เลิกเหล้า ออมเงิน
เรื่องจริงจากบ้านเลิงเปือย ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
การเลิกเหล้าออมเงิน คือ นวัตกรรมทางความคิดสำหรับแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับหมู่บ้านชุมชน เป็นกระบวนการรณรงค์สุขภาพแบบองค์รวม สอดคล้องกับวิถีชีวิตในหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่มีการดื่มกันมาก การดื่มอาจถึงขั้นนำไปสู่ความหายนะของครอบครัว
ส่วนหนึ่งก่อให้เกิดค่านิยมและแบบแผนการดื่มของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและมีรายได้น้อยที่ดื่มจนเกิดภาระหนี้สิน สุขภาพทรุดโทรมและยากจนในที่สุด หากชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด ด้วยกระบวนการรณรงค์เลิกเหล้าร่วมกับส่งเสริมให้เปลี่ยนเงินค่าเหล้าเป็นเงินออมก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั้งยืน เช่น กรณีศึกษาเชิงคุณภาพของหมู่บ้านเลิงเปือย ซึ่งเริ่มจากเครือข่ายหมออนามัย ได้เข้าไปรณรงค์แบบมีส่วนร่วมกับผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และพระสงฆ์ในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องทำให้นักดื่ม 114 คนสมัครใจลงชื่อและปฏิญาณตนต่อพระสงฆ์เพื่องดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2546 ต่อมาได้เกิดเวทีประชาคมงดเหล้าของชาวบ้านขึ้น ได้นำประเด็นการรณรงค์งดเหล้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจนกลายเป็นวาระของชุมชนที่จะช่วยเหลือผู้ติดเหล้าให้สามารถเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาด โดยประสานความร่วมมือจากภาครัฐ พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำชุมชน ด้วยกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านโดยสนับสนุนการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น จัดกิจกรรมค่ายครอบครัวเลิกเหล้า เดินรณรงค์ในหมู่บ้าน มอบรางวัลแก่ผู้ที่งดเหล้าได้ครบ 3 เดือน ออกเยี่ยมให้กำลังใจผู้งดเหล้าที่บ้านทุกเดือน จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เลิกเหล้าแก่กลุ่มผู้งดเหล้า ทำให้ผู้ติดเหล้าอย่างหนัก จำนวน 23 คน (20.2%) สามารถงดเหล้าได้ครบ 3 เดือน ซึ่งต่อมากลุ่มงดเหล้าเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้นำด้านรณรงค์งดเหล้าในหมู่บ้าน มี 3 คนที่กลับเป็นผู้ที่มีบทบาทาต่อการรณรงค์งดเหล้าในหมู่บ้านคือ นายเฮีย ทองคำ ผู้ที่ดื่มอย่างหนักจนไม่มีบ้านอยู่อาศัย ครอบครัวแตกแยก ไม่มีแม้กระทั่งบัตรประจำตัวประชาชน นายพล บุญสาร หลังจากเลิกเหล้าแล้วได้พลิกบทบาทตัวเองเป็นพญายมทูตเตือนใจนักรณรงค์งดเหล้าในหมู่บ้าน และนายบุญหนา ขาวหนู ผู้ที่ชอบทำร้ายภรรยาเวลาเมา ได้กลายเป็นแกนนำจัดตั้งชมรมปลอดสุราวัดป่าแสงอรุณ และคณะกลองยาวเลิกเหล้าเลิกจน ขณะที่ชุมชนได้ให้ความช่วยเหลือจนทำให้นายเฮีย ทองคำ มีบัตรประจำตัวประชาชนในเวลาต่อมา การรณรงค์งดเหล้าได้ขยายไปสู่วิถีชีวิตชุมชนตามเทศกาลต่างๆ มากขึ้น เช่น วัดปลอดเหล้า งานปีใหม่ปลอดสุรา สงกรานต์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นต้น มีผู้ตัดสุราเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเพิ่มมากขึ้น ปัญหาในหมู่บ้านหลายอย่างลดลง เช่น อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท เป็นต้น
เมื่อปี 2549 เวทีประชาคมงดเหล้าของหมู่บ้านชูประเด็นเลิกเหล้าเลิกจน โดยนำแบบแผนการดื่มของชาวบ้านมาศึกษาพบว่า ชาวบ้านที่ติดสุรามักจะดื่มเป็นก๊งๆ ละ 5 บาท เช้าเห็นเป็นประจำทุกวัน หากสามารถงดเหล้าแล้วเปลี่ยนค่าเหล้าเป็นเงินออม ก็จำนำไปสู่การแก้ไขแนวคิดการรณรงค์ ออมเงินวันละ 3 บาท เลิกเหล้าเลิกจนขึ้น เปลี่ยนเงินค่าเหล้า 5 บาท เก็บออม 3 บาท ใช้ในครอบครัว 2 บาท และได้จัดทำขวดเหล้าขนาดใหญ่ตรงทางเข้าหมู่บ้านและกระบอกไม้ไผ่เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดดังกล่าว ใช้วิธีเดินรณรงค์รับสมัครการเข้าร่วมโครงการฯ แบบเคาะประตูบ้านที่มีผู้ดื่มในช่วงเข้าพรรษา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 999 คน มีเงินเก็บรวมกันภายในเวลา 3 เดือน ได้มากกว่า 200,000 บาท ต่อมาชุมชนได้ประสานงานให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ที่หมู่บ้านทุก 3 เดือน ปัจจุบันผู้ที่เลิกเหล้าเหล่านี้มีเงินฝากรวมกันมากกว่า 420,000 บาท และได้ขยายแนวคิดนี้ไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาเครือข่ายเหล่านี้ได้จัดตั้ง “ตลาดสร้างสุข–เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นสถานที่ให้เครือข่ายนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนไปขาย และออมเงินที่ได้ไปฝากทุก 3 เดือน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการรณรงค์สุขภาพแบบองค์รวม จนกลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบเลิกเหล้าออมเงิน อันจะนำไปสู่นวัตกรรมเลิกเหล้าเลิกจนได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
ที่มา : ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
update : 05-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่