เลเซอร์ดูแลผิวพรรณ ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทาง

ที่มา :  แนวหน้า


เลเซอร์ดูแลผิวพรรณ ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทาง thaihealth


แฟ้มภาพ


สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนคนรักสวยรักงาม การเลือกใช้เลเซอร์ในการดูแลผิวพรรณหรือรักษาโรคผิวหนัง ควรรู้จักชนิดของเลเซอร์และเลือกใช้ให้เหมาะกับปัญหา สำคัญสุดคือการทำเลเซอร์ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านเลเซอร์เท่านั้น


ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยว่า ในปัจจุบันวิธีการนำเลเซอร์มารักษาโรคผิวหนังและเสริมความงาม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยประเทศที่โดดเด่นด้านการรักษาด้วยเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี อิสราเอล เกาหลีและญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยนั้น แพทย์ผิวหนังของไทยได้นำวิธีการรักษาด้านเลเซอร์เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยเมื่อประมาณกว่า 20 ปีที่แล้ว ซึ่งวิทยาการเครื่องมือโดยส่วนใหญ่ ถูกคิดค้นมาจากฝั่งตะวันตก แต่เมื่อนำมาใช้กับคนเอเชียก็ไม่สามารถนำวิธีการหรือหลักการรักษามาใช้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเครื่องมือ บางอย่างไม่เหมาะสมกับผิวของคนไทยหรือผิวของคนเอเชีย ซึ่งบางครั้งเมื่อนำมาใช้แล้ว อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่น รอยคล้ำซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ


สำหรับการทำเลเซอร์ผิวหนัง สามารถแบ่งตามจากลักษณะแผล โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง ทำแล้วมีแผล หมายถึงพวกที่มีสะเก็ด ต้องรอสัก 7-10 วัน แผลถึงจะหลุด และสอง ทำแล้วไม่มีแผล แค่รู้สึกอุ่นๆ รู้สึกแปล๊บๆ ระหว่างทำ เสร็จแล้วก็ทำแล้วไม่มี สะเก็ด ไม่มีบาดแผล อาจเห็นเพียงรอยแดงเรื่อๆ และไม่ต้องทาครีมสมานแผล


นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งได้ตามชนิดของกลุ่มโรค 5  กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่ใช้เลเซอร์ที่ใช้พลังงานความร้อนไปทำลาย เนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง ยกตัวอย่าง เช่น กระเนื้อ ไฝธรรมดา หรือขี้แมลงวัน กลุ่มสอง เลเซอร์ที่ไปทำลายเม็ดสี หรือสีผิวที่ผิดปกติ เช่น คนที่เป็นกระแดด กระลึก หรือเป็นปาน สีเทาสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า ปานโอตะ เลเซอร์กลุ่มนี้ ยังสามารถเอาไปลบรอยสัก ยิงรอยสัก กลุ่มสาม เป็นกลุ่มที่รักษาเส้นเลือด ที่ผิดปกติ การที่คนเรามีเส้นเลือดที่ผิวที่ผิดปกติ มันทำให้เราเห็นผิวตรงนั้นนูนหรือแดงขึ้น หรือที่เราเห็นเป็นปานแดงหรือบางคนที่เป็นปาน สตรอเบอร์รี่ ที่เป็นก้อนแดงๆ นูนขึ้นมา พวกนี้ เราจะใช้เลเซอร์รักษาการผิดปกติของหลอดเลือด ขึ้นมารักษา เลเซอร์กลุ่มนี้ ก็สามารถรักษาเส้นเลือดฝอยที่หน้า หรือบางคนใช้เลเซอร์ กลุ่มนี้รักษาแผลเป็นนูน ไปทำลายท่อน้ำเลี้ยงของแผลเป็นนูน ให้แผลเป็นนูนฝ่อ กลุ่มสี่ กลุ่มเลเซอร์กำจัดขน ด้วยวิทยาการของเลเซอร์ สามารถรักษาไปทั่ว ทั้งบริเวณผิว แล้วแสงจะลงไปที่รากขนของมันเอง ไม่ต้องจี้ทีละเส้น เลเซอร์กลุ่มนี้สามารถทำให้ จำนวนเส้นขนลดลงไปในช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้าง ยาวหลังการยิงติดต่อกันหลายๆ ครั้ง และ กลุ่มห้า เป็นเลเซอร์กลุ่มปรับสภาพผิวชนิด ไม่มีแผล หรือเรียกว่าเลเซอร์กระตุ้นคอลลาเจน กลุ่มนี้นำไปใช้ในการรักษาริ้วรอย หรือกระชับรูขุมขนเป็นแบบที่ไม่มีแผล หลักการคือให้แสงลงไปที่หนังแท้ส่วนต้น เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนใหม่ เหมาะกับการลบริ้วรอยและรักษาแผลหลุมตื้นๆ


ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากงานวิจัย อีกเรื่อง A split scar comparison study of hypertrophic scar treatment with fractional laser vs. fractional laser-assisted topical corticosteroids delivery ผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับรางวัล Best Abstract Award ในงานประชุม วิชาการนานาชาติ 7 th  5-Continent-Congress for Lasers and Aesthetic Medicine ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เป็นงานวิจัย เรื่องของการใช้เลเซอร์รักษารอยนูน ซึ่งโดยปกติชาวตะวันตกเวลาเป็นแผล จะไม่ค่อยเป็น รอยนูนหรือเป็นคีลอยด์ แต่ในคนไทยหรือคนเอเชีย หรือคนผิวคล้ำ เวลาเป็นแผลมักจะนูนตามมา ซึ่งในอดีตการรักษาแผลนูนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การฉีดยาสเตียรอยด์โดยการใช้เข็มฉีดยาเข้าไป เพื่อให้ยาสเตียรอยด์ไปทำปฏิกิริยาให้เส้นเลือด ที่มาเลี้ยงแผลเป็นนั้นฝ่อ หรือลดการอักเสบ ของแผลเป็น ซึ่งมีข้อเสียหลายประการ เช่น เจ็บบริเวณแผลเป็น เพราะต้องปักเข็มทุกๆ 1-2 เซนติเมตร แล้วเดินยาไปเรื่อยๆ และต้องฉีด เดือนละครั้งติดต่อกันหลายเดือน


 "ในงานวิจัยนี้พบว่าเราสามารถใช้เลเซอร์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า แฟรคเชเนลเลเซอร์ (Fractional laser) ซึ่งใช้เลนส์พิเศษในการ บีบอัดลำแสงของเลเซอร์ ในเป็นจุดเล็กๆ เปรียบว่านำแสงเลเซอร์เจาะรูเล็กๆ ที่ผิวหนัง และก่อนที่จะทำการรักษาด้วยเลเซอร์ จะต้องทายาชา แล้วยิงเลเซอร์ไปที่บริเวณแผลเป็น รูเล็กๆ พวกนี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เส้น ผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 150-200 ไมครอน ซึ่งเป็น 1 ในพันของ 0.1 มิลลิเมตร มันเล็กมาก ข้อดีของการใช้เลเซอร์ชนิดนี้ คือเจ็บน้อยและไม่มีผลข้างเคียงของสเตียรอยด์เกิดขึ้น"


อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวเตือนว่า การรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย แต่ที่น่าเป็นห่วงสุด คือมีแพทย์ผู้รักษาถึง 95 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่รักษาเลเซอร์ผิวหนังโดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้ที่จะรักษาด้วยวิธีการทำ เลเซอร์ผิวหนังจะต้องใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบพิจารณาสถานพยาบาล และคลินิก ก่อนที่จะเข้ารับการรักษา

Shares:
QR Code :
QR Code