เล่นเกม…ทางเชื่อม สู่ทุกขภาวะอีกทางหนึ่ง

แนะพ่อแม่อย่าใช้อารมณ์กับลูก

 

เล่นเกม…ทางเชื่อม สู่ทุกขภาวะอีกทางหนึ่ง          ในแต่ละปีไม่เคยไม่เกิดข่าวร้ายผลพวงที่มาจาก “การเล่นเกม” อย่างหมกมุ่นผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวร้ายที่เกิดนั้นมักเกิดกับเยาวชนแทบทั้งสิ้น

 

          มาลองคิดดูเล่นๆ ว่าแล้วที่เกิดเหตุร้ายจากสาเหตุหมกมุ่นกับการเล่นเกมแต่ไม่เป็นข่าวจะมีอีกมากน้อยเพียงใด

 

          ล่าสุด ข่าวร้ายที่สื่อประโคมเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ ข่าว-ภาพทางโทรทัศน์และวิทยุซ้ำแล้วซ้ำอีก คือ ข่าวเยาวชนน้อยใจพ่อแม่ ห้ามเล่นเกมตัดสินใจโดดตึกตาย พฤติกรรมดังกล่าวเห็นจะไม่ใช่น้อยใจแต่น่าจะโกรธพ่อแม่มากกว่าที่ห้ามเล่นเกม

 

          ความโกรธเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กตัดสินใจก่อความรุนแรงให้ตัวเองอย่างร้ายที่สุด คือ ฆ่าตัวตาย ถ้าไม่ทำถึงเช่นนั้นอาจตัดสินใจไปสร้างความรุนแรงในทางอื่นกับคนอื่นก็เป็นได้

 

          แล้วจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง ต้องลองพิจารณาแนวทางต่อไปนี้ดู

 

          การสนับสนุนให้เด็กรู้จักใช้คอมพิวเตอร์ การซื้อคอมพิวเตอร์ให้เด็กโดยไม่ได้ปลูกฝังการใช้ที่ถูกต้องให้ การมีร้านเกมใกล้บ้าน ล้วนเป็นปัจจัยเสริมที่เอื้อให้เด็กติดการเล่นเกมทั้งนั้น

 

          ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มเพื่อน เด็กกลัวจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้หากไม่ทันกระแส หากไม่เล่นเกมที่กำลังฮิตกันอยู่ในปัจจุบัน

 

          เกมให้ความเพลิดเพลิน มีความท้าทาย และจะเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เด็กต้องการเอาชนะ ทำให้อยากเล่นอีก ในเกมเด็กทุกคนสามารถเป็นฮีโร่เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ บางเกมจะมีแรงจูงใจเป็นรางวัลยิ่งทำให้เด็กอยากเล่นมากขึ้นไปอีก จนไม่สามารถหยุดเล่นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน

 

          ผลกระทบทางจิต จะทำให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรง โดยเฉพาะติดเกมการต่อสู้ ดื้อ ต่อต้าน และหดหู่ ซึมเศร้าหากไม่ได้เล่น มีพฤติกรรมหนีเรียน เก็บตัว นานๆ ไปจะทำให้เด็กกลายเป็นคนแปลกแยก ไม่มีสังคมขาดความสัมพันธ์กับสังคมและครอบครัว

 

          ผลการศึกษาพฤติกรรมการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเด็กนักเรียนระดับมัธยมฯ ในปี 2546 ของ ศิริไชย หงษ์สงวนศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลเวชศาสตร์ และคณะยังระบุว่าเกมยังทำให้มีปัญหาพัฒนาการด้านความคิดถึงแม้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์จะช่วยฝึกทักษะด้านมิติสัมพันธ์ ทั้งตาทั้งมือและยังมีผลการศึกษาว่าเด็กที่เล่นเกม จะมีระดับเชาวน์ปัญญาด้าน Performance IQ สูงขึ้นและสมาธิดีก็ตาม

 

          แต่การเล่นเกมไม่ได้ทำให้เด็กมีสมาธิความสำเร็จด้านการเรียนและการทำงานดีขึ้น!! โดยพบว่าเด็กวัยรุ่นที่เล่นเกมเป็นประจำมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่ไม่เล่นเกมและต่ำกว่าผลการเรียนที่ผ่านมาของตนเองด้วย

 

          เด็กที่เล่นเกมเป็นเวลานานยังมีผลกระทบทางร่างกาย ได้แก่ การปวดเมื่อยข้อมือการรับรู้ความรู้สึกที่มือถูกสะเทือน เพราะเส้นประสาทจากข้อมือไปยังมือถูกกดเป็นเวลานาน อาการนี้ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Carpal tunnel syndrome ลูกตาก็จะแห้งและล้า เพราะแสงจ้าจากที่ต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดข้อ อุปนิสัยการบริโภคอาหารเปลี่ยนไป ชอบอดมื้อกินมื้อ ส่งผลให้เกิดการปวดท้องในบางรายจะเกิดโรคอ้วนเพราะไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายหรือออกกำลังกาย การเข้านอนและการตื่นผิดปกติ มักจะปล่อยปละละเลยเรื่องอนามัยและการรักษาความสะอาด

 

          อีกมากของปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย หรือกล่าวได้ว่าเล่นเกมแบบติดต่อให้เกิดทุกขภาวะแก่เด็กด้วยครอบครัวด้วยสังคมก็มีสิทธิได้รับผลแห่งทุกข์เช่นกัน

 

          มีการแนะว่าพ่อแม่ไม่ควรห้ามลูกเล่นเกมแบบทันทีทันใด ควรเข้าไปพูดคุยกับลูกในขณะเล่นเกมบ้าง เพื่อเด็กจะได้ไม่อยู่ตามลำพัง ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด แล้วค่อยๆ เปลี่ยนวิถีให้ลูกเล่นน้อยลง รวมไปถึงชักชวนให้ทำกิจกรรมอื่นแทนการเล่นเกมเพียงอย่างเดียวด้วย ไม่ใช่พอเห็นลูกอยู่หน้าจอก็ก่นด่าด้วยความเคยชิน

 

         สมาน ปรางค์ทอง ผู้ปกครองของเด็กติดเกม เล่าให้ฟังถึงลูกชายที่ติดเกมหนักถึงขั้นหนีเรียนไปอยู่กับร้านเกมว่าอาจารย์เคยรายงานความประพฤติมาว่าลูกเราไม่เข้าเรียน กำลังจะหมดสิทธิสอบ ฟังแล้วก็ตกใจและเสียใจมากทั้งที่เขาแต่งตัวไปโรงเรียนทุกวัน พอสืบไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าเขามักจะหนีเรียนมานั่งเล่นเกม

 

          อาจารย์ศันสนีย์ สุดประเสริฐ นักวิชาการศึกษาพิเศษ 8 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้บอกถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า ส่วนที่สำคัญคือครอบครัว โดยพ่อแม่ต้องเข้าใจลูกห้ามโมโห อันดับแรกต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับบรรยากาศในครอบครัวก่อนเนื่องจากหากเราดุด่า ทำโทษลูกมาก ลูกจะกลัวเรา บางคนจะรู้สึกเบื่อหน้าพ่อแม่ไปเลย ที่สำคัญต้องคิดตลอดว่าเวลาเข้าบ้านต้องจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อนแล้วค่อยจัดการกับลูก

 

          นี่น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งของการป้องกันทุกขภาวะที่มากับการเล่นเกม

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

Update 04-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code