เลี้ยงชีวิตด้วยการเกษตรอย่างมีความสุข
ที่มา : เว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สุขภาวะชุมชน
“2 งาน” พอเพียง เลี้ยงชีวิตด้วยการเกษตรอย่างมีความสุข หลายคนคงตั้งคำถามว่าพื้นที่เพียง 2 งานหรือ 200 ตารางวานะหรือจะสามารถทำเกษตรเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้ตลอดรอดฝั่ง
คำตอบคือ ได้ เป็นไปได้จริงและมีผู้ที่ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่าง คุณณรงค์ วิมา เกษตรกรในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
จากทัศนคติติดลบเกี่ยวกับการเกษตรครั้งวัยเยาว์ ที่ต้องเหน็ดเหนื่อย ช่วยพ่อแม่หาบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านหน้าบ้านเพื่อรดน้ำผักทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน และเคยถูกปล่อยไว้กลางทุ่งนา ต้องดิ้นรนหาข้าวหาปลากินเอง ทำให้คุณณรงค์ตัดสินใจเบนเข็มทิศของชีวิตเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อมุ่งหาความสบายและความร่ำรวย แต่กลับไปพบคำตอบว่าการไม่ได้อยู่ที่บ้านเกิดก็ไม่ทำให้ตัวเองร่ำรวยขึ้นเลย แถมต้องประสบกับปัญหาการโกง ทะเลาะวิวาท เสี่ยงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านหวนสู่อาชีพที่ใจตนเองปฏิเสธมาตลอด
“ผมมีที่ดินอยู่ 2 งาน ปกติพื้นที่น้ำท่วม แล้วมันก็เตียน เลยคิดว่าที่ว่างๆ มันน่าจะพอทำอะไรกิน ปลูกผัก ทำให้หลากหลาย เราก็น่าจะอยู่ได้ ก็เริ่มปลูกผัก”
เส้นทางอาชีพเกษตรกรของคุณณรงค์เริ่มต้นด้วยการเจอปัญหาเกี่ยวกับสารเร่งปุ๋ยหมัก แล้วต้องการหาทางแก้ไข หนทางชีวิตจึงผลักดันให้ได้ไปอบรมหมอดินอาสา จากนั้นมาก็กลับมาพัฒนาพื้นที่สองงานต่อด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกแต่ชะอมอย่างเดียว ขายดิบขายดี เพื่อนเกษตรกรเห็นจึงนำไปปลูกบ้าง จนผลผลิตชะอมล้นตลาด ชะอมขายไม่ได้ คุณณรงค์คิดใหม่ หันมาปลูกพืชผักสวนครัวให้หลากหลายขึ้น ไม่รู้อะไรก็นำตัวเองไปอบรม ในโครงการของ อบต. แล้วนำมาประยุกต์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ปลูกทั้งไผ่ ทำเตาถ่าน ส่งโครงงานเข้าประกวด ได้รางวัลมากมายและได้รับเลือกเป็นปราชญ์เกษตรในที่สุด
ปี 2554 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาสนับสนุนให้เป็นตำบลสุขภาวะ อบต.ท่างามจึงได้ทำการสำรวจข้อมูลในชุมชน เพื่อคัดเลือกแหล่งศึกษาดูงานของอบต. พื้นที่การเกษตรของคุณณรงค์จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้บ้านพอเพียงจากนั้นเป็นต้นมา
“ตำบลสุขภาวะไม่ได้ให้ความรู้ แต่ป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พาไปดูงานของตำบลอื่นที่เขาอยู่ในตำบลสุขภาวะ ที่ดัง ที่เด่น ไปเรียนรู้ของเขา เขาก็มาเรียนรู้ของเรา เรียนรู้รูปแบบการบริหารจัดการในพื้นที่ ไปดูว่าเขาบริหารอย่างไร ขายอย่างไร ตั้งกลุ่มกันอย่างไร แล้วเอามาปรับใช้ในพื้นที่ของเรา”
ทุกวันนี้บ้านพอเพียง มีทุกอย่างที่กินบ่อยใช้บ่อย ทั้งน้ำหมัก ปุ๋ยชีวภาพ พริก โหระพา พืขผักที่หมุนเวียนออกทั้งปี ขายได้ทุกวัน เป็นการเก็บเบี้ยใต้ถุนล้าน มีบริหารจัดการเรื่องการเงิน โดยคุณณรงค์จะจัดสรรเงินจากการหาปลา ค่าวิทยากร ขายเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ เป็นเงินออม ส่วนเงินค่าขายพืชผักจะนำไว้จ่ายในชีวิตประจำวัน
“เราใช้สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์ เรามีท้องฟ้า มีอากาศเหมือนกัน ผมมีแม่น้ำอยู่ใกล้ ก็หาปลาขาย”
“พอดี พอประมาณ สร้างภูมิคุ้มกัน ยึดตรงนี้มา มีปัญหา รู้จักแก้ไข สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ใครทำไม่สำเร็จ ยังไม่รู้ ต้องทำ มันจะเข้าใจถ่องแท้”
“การทำเกษตรมันเหนื่อย ต้องใช้ความอดทนเยอะ ขยันเรียนรู้ เพื่อมาปรับรุงตลอด ไม่งั้นจะตกยุค ตามสมัยให้ทัน ให้มีความก้าวหน้า ความเจริญขึ้น ถ้าท้อตัวท้อจะรุกเราทันที อะไรไม่เข้าใจตรงไหน อย่าปิดกั้นตัวเอง ออกไปถามคนอื่นที่เขาประสบความสำเร็จ เขามีแบบเรียนรู้ให้มากมาย การเป็นเครือข่ายสำคัญ”
ประสบการณ์จากการกระโจนเข้าสู่ปัญหาและแก้ไขทุกเรื่องให้จบบนวิถีทางของตนเอง คือบทเรียนสำคัญในการก้าวเดินอย่างมั่นคงในอาชีพเกษตรกรของคุณณรงค์ วิมา คือภูมิคุ้มกันที่เป็นเกราะแน่นหนาของครอบครัวคือหนทางแห่งความสุขอย่างพอเพียงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ก่อนที่เกิดปัญหาให้เราได้เรียนรู้ สิ่่งสำคัญคือการ “ลงมือทำ”