‘เล่น’ เปลี่ยนสมอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'เล่น' เปลี่ยนสมอง thaihealth


เรื่องจริงไม่อิงนิยาย เมื่อประเทศเราเดินมาถึงจุดที่ต้องส่งเสริมเด็ก ให้เล่นกันแล้ว? คุณอาจจะไม่ปฏิเสธสักนิด หากรู้ว่า เรื่องเล่นมีพลานุภาพกว่าที่คิด เพราะสามารถเปลี่ยนสมองได้! เรื่องเล่นในวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป และที่สำคัญ แค่เรื่องเล่นๆ ของเด็กวันนี้ แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา จะไม่มีเอี่ยว คงไม่ได้อีกแล้ว!


เล่น = ปลุกสมอง


ปัจจุบันการเห็นพ่อแม่ส่วนใหญ่พยายามสรรหาอาหารเสริมต่างๆ นานา เพื่อบำรุงสมองลูกมากมาย แต่รู้หรือไม่  แค่ปล่อยให้ลูก "เล่น" วันละแค่ 1 ชั่วโมง ก็สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงพัฒนาการสมองลูกของคุณ ไปจนถึงเปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้มากกว่าที่คิด


"การเล่น" กิจกรรมที่เรานึกว่าไร้สาระของเด็กๆ ในแต่ละวัน กลับช่วยวางรากฐานการเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตในเด็ก โดยเฉพาะการเล่นอิสระ ที่เรียกว่า Free Play คือการปล่อยให้เด็กจะเล่นแบบไหนอย่างไรก็ได้ตามแต่จิตนาการของเขา  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบทบาทสมมุติ  เล่นผจญภัย ซึ่งจะทำให้เด็กมีร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นพบศักยภาพของตนเองสู่การมีเป้าหมายในชีวิต ที่สำคัญเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและปูพื้นฐานสู่ความเป็นพลเมือง หรือในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาส การเล่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ  ลดความเครียด และความกดดัน เมื่อ พบปัญหาชีวิตก็จะเลือกทางออกที่ดี ให้แก่ตนเองได้


'เล่น' เปลี่ยนสมอง thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบายว่า ผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทยพบว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนอายุ 6-17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด  9 ภูมิภาคทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร พบว่า ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกาย ของเด็กไทยอยู่ระดับปานกลาง หรืออยู่ระดับเกรด C แต่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งค่อนข้างสูง หรืออยู่ระดับเกรด D- ซึ่งปัจจุบันเด็กเยาวชนไทยต้องเผชิญปัญหาสุขภาพหลายด้าน ทั้งโภชนาการเกิน การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ แต่ยังมีอีกปัญหาที่กำลังรุกคืบ คือความเสี่ยงต่อพฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่นเพราะพวกเขา  ออกไปเล่นกันน้อยลง


เล่าเรื่องเล่น ในมุม(วิชาการ) จริงจัง


"อยากรู้ไหมว่าสมองเปลี่ยนแปลงอย่างไร" รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมเปิดประเด็นเสริมข้อมูลวิชาการโดยเอ่ยว่า นอกเหนือจากความสนุกสนานของเด็กๆ ลึกลงไป การออกมาเล่นยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรม ทางกาย (Physical Activities หรือ PA) อันหมายถึงการเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อโครงสร้างและทำให้มีพลังงานของร่างกาย การมีกิจกรรมทางกายทุกวันไม่เพียงให้เด็กแข็งแรง อารมณ์ดีแจ่มใส ยังส่งผลให้เด็กเรียนดีขึ้น


"PA สะท้อนความฉลาดของสมอง  ถ้าเราออกกำลังกายสมองบ่อยๆ ส่วนที่เก็บการทำงานของสมอง Gray Matter  จะหนาขึ้น เป็นเหมือนแบตเตอรี่ของร่างกายเรา รวมถึงความจำต่างๆ ก็ถูกเก็บที่นี่ ถ้า Gray Matter แข็งแรง ดังนั้น การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายบ่อยๆ จะให้สมองเราพร้อมรับ Input อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงจะมีขนาด Hippocampus สมองด้านความจำ และ Basal Ganglia สมองควบคุมการตัดสินใจใหญ่กว่าปกติ และการทำงานของสมองทั้ง 2 ส่วนนี้ มีผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็ก"


'เล่น' เปลี่ยนสมอง thaihealth


ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองยังฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเรื่อง "เล่น" กับการทำงานสมองอย่างง่ายๆ ว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ เลือกที่จะสนับสนุนให้ ลูกใช้เวลาว่างท่องศัพท์ ทบทวนบทเรียนมากกว่าปล่อยให้ลูกออกไปเล่นหรือไป เตะบอล แต่ในผลการวิจัยมีการพบว่า หากพ่อแม่เปลี่ยนเป็นให้ลูกเล่นไปด้วยพร้อมกับการเรียนรู้ หรืออ่านหนังสือไปด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองให้เรียนรู้เต็มที่มากกว่า


นอกจากนี้ ผลพลอยได้ของการเล่น คือลดโอกาสภาวะอ้วน 100% ลดโอกาสเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อปัญหาสังคม เช่น บุหรี่ สิ่งเสพติด ค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพลดลง และลดโอกาสในการเกิด โรคหัวใจ เส้นเลือดสมองตีบ มะเร็งและ เบาหวาน อีกด้วย


คำถามที่ต้องตอบ ทำไมเด็กไทยเล่นน้อยลง


หากยังจำได้ ในวันที่พ่อแม่ยังอยู่ในวัยเด็ก ยุคนั้นแทบไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ต้องปลุกใจให้เด็กไปเล่น แต่ปัจจุบันสังคมเรากำลังมีแนวโน้มกลับตาลปัตรกับอดีต  ความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่รีบเร่งและเทคโนโลยีที่ทันสมัย กลับส่งผลกระทบโดยตรงต่ออนาคตของชาติโดยไม่ได้ตั้งใจ


'เล่น' เปลี่ยนสมอง thaihealth


เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงข้อมูลจาก Childwise สถาบันวิจัยด้านเด็กและ วัยรุ่นของอังกฤษ ว่า เด็กทั่วโลกกำลังใช้เวลากับสื่อมากถึง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน  ขณะเดียวกันวิถีชีวิตและค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป กลายเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงเลือกที่จะขับเคี่ยวให้ เด็กติวเข้มไปเรียนพิเศษ แทนการเล่น เพื่อการแข่งขันด้านการศึกษา


ด้านตัวแทนผู้สะท้อนความจริงจากพื้นที่ สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน จากกลุ่มไม้ขีดไฟ ปากช่อง นครราชสีมา ให้ข้อมูลเป็นไป ในทิศทางเดียวกันว่า หลายคนมองว่าเด็กต่างจังหวัดน่าจะมีต้นทุนดีกว่าในเรื่องการส่งเสริมการเล่นมากกว่าเด็กในเมือง แต่จากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ ทำให้ ได้พบข้อเท็จจริงว่า เด็กปากช่อง ซึ่งพื้นที่ มีสภาพกึ่งเมืองกึ่งชนบท ก็พบว่าต้นทุน เหล่านั้นหายไปแล้ว


"พ่อแม่เป็นเกษตรกรมีไร่มีสวนให้เล่นก็จริง แต่ต้นทุนหายไปคือการที่เด็กจมอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ร้านเกมส์ และอีกปัญหาความยากในการทำงานอันหนึ่งคือ  การทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเข้าใจเรื่องนี้ เมื่อสี่ห้าปีที่แล้วเราเคยทำเรื่องนี้ จนโรงเรียนยอมยกทีวีออกจากห้องอนุบาล รื้อสนามเด็กเล่นเดิมเอากระบะทรายให้เด็กเล่น  แต่ผู้ปกครองกลับไม่เข้าใจ ดึงเด็กออกจากโรงเรียนมองว่าทำไมปล่อยให้เด็กเล่นขี้ดิน ขี้ทราย หรือคุณครูไม่สอนเด็ก ค่านิยม เหล่านี้เราไม่รู้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเป็น เรื่องยากที่จะเปลี่ยน"


'เล่น' เปลี่ยนสมอง thaihealth


เรื่องเล่นๆ ปัญหาระดับโลก


ปัญหาเรื่องการเล่นไม่ได้เกิดแต่ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังมีชะตากรรมไม่ต่างกัน เคธี หว่อง (Ms. Kathy Wong) รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ (IPA Vice President) และ ผู้อำนวยการบริหาร Play right Children's Play Association เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ข้อมูลว่า


จากการศึกษาปัญหาดังกล่าวใน 8 ประเทศ พบปัญหาที่ให้เด็กเล่นน้อยลงเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย พ่อแม่กลัวอันตราย หน่วยงานราชการ ไม่มีนโยบายเพื่ออำนวยโอกาสการเล่น  หรือไม่เพียงพอ การขนาดพื้นที่ ไม่มี ของเล่น และเช่นเดียวกัน เด็กทั่วโลก ต้องเผชิญแรงกดดันเรื่องการแข่งขัน การเรียน ไปจนถึงการติดหน้าจอ ไม่น้อยหน้าเด็กไทย


เด็กมีสิทธิ์ที่จะเล่น


'เล่น' เปลี่ยนสมอง thaihealth


"ปัจจุบันเด็กไทยเข้าถึงเทคโนโลยี เร็วมาก พ่อแม่ปู่ยาตายาย หรือผู้เลี้ยงดูเด็กในรุ่นปฐมวัย คือผู้ที่หยิบยื่นมือถือให้เด็กตั้งแต่อายุเพียงขวบเดียวแล้ว" เข็มพรเสริมว่า นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่ควรจะมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเรื่องนี้ในชุมชนและสังคม ไปจนถึงระดับนโยบาย เพื่อให้เด็กเข้าถึงโอกาสในการเล่น โดยปัจจุบันได้มี การขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก ในเวทีสมัชชาสุขภาพ แห่งชาติ ครั้งที่ 10 โดยมีวาระการส่งเสริม พื้นที่เล่นสำหรับเด็กที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่และทุกมิติของสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นในการส่งเสริมการเล่นของเด็ก ควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของ ทุกฝ่ายในสังคม โดยมีการระดมแนวทางการส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก เช่น  การเพิ่มพื้นที่เล่นของเด็กในบ้าน ชุมชน สถานศึกษาและพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาและส่งเสริม ไปจนถึงการส่งเสริม  "ผู้อำนวยการการเล่น หรือ Play Worker" ในประเทศไทย


ขณะที่รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ หรือ IPA แชร์ประสบการณ์การขับเคลื่อนงานของ IPA ว่ามุ่งบทบาทการขับเคลื่อนส่งเสริมให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของสิทธิเด็ก โดยผลักดัน 4 ประเด็นสำคัญคือ 1.ส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก โดยนิยามการเล่นในมุมมองของเด็ก คือเด็กเป็นผู้ริเริ่ม เกิดจากแรงจูงใจภายในของ เด็กเอง 2.สนับสนุนให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมการเล่นของเด็ก ให้เด็กสามารถเล่นได้ทุกที่  ทุกโอกาส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายส่วนไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครู แพทย์ ฯลฯ 3. มีสนามเด็กเล่นที่ไม่กีดกั้นการเข้าถึงของเด็กทุกคน โดยสร้างสนามเด็กเล่นที่สนุกสนาน ปลอดภัย ส่งเสริมจินตนาการ ไม่กลัวความเสี่ยงแต่สามารถจัดการความเสี่ยงได้ 4. สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับเด็กทุกคน เช่นที่จีน มีทางเท้าที่เด็กสามารถเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน หรือไปสนามเด็กเล่นอย่างปลอดภัย

Shares:
QR Code :
QR Code