เลือกเนื้อหมูปลอดสารเร่งเนื้อแดง

ที่มา :  เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


เลือกเนื้อหมูปลอดสารเร่งเนื้อแดง thaihealth


แฟ้มภาพ


ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด มีอันตรายแตกต่างกัน โดยสามารถสังเกตเนื้อหมูที่มีสีชมพูอ่อนๆ เนื้อแน่น นุ่มเป็นมัน ไม่มีกลิ่นเหม็น


ข่าวการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายกับโรงฆ่าสัตว์ การอายัดสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ยังมีให้เห็นเป็นระยะๆ ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมปศุสัตว์ กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาดแล้ว


ในส่วนของประเทศไทย มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อน สารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta – agonists) กำหนดให้อาหารทุกชนิด ต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม Beta – agonists และเกลือของสารกลุ่มนี้ เช่น สาร Ractop จะมีเกลือคือ สารแรคโตพามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Ractopamine Hydrochloride) รวมถึงสารที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างและ/หรือสลาย (Metabolite) ของสารดังกล่าว เช่น Metabolite ของสาร Ractopamine ได้แก่ แรคโตพามีน กลูโคโรไนด์ (Ractopamine Glucoronide) และแรคโตพามีน ไดกลูโคโรไนด์ (Ractopamine Diglucoronide)


ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่ม Beta – agonists ผสมในอาหารสัตว์ทุกชนิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 เนื่องจากหากใช้เกินขนาดจะทำให้สัตว์อยู่ในสภาพถูกทรมานและส่งผลต่อผู้บริโภค


สารเร่งเนื้อแดงซึ่งมีอยู่หลายชนิด มีอันตรายแตกต่างกัน นอกจากซัลบูทามอลและแรคโตพามีน ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมใช้กันมากแล้ว เมื่อเร็วๆนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ออกมาระบุว่า มีการใช้สารซิปพาเทอรอล โดยนำสารไปผสมอาหารสำหรับเลี้ยงสุกรและโคขุน เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานจากไขมัน ลดการสะสมของไขมัน เพิ่มการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อ ในซากสุกรและโคขุน เพื่อให้มีเนื้อแดงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรในประเทศไทย ยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงอย่างแน่นอน เพราะผิดกฎหมาย


ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการสังเกตเนื้อหมู ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงสีของเนื้อมีสีแดงเข้ม เนื้อแห้งกว่าปกติ มีสัดส่วนที่เป็นมันประมาณ ร้อยละ 30 และมีเนื้อแดงประมาณร้อยละ 70 หากทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง เนื้อหมูที่สัมผัสอากาศจะมีสีเข้มกว่าเนื้อหมูที่เลี้ยงปกติ ดังนั้นการเลือกซื้อ จึงควรดูเนื้อหมูที่มีสีชมพูอ่อนๆ เนื้อแน่น นุ่มเป็นมัน ไม่มีกลิ่นเหม็น


"กินอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ" นอกจากผู้บริโภค ยุคใหม่ ต้องรู้เท่าทันอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงแล้ว ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาทั้งฟาร์มเลี้ยง โรงฆ่าสัตว์ รวมทั้งสังเกตจากเครื่องหมาย "ปศุสัตว์OK" ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองว่าไม่มีสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์

Shares:
QR Code :
QR Code