เลี่ยงกิจกรรมขาดสมาธิในการเดินทาง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปภ.แนะขับรถมีสติ-เลี่ยงกิจกรรมขาดสมาธิ…เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนกิจกรรมที่ทำให้ขาดสมาธิในการขับรถ ดังนี้ คุยโทรศัพท์มือถือ สมาธิของผู้ขับขี่จะอยู่กับบทสนทนาทางโทรศัพท์ จึงส่งผลต่อความสนใจสภาพแวดล้อม ไม่สามารถจำรายละเอียดเส้นทาง ป้ายจราจร และป้ายบอกทางได้ โดยเฉพาะหากใช้มือถือโทรศัพท์ จะเหลือมือจับพวงมาลัยเพียงข้างเดียว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ซึ่งการสนทนาทางโทรศัพท์โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 5 เท่า ใช้โทรศัพท์มือถือ ผู้ขับขี่ต้องก้มหน้าดูโทรศัพท์ พร้อมใช้ปลายนิ้วสัมผัสเพื่อเลื่อนหน้าจอ พิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบทางโทรศัพท์ ทำให้ต้องละสายตาจากเส้นทาง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ ซึ่งการพิมพ์หรืออ่านข้อความทางโทรศัพท์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 23 เท่า
รับประทานอาหาร แม้จะเป็นขนมขบเคี้ยวก็ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิได้ เนื่องจากผู้ขับขี่จะเหลือมือจับพวงมาลัยเพียงข้างเดียว ประกอบกับความมันของอาหารและมือที่เปื้อนเศษอาหาร ทำให้จับพวงมาลัยไม่ถนัด จึงส่งผลต่อการบังคับทิศทางและประสิทธิภาพในการขับรถ แต่งหน้า สุภาพสตรีมักแต่งหน้าหรือหวีผมในช่วงที่สภาพการจราจรติดขัด หรือรถจอดติดสัญญาณไฟ หากเผลอปล่อยเท้าจากแป้นเบรก จะพุ่งชนรถคันหน้า ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
ค้นหาหรือหยิบของ ผู้ขับขี่ต้องเอื้อมมือ และเอี้ยวตัว รวมถึงละสายตาจากเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงที่การจราจรติดขัดหรือจอดติดไฟแดง หากเผลอปล่อยเท้าจากเบรก อาจพุ่งชนรถคันหน้าได้ การค้นหาหรือหยิบของในขณะขับรถ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 0.5 เท่า ดูโทรทัศน์ แสงสว่าง เสียง และภาพที่เคลื่อนไหว จะดึงดูดผู้ขับขี่ให้ละสายตาจากเส้นทาง การเปลี่ยนช่อง ปรับเพิ่มหรือลดเสียง จะรบกวนสมาธิในการขับรถของผู้ขับขี่
ฟังเพลง การเปิดเพลงจังหวะเร็ว ๆ อาจรบกวนสมาธิในการขับรถ อีกทั้งการเปิดเพลงเสียงดังยังทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้ยินเสียงจากภายนอก หากเกิดสิ่งผิดปกติกับรถ หรือรถคันอื่นบีบแตรเตือน จะไม่สามารถแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้ พาเด็กโดยสารรถตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจปีนป่ายหรือรื้อของในรถ ทำให้ผู้ขับขี่ต้องละสายตาจากเส้นทาง พะวงกับการดูแลและสังเกตพฤติกรรมเด็ก จึงส่งผลต่อสมาธิในการขับรถ ซึ่งการนำเด็กเล็กโดยสารรถตามลำพัง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4 เท่า อุ้มเด็กนั่งตักขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่บังคับพวงมาลัยไม่ถนัด อีกทั้งเด็กอาจนั่งบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง โดยเฉพาะหากเด็กแย่งพวงมาลัย หรือเลื่อนเกียร์ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ
การนำเด็กทารกโดยสารรถ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 8 เท่า.