“เลิกเหล้าเพื่อลูก” ดื่มมา 25 ปียังหยุดได้
“เลิกเหล้าเพื่อลูก” ดื่มมา 25 ปียังหยุดได้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ.จับมือกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือสคล.ทำโครงการ “รวมพลังแม่ผู้ชนะ ปกป้องลูกจากภัยน้ำเมา” เนื่องในโอกาส 2,600 ปี พุทธชยันตี เฟ้นหาตัวอย่างแม่ผู้ชนะยอมเลิกเหล้าเพื่อลูก และแม่ที่สามารถสอนลูกให้ห่างไกลเหล้าและยาเสพติดได้ มารับรางวัลและรับการยกย่องเชิดชู หวังกระตุ้นให้คุณแม่เห็นคุณค่าตัวเอง ด้วยความเชื่อที่ว่า แม่จะเป็นผู้ปกป้องลูกๆ ได้ดีสุดในโลกที่ภาคธุรกิจเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงซึ่งรวมถึงธุรกิจน้ำเมาด้วย ลภสกนกนนท์ ปัญญานะ อายุ 50 ปี จากจังหวัดแพร่ เป็นแม่ตัวอย่างที่ยอมเลิกเหล้า เพื่อลูกทั้งๆ ที่ติดเหล้ามากว่า25 ปี
“เริ่มกินเหล้าตั้งแต่แต่งงาน เพราะสามีเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำชุมชนต้องออกงานบ่อย งานไหนงานนั้นต้องมีเหล้าออกงานบ่อยๆเข้า กินหนักๆ เข้า สามีก็กลายเป็นคนติดเหล้า ตัวเองก็ดื่มหนักมากขึ้น ถึงไม่ได้ไปไหนก็ตั้งวงกินกันเองเกือบทุกวัน ค่าเหล้าเดือนหนึ่ง คิดแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท ตกปีหนึ่งก็หลายบาท เพราะปีหนึ่งจะเว้นเหล้าอยู่ 3 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น”
จุดผกผันของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อวันแม่ปีนี้ ลภสกนกนนท์ เล่าว่า ลูกสาวคนเล็กเขียนจดหมายวันแม่มาให้ ขอให้พ่อกับแม่เลิกเหล้า “ลูกสาวเขียนว่า ให้เอาเงินค่าเหล้าไปส่งลูกเรียนดีกว่า แล้วเอาเวลาที่นั่งดื่มเหล้ามาให้ความอบอุ่นกับลูกๆ”
จดหมายฉบับนี้ทำให้ ลภสกนกนนท์ ได้คิดก่อนหน้านั้นหมดค่าเหล้าไปเท่าไหร่สามีจะสุขภาพทรุดโทรมขนาดไหน ก็ไม่ทันฉุกคิดว่าเป็นเพราะการดื่มเหล้า และถึงเวลาแล้วที่เราควรเลิกเหล้า ทั้งคู่ตัดสินใจหักดิบ เลิกดื่มเหล้าเด็ดขาด หลังเลิกเหล้าแล้ว ลภสกนกนนท์ บอกว่า ชีวิตครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น ได้ออกไปทำกิจกรรมดีๆ นอกบ้าน อย่างเช่น ยกครอบครัว 5 คน พ่อแม่ลูกไปปลูกป่าให้พระราชินี ทั้งยังมีเวลาพูดคุยกับลูกๆ มากขึ้น
ขณะที่ หมิว นักเรียน ชั้น ม.6 จาก จ.ชุมพร ก็มีประสบการณ์ทำนองเดียวกันเธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเยาวชนสีขาว ของโรงเรียนเพื่อเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลให้หมิวเปลี่ยนจากแกะดำในห้องเรียนมาเป็นคนที่เพื่อนๆ และครูยอมรับได้
หมิว เล่าว่า เธอเป็นคนห้าวๆ เลยชอบคบเพื่อนๆ ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ตะลอนไปกับเพื่อนๆ ด้วย ซึ่งเพื่อนๆ ในกลุ่มก็มีทั้งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มติด ในที่สุดเพื่อนๆ ก็ชวนให้เธอรู้จักกับบุหรี่ แรกๆ ก็ปฏิเสธได้ แต่สุดท้าย หมิว ก็กลายเป็นนักสูบเมื่ออยู่ ม.4 เทอมปลาย เวลาอยู่โรงเรียน พวกเพื่อนๆ จะแอบไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำ หมิวก็จะตามไปสูบด้วยวันละประมาณ 2 ม้วน ไม่ได้ติด แต่ไม่คิดอะไร รู้สึกสนุกก็เลยสูบตามเพื่อนๆ
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมห้าวๆ ของหมิว ทำให้เพื่อนๆ ผู้หญิงไม่ชอบเธอ เพราะรู้สึกว่า หมิว เป็นตัวอย่างไม่ไดีที่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและคบหาเพื่อนผู้ชายในลักษณะคลุกคลีเกินไป แต่ช่วงที่ หมิว อยู่ม.5 นั้นรุ่นพี่ในโครงการเยาวชนสีขาวของโรงเรียนบุกเข้ามาหาเธอ บุกไปถึงบ้านเธอเพื่อขอให้เลิกบุหรี่
หมิว บอกว่า ตอนแรกก็ไม่สนใจความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ แต่สุดท้ายเขาบุกไปคุยกับแม่ พอแม่รู้ว่า หมิว สูบบุหรี่ ก็ร้องไห้ขอร้องไม่ให้ทำตัวอย่างนี้อีกประกอบกับ หมิวเริ่มเห็นความตั้งใจจริงของรุ่นพี่ จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่และเข้าร่วมโครงการเยาวชนสีขาว ช่วยทำกิจกรรมต้านยาเสพติดต่างๆ จนในที่สุดหมิว ซึ่งกลายเป็นที่รักของเพื่อนๆ ทุกเพศและเป็นที่ยอมรับของครูแล้วได้รับเลือกให้เป็นประธานโครงการเยาวชนสีขาวเมื่อเธออยู่ชั้น ม.5
รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร บอกว่า พลังของแม่จะเป็นผู้ปกป้องลูกได้ดีสุด ทุกวันนี้ธุรกิจน้ำเมา รุกเจาะตลาดผู้หญิงเพราะเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่มาก พยายามสร้างอิมเมจให้กับการดื่มสุรา ให้รู้สึกเป็นเรื่องของการเข้าสังคม สนุกสนาน เป็นสังคมมีระดับพร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลายเพื่อตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่ม อย่างเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรสหวานเพื่อตอบสนองกลุ่มดื่มสตรี
“ลำพังการสร้างจิตสำนึกไม่พอกับการรุกหนักของธุรกิจน้ำเมา ต้องมีการวมกลุ่มกับเครือข่าย ทำอะไรที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดค่ายให้แม่ลูกไปทำกิจกรรมต้านยาเสพติดร่วมกัน พร้อมสร่างผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งกับสุรา เป็นทางเลือกให้คนไม่ไปดื่มสุราเมรัย” รสนา กล่าวทิ้งท้าย