ข้อมูลจาก กิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง
ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

ความรุนแรงในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเกิดในรูปแบบครอบครัว คนรัก ทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต นับเป็นเรื่องชวนสลด หดหู่หัวใจ กระบวนการ “หยุด” และ “ยุติความรุนแรง” เริ่มได้จากตัวเรา เพียงแค่ก้าวข้ามความสัมพันธ์ เลิกให้โอกาสครั้งที่ 2 กับ ความรุนแรง ก่อนที่ความรุนแรงนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต
เหมือนเช่นเรื่องราวชีวิตของ น้องจีจี้ สุพิชชา เน็ตดอลชื่อดัง วัย 20 ปี ที่ถูกแฟนหนุ่มทำร้ายจนเสียชีวิต ชีวิตจบลงไปพร้อมกับความฝัน ความหวัง ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น คนรอบข้าง ใกล้ชิด ได้แต่เสียดาย หากก้าวออกจากความสัมพันธ์ครั้งนั้น
อุทาธรณ์ของ “น้องจีจี้ สุพิชชา” จึงถูกนำมาถ่ายทอดเป็นคลิปวิดิโอ ในแคมเปญ “Bring Back 2nd Chance of Life” ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ร่วมกับครีเอทีฟใช้เทคนิค Deepfake AI ปลอมแปลงข้อมูล ประมวลผล เคลื่อนไหวทางกายภาพ ลักษณะใบหน้า หรือแม้กระทั่งเสียง สร้างภาพและเสียงปลอมของน้องจีจี้ ให้โอกาสน้องจีจี้ กลับมาชีวิตอีกครั้งเพื่อทำตามฝัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดง หรือ ร้องเพลง
นายทสร บุณยเนตร หัวหน้าครีเอทีฟ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า การถ่ายทอดเรื่องราวของน้องจีจี้ ด้วยตัวเองผ่าน AI กับสิ่งที่อยากทำ นี่คือสิ่งที่จะทำให้สังคมฉุกคิด หากก้าวข้ามความรุนแรงไปจะได้พบเจอกับอะไร ดังนั้น “เลิกให้โอกาสที่ 2 กับ ความรุนแรง”
“เทคนิคการสร้างน้องจีจี้กลับมาชีวิตใช้ เทคนิค Deepfake AI จากรูปและคลิปของน้องจีจี้ กว่า 4,000 รูป ประมวลผลร่วมกับบุคคลใกล้ชิด “น้องมินนี่” น้องสาวของจีจี้ ที่มีโครงหน้าคล้าย สร้างจีจี้เพื่อบอกว่า หากไม่ให้โอกาสที่ 2 กับคนที่ทำร้ายเรา แต่ให้โอกาสตัวเองจะมีชีวิตอย่างไร” นายทสร กล่าว
น.ส.ชนกนันท์ ปรีดาเจริญ หรือ มินนี่ น้องสาวของจีจี้ กล่าวว่า ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ เพราะอยากให้ ทั้งผู้หญิง หรือ ชาย ออกมาจากความสัมพันธ์ที่ถูกทำร้าย อย่าคิดว่าไม่สามารถอยู่ไม่ได้ลำพัง ยังมีมูลนิธิ หรือหน่วยงานอื่นคอยช่วยเหลือ และทุกคนควรเลือกให้โอกาสกับบางเรื่อง ที่ไม่ใช่ความรุนแรง เพราะไม่เช่นนั้น โอกาสที่ให้ไปจะย้อยกลับมาทำร้ายตัวเอง
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้กับครอบครัว รักกันต้องไม่ทำร้ายกัน คุณแม่เตือนเสมอ หากมีความรักและมีสัญญาณเริ่มทำร้าย ให้รีบออกมา ส่วนตัวไม่เคยเจอ แต่ถ้าเจอจะออกมาแน่นอน จะไม่ทนอยู่ให้เลยเถิด พูดจารุนแรงอาจอภัยกันได้ แต่ ตบ-ตี-ต่อย-ขู่ เริ่มมีสัญญาณแล้ว ควรรีบออกมา” น.ส.ชนกนันท์ กล่าว
สอดคล้องกับ น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว แบ่งเป็น 5 ประเภทข่าว ได้แก่
1.ทำร้ายกัน 433 ข่าว คิดเป็น 39.9% เป็นเรื่องระหว่างสามี-ภรรยามากที่สุด 152 ข่าว คิดเป็น 35.1% พ่อ-แม่-ลูก 108 ข่าว คิดเป็น 24.9% คู่รักแบบแฟน 102 ข่าว คิดเป็น 23.6% เครือญาติ 71 ข่าว คิดเป็น 16.4% สาเหตุเพราะหึงหวง ง้อขอคืนดีไม่ได้ โมโห บันดาลโทสะ
2.ฆ่ากัน 388 ข่าว คิดเป็น 35.7% เกิดขึ้นในคู่สามี-ภรรยา 168 ข่าว คิดเป็น 43.3% เครือญาติ 94 ข่าว คิดเป็น 24.2% คู่รักแบบแฟน 64 ข่าว คิดเป็น 16.5% พ่อ แม่ ลูก 59 ข่าว คิดเป็น 15.2% และฆ่ายกครัว 3 ข่าว คิดเป็น 0.8% สาเหตุเพราะหึงหวง ตามง้อไม่สำเร็จ บันดาลโทสะ โมโหที่ถูกบอกเลิก ขัดแย้งเรื่องการเงิน
3.ฆ่าตัวตาย 213 ข่าว คิดเป็น 19.6% โดยผู้ชายเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 140 ข่าว คิดเป็น 65.7% ผู้หญิงเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 68 ข่าว คิดเป็น 31.9% และ lgbtq+ฆ่าตัวตาย 5 ข่าว คิดเป็น 2.4% สาเหตุเพราะน้อยใจคนรัก เครียดปัญหาหนี้สิน ตกงาน ป่วยจากโรคซึมเศร้า
4.ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 46 ข่าว คิดเป็น 4.2% โดยเกิดระหว่างเครือญาติ พ่อเลี้ยงทำกับลูกเลี้ยง ที่น่าตกใจคือพ่อทำกับลูกแท้ ๆ ถึง 11 ข่าว คิดเป็น 23.9%
5.ความรุนแรงในครอบครัวอื่น ๆ จำนวน 6 ข่าว คิดเป็น 0.6%
“ผู้หญิงเมื่อถูกใช้ความรุนแรงเป็นเวลานานก็จะมีการโต้กลับ จนกระทั่งวันหนึ่งผู้หญิงก็ใช้ความรุนแรง จะเห็นได้ว่าสถิติการฆ่ากันในภรรยาฆ่าสามีก็เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันในคู่รักแบบแฟน ที่ไม่ได้แต่งงาน ในกลุ่มอายุ 20-30 ก็มีการฆ่ากัน สาเหตุมาจากความหึงหวงคล้ายสามีภรรยา” น.ส.อังคณา กล่าว
ด้าน นางนัฏญา วรชินา ผอ.กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า การหยุดความรุนแรงในครอบครัว ไม่ควรรอให้เกิดเหตุกับร่างกายก่อน แต่จริงๆ แล้ว ควรเริ่มหยุดตั้งแต่ คำพูด ที่ทำร้ายจิตใจ เพราะคำพูดมองไม่เห็นเป็นบาดแผล แต่บาดลึก หรือแม้แต่ความเงียบในครอบครัว ก็เป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น ควรเริ่มการพูดคำดี ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ดี ไม่ว่าจะเป็นเหนื่อยไหม เป็นกำลังใจให้นะ คนเรามักละเลยกับคนใกล้ตัว คนรักกลายเป็นคนรับอารมณ์
ส่วนการเดินหนีออกจากความสัมพันธ์รุนแรง ต้องมาจากมีพลังข้างใน คือความกล้า ที่จะก้าวออกมา อาจไม่ต้องทันที ถามตัวเองก่อนเราพร้อมหรือยัง หากพร้อมเดินออกมาเลย เพราะหากไม่พร้อมฝืนออกมา จะอาจกลับไปเจอวังวนซ้ำ และกลายเป็นความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกการกระทำรุนแรง ไม่ควรให้โอกาสที่ 2 แต่ผู้ถูกกระทำต้องให้โอกาสกับตัวเอง การไม่โอกาสกับคนที่ทำร้าย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะบางคนซึมซับความรุนแรงตั้งแต่เด็กจนชิน บางคนกระทำรุนแรงเพราะเจ็บป่วย หรือมีความก้าวร้าวจากพันธุกรรม และบางคนอาจถูกปลูกฝัง ความรุนแรงต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง แต่ต้องมีวิธีการจัดการกับความรุนแรง
ความรุนแรงต้องมีผู้จัดการ หาวิธีหยุด หากกระทำด้วยวาจา ยังเป็นสิ่งที่เตือนกันได้ แต่กระทำต่อร่างกาย ตบ-ตี -ชก-ต่อย ต้องดูความสัมพันธ์ระดับไหน เพื่อน คู่รัก สามีภรรยา ต้องประเมิน และต้องมีกติกา เพื่อหยุดกระทำในครั้งถัดไป หรือจำเป็นอาจต้องมีคนกลางเป็นตำรวจ
“คนที่กระทำรุนแรงไม่ถูกลงโทษ ก็จะกลับมากระทำผิดซ้ำอีกได้ หรือ คนกระทำรุนแรง เป็นคนที่ถูกกระทำพึ่งพา เช่นสามีภรรยา เรื่องนี้ต้องมีหน่วยงาน สถาบันครอบครัว เข้ามาช่วยเหลือเพื่อใช้กลไก แยกคนถูกกระทำออก ไม่ให้เกิดกระทำรุนแรงซ้ำ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
บาดแผลจากคนรักทำร้ายด้วยความรุนแรงทางกาย ยุติได้ด้วยตัวเรา เริ่มจาก “เลิกให้โอกาสความรุนแรงครั้ง 2” และคืนโอกาสให้ตัวเอง ขณะเดียวกัน สังคมต้องไม่มองเรื่องการถูกกระทำรุนแรงเป็นเรื่องปกติ เพื่อไม่บ่มเพาะส่งต่อความรุนแรงต่อไป