภูมิใจที่ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดี ได้อุทิศความรู้ความสามารถช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยประชาสัมพันธ์การทำงานด้านสุขภาวะของ สสส. ซึ่งการทำงานจิตอาสาถือเป็นหนึ่งใน 4 ของเป้าหมายการทำงานของ สสส. คือ กาย จิต ปัญญา สังคม การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนถือเป็นสุขภาวะทางปัญญา ก่อให้เกิดความสุขคือมีใจที่ทำให้ผู้อื่น ทุกวันนี้คนมีความทุกข์เพราะคิดถึงแต่เรื่องตัวเอง การเป็นจิตอาสา ทำให้เข้าถึงความสุขอันประณีต" ผู้จัด การธนาคารจิตอาสา อธิบายถึงตรรกะการทำงานด้านจิตอาสา
ปัจจุบันประเทศไทยมีทรัพยากรที่ยังไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ จำนวนมาก ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถต่างสาขา ไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารจิตอาสา ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมพลังคน และจัดการพลังคนให้เหมาะสมกับงานอาสา รวมทั้งการให้องค์ความรู้ของการปฏิบัติหน้าที่จิตอาสาที่ดี รวมทั้งหน่วยงานที่ ต้องการจิตอาสามาเรียนรู้ได้
ผู้จัดการธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมักมองว่าจิตอาสา ขาดความรับผิดชอบเพราะคิดว่าทำงานฟรี ไม่ตรงเวลา มีอัตตาสูง เหล่านี้เป็นภาพเก่า แต่อยู่ที่การจัดการต่างหากซึ่งกระบวนการของธนาคารจิตอาสา จะให้จิตอาสาเข้ามารับการอบรมเทคนิคการฟังอย่างตั้งใจ การฝึกทักษะที่จะอยู่กับตัวเอง เป็นต้น การให้ภาพรวมการทำงานก่อนลงปฏิบัติงานจริง กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้จิตอาสาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำว่ามีประโยชน์และจะทำอย่างตั้งใจ
ตัวเลขของผู้มาฝากเวลาทำงานของธนาคารจิตอาสาพอจะยืนยันได้ เพราะสถิติของคนที่ต้องการมาเป็นจิตอาสาอยู่ในวัย 18-24 ปี มีสมาชิกธนาคารจิตอาสา 40,000 คน และองค์กร 200 แห่ง ฝากเวลาไว้กับธนาคารฯ รวมกัน 2 ล้านชม. ปีหนึ่งส่งจิตอาสาไปทำงานกว่า 800 งาน
นายรังสรร มั่นคง นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ สสส. ในฐานะผู้ประสานงานการประชุม ISPAH Congress กล่าวว่า ในทุกการประชุมนานาชาติเรื่องจิตอาสาเป็นเรื่องสำคัญ ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป การประชุมใหญ่ใช้จิตอาสาเข้ามาร่วมจัดการประชุม
"การมีจิตอาสาสะท้อนคุณภาพของคนในประเทศประการหนึ่ง"
ประสบการณ์การทำงานในเวทีการประชุมนานาชาติไม่ได้หาได้ง่ายนัก นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าเมื่อเปิดรับสมัครจึงมีคนเข้ามาสมัครจนเกินความต้องการ ซึ่งมีอายุต่ำสุดคือ 16 ปีจนถึง 66 ปี
"น้องไอซ์" น.ส.อภิชญา เรียมใจเย็น วัย 22 ปี อดีต นศ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกการจัดการวิศวกรรม ม.ธรรมศาสตร์ บอกถึงความตั้งใจ ที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสาว่า ปกติอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มีโอกาสได้ทำกิจกรรมแข่งฟุตบอลระดมทุนไปช่วยเหลือผู้ป่วยใน รพ.ธรรมศาสตร์รังสิต ระหว่างนี้อยู่ในช่วงที่ว่างกำลังเตรียมการเรียนต่อ จึงใช้เวลาว่างช่วงนี้มาทำงานจิตอาสา คิดว่าจะได้แนวความคิดใหม่ ๆ จากเวทีการประชุมไปต่อยอดการเรียนต่อในประเทศอังกฤษ รวมทั้งการใช้ความรู้ทางภาษาอังกฤษ และการบริหารจัดการทางวิศวกรรม
"จริง ๆ การทำงานจิตอาสาไม่จำเป็นต้องไปตามงานต่าง ๆ เด็กรุ่นใหม่ทำจิตอาสาใกล้ตัวเช่น ช่วยอาจารย์ทำงาน ช่วยเพื่อน ๆ ถ้าหากอยากมีโอกาสอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มประสบการณ์สามารถไปร่วมงานกิจกรรมที่จัดขึ้นได้" น้องไอซ์ ในฐานะเด็กเจนวายเล่าถึงความคิดจากประสบการณ์
เวทีการประชุม ISPAH Congress ครั้งที่ 6 จะสร้างบรรทัด ฐานใหม่ของการทำงานจิตอาสาในสังคมไทยที่ไม่จำเป็นว่าเมื่อมีสถาน การณ์เดือดร้อน หรือภัยพิบัติ แต่ศักยภาพของแต่ละคนมีความเป็นจิตอาสาได้.