เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นสุขใน “ยุคดิจิทัล”
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แท็บเล็ต หรือ สมาร์ทโฟน เป็นสิ่งที่มักจะเห็นอยู่เป็นประจำเพื่อใช้เป็นเครื่องฆ่าเวลา จนบางครั้งเครื่องมือเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเราไปเสียแล้ว ยิ่งความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้น จนตามแทบไม่ทันและเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตและพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกเมื่อ ซึ่งหากพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ให้การดูแล และแนะนำอย่างใกล้ชิด ลูกน้อยก็มีสิทธิ์ที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้
“การสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกเติบโตอย่างเข้มแข็งในสังคมที่เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้หากใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ย่อมมีผลต่อลูก ทั้งด้านอารมณ์ และการเรียนรู้” อี้ แทนคุณ จิตต์อิสระ คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว (Single Dad) บอกเล่าถึงมุมมองการดูแลลูกชายวัย 8 ขวบ ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวมากความสามารถ ยังให้คำแนะนำผู้ปกครองที่มีลูกในวัยกำลังโตว่า พ่อแม่สามารถเป็นผู้สร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ และทักษะการดำเนินชีวิตให้กับลูกได้ โดยให้ความดูแลอย่างใกล้ชิด สอนให้เขาตระหนักถึงข้อดี และสิ่งที่ไม่เหมาะสมของการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งสื่อทางโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือแม้แต่รายการทางโทรทัศน์ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย หากเพิกเฉยปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อเหล่านี้เพียงลำพังโดยขาดคำแนะนำ จะทำให้เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านี้มากจนเกินไป และยังทำให้ปฏิสัมพันธ์ด้านการสื่อสารระหว่างคนในครอบครัว และคนรอบข้างลดลง เป็นเหตุให้การสนทนาน้อยลงไปด้วย
ไม่เพียงแต่สร้างความตระหนักให้ลูกใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเท่านั้น ผู้ปกครองเองก็ควรตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังทั้งภาวะด้านอารมณ์ที่เด็กยังขาดการควบคุมที่ดี หรือขาดสมาธิในการเรียนรู้ ถ้าหากปล่อยให้ลูกใช้เทคโนโลยีอย่างเกินขอบเขต
“ผมแบ่งสัดส่วนในการใช้เทคโนโลยีสำหรับลูก 10% ที่เหลือให้เขาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทำอยู่เป็นประจำคือ นำวัสดุต่างๆ มาประกอบเป็นของเล่น และกิจกรรมปั้นผ้าห่ม โดยให้เขาร้อยเรื่องราวด้วยตัวเอง กิจกรรมนี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างจินตนาการ และฝึกสมาธิไปในตัว นอกจากนั้นการสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงสื่อสร้างสรรค์ เช่น ดูภาพยนตร์หรือ การ์ตูนที่เขาสนใจ จากอินเทอร์เน็ต โดยเราสามารถคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกได้
ตัวเราสามารถเป็นสื่อที่ดี ในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านการสนทนาและคำแนะนำเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ต้องไม่ขัดต่อความสุขของลูก เพราะเมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบก็จะเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ได้อย่างเต็มที่และสิ่งสำคัญที่ปลูกฝังลูกอยู่เสมอคือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความมีเมตตาให้แก่คนรอบข้าง” อี้ แทนคุณ เล่าเสริม
ด้าน รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ ดีกรีคุณแม่มากประสบการณ์ ด้านการสอนหนังสือมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา กว่า 29 ปี ให้ความรู้ในการสร้างความสุขด้วยตนเองว่า ความสุขเป็นพื้นฐานที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งร่างกายสามารถหลั่งสารแห่งความสุขที่ชื่อว่า ‘เอ็นโดรฟิน (Endorphin)’ ที่เกิดจากการกระตุ้น เช่น การออกกำลังกาย การสมมุติเรื่องราวแห่งความสุข เพียงเท่านี้ความสุขก็เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันการใช้เทคโนโลยีในทิศทางที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ผู้ปกครองก็ควรตระหนักถึงการปลูกฝังให้ลูกรู้จักสร้างความสุขจากภายในด้วยตนเอง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ลูกในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต มากกว่าไปให้ความสำคัญกับความสุขภายนอกที่เกิดจากสิ่งยั่วยุทางวัตถุนิยม
ขณะที่ คุณพัฒน์พงษ์ ธนวิสุทธิ์ ผู้ใช้ธรรมะในการเลี้ยงลูก อธิบายถึงการนำหลักธรรมมาช่วยเสริมการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลว่า การเปลี่ยนผ่านของเครื่องมือทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยธรรมชาติของเด็กย่อมมีความอยากรู้อยากลองเป็นธรรมดา ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรปิดกั้นหรือห้าม เพราะเหมือนเป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ของลูก และต่อให้ห้ามเด็กย่อมหาหนทางและเข้าถึงจนได้ ดังนั้นควรให้คำแนะนำ ต่อการใช้อุปกรณ์และรู้เท่าทันเทคโนโลยีอย่างถูกวิธีด้วยทางสายกลาง โดยไม่เคร่งครัดมากจนเกินไป และไม่ละเลยจนหย่อนคล้อย
นอกจากนี้ การหาข้อตกลงร่วมกันโดยให้ลูกมีส่วนร่วม ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ลูกรู้สึกเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง เช่น หากลูกใช้เวลากับการใช้อินเทอร์เน็ตมากจนเกินความเหมาะสม ผู้ปกครองควรแบ่งเวลาอย่างชัดเจน และให้เขาเป็นผู้เลือกเวลาเอง และผู้ปกครองสามารถแนะนำวิธีใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ และเสริมสร้างปัญญาให้แก่ลูกไปพร้อมกันได้ด้วย
“ท่ามกลางยุคสมัยที่สิ่งรอบตัวถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อุปกรณ์เหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความสุขที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ แต่การสร้างความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในด้วยการบ่มเพาะจิตใจ และตระหนักรู้อย่างเหมาะสม เป็นการสร้างความสุขระยะยาวให้แก่ลูก และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” คุณพัฒน์พงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : แพรวพรรณ สุริวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต