‘เล็ก’ ก็รวมเป็นใหญ่ได้ถ้า ‘ใจ’ เราถึง

ที่มา : แฟนเพจมูลนิธิสยามกัมมาจล


ภาพประกอบจากแฟนเพจมูลนิธิสยามกัมมาจล


'เล็ก' ก็รวมเป็นใหญ่ได้ถ้า 'ใจ' เราถึง  thaihealth


ตัวแทนกลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสา ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม


น้ำฝน หรือ น.ส.อลิสา บินดุส๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ แกนนำเยาวชนโครงการ Law long Beach กลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสา ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดย สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล แกนนำที่ร่วมปกป้อง และคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน ในเวทีเยาวชน “YOUTH Talks” งานสมัชชาคุณธรรมครั้งที่ 8 "รวมพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา" จัดโดยคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) และองค์กรภาคีร่วมจัด เมื่อวันที่ 1-2 ก.ย. ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม 1 (ฮอลล์ 9) เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี


"เล็กก็รวมเป็นใหญ่ได้ถ้าใจเราถึง จริงๆ พวกเราเยาวชนและเด็กๆ ที่อยู่ในห้องนี้ เราสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด มากกว่าที่ผู้ใหญ่เชื่อว่าเราจะทำได้…" ข้อความตอนหนึ่งของน้ำฝนในช่วง TED Talk


ฝนเริ่มการทำงานจิตอาสาได้ตั้งแต่ตอน ม.5 ในโครงการเยาวชนบีชฟอร์ไลฟ์ ฝนเป็นคนจังหวัดสงขลา ที่สงขลามีหาดทรายที่ถูกกัดเซาะและตนคิดว่าเป็นปัญหาที่ทั่วประเทศต้องประสบ กลุ่มบีชฟอร์ไลฟ์ที่มีเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนได้เริ่มศึกษาว่าชายหาดพังได้อย่างไร เมื่อได้คำตอบแล้วจึงนำความรู้ที่ว่ายากมาย่อยให้ง่ายและเล็กก่อนที่จะเกิดกิจกรรม ‘เดินเท้าเล่าเรื่องหาด’ ซึ่งเป็นการเล่านิทานให้กับเด็กได้ทราบถึงความสำคัญของชายหาดสงขลา


“แต่ในปีแรกเรารู้สึกว่าคนสงขลายังไม่หันมาสนใจเท่าที่ควร ยังไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ปีต่อมาเราจึงปรับปรุงด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยการสร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘ธรรมนูญเยาวชน’ คือเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น จากเริ่มแรกเวทีที่มีแกนนำอยู่เพียง 5 คน ขยับขยายในจำนวนที่ใหญ่ขึ้นเป็น 20 คน ในที่นี้ล้วนเป็นเด็กมัธยมด้วยกันทั้งสิ้น” ฝนกล่าวบนเวที


ทางกลุ่มได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ทั้งหมด 11 เวที จาก 9 สถาบันในเขตเทศบาลนครสงขลา ได้ความคิดเห็นรวมทั้งหมด 24,563 ความคิดเห็น  ก่อนที่จะนำมาทำเป็นข้อตกลงร่วมกันและประกาศใช้เพื่อให้เป็นสิ่งที่เยาวชนสงขลาต้องทำร่วมกัน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย แต่ถูกใช้ในฐานะที่ทุกคนต้องเคารพความคิดเห็นที่ทุกคนนำเสนอและควรนำความคิดเห็นที่ได้นั้นไปขับเคลื่อนเพื่อรักษาเอาไว้


หลังจากกิจกรรมการขับเคลื่อนจบไปน้ำฝนก็ได้เข้ามหาวิทยาลัย ณ ตอนนั้นเธอคิดว่าธรรมนูญเยาวชนที่ได้ใช้ไปอาจยังไม่สามารถดูแลรักษาชายหาดทั้งหมดเอาไว้ได้ เธอจึงเลือกศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ เพื่อที่อยากให้มีกฎหมายเกี่ยวกับชายหาดขึ้นในประเทศไทย จึงได้จัดตั้ง 'กลุ่มว่าที่นักกฎหมายอาสา' โดยการให้ความรู้กับผู้คนที่สนใจ


ฝนยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "หากผู้ใหญ่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการทำงานของเยาวชน ถ้าเราเริ่มกล้าที่จะเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดแน่นอน อนาคตเป็นของเยาวชนเพราะฉะนั้นเยาวชนสามารถเลือกได้ว่าจะยอมเสี่ยงหรือยอมปรับความคิดที่ฝังอยู่ในตัวเราว่าเราไม่มีอำนาจ เป็นแค่เด็กจะทำอะไรได้"

Shares:
QR Code :
QR Code