เลิกเหล้าเข้าพรรษา พาครอบครัวเป็นสุข

คำขวัญวันงดดื่มสุราแห่งชาติ

 

 เลิกเหล้าเข้าพรรษา พาครอบครัวเป็นสุข

          เนื่องในวันเข้าพรรษาปีนี้ ซึ่งจะเป็นวันครบรอบ 1 ปี แห่งวันงดดื่มสุราแห่งชาติ สืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศ โดยการประสานงานของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์เสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณากำหนดให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนงดดื่มสุราในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งจะเป็นการจุดประกายในการที่จะเลิกดื่มสุราตลอดไป

 

          เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติปีนี้ รัฐบาลได้มอบคำขวัญไว้ว่า “เลิกเหล้าเข้าพรรษา พาครอบครัวเป็นสุข” เพื่อเป็นการปลูกฝังค่านิยมของการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน พร้อมๆ กับรณรงค์ให้เยาวชนร่วมเชิญชวนให้พ่อแม่เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นลดปริมาณการดื่ม ลดความรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว

 

          ในปีนี้ประชาคมงดเหล้าจังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รณรงค์เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ โดยเน้นที่ครอบครัวเป็นสำคัญ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นลูก ภรรยา และพ่อแม่ มีส่วนสำคัญในการชักจูงให้เลิกเหล้าได้มากถึง 38%

 

          สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทำโครงการนำร่องในโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง โดยให้น้องๆ นักเรียนชักชวนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เลิกเหล้า รวมถึงสนับสนุนชุมชนให้รวมพลังกับเด็กรณรงค์เลิกเหล้ากว่า 50 โครงการ แล้วยังมีการจัดค่ายครอบครัวเลิกเหล้าจาก 4 ภาคทั่วประเทศ จำนวน 80 ครอบครัว

 

          นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนเป็นศูนย์เลิกเหล้าจำนวน 171 แห่ง เพื่อช่วยเหลือนักดื่มที่ต้องการลด ละ เลิก น้ำเมา และที่สำคัญมีศูนย์ให้คำปรึกษาเลิกเหล้าเพียงโทร. มาที่หมายเลข 0-2379-1020 ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00 – 16.00 น.

 

          สำหรับพุทธศาสนิกชน วันเข้าพรรษาถือเป็นวันที่สำคัญในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้า และคณะสงฆ์ซึ่งเดินทางและปฏิบัติธรรมในพื้นที่ต่างๆ ได้กลับอาวาสหรือที่พักเพื่ออยู่จำพรรษาปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นในเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายจะถือโอกาสดังกล่าวที่มีพระสงฆ์อยู่ประจำวัดไม่ไปไหนด้วยการทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน และงดเว้นจากอบายมุขต่างๆ โดยเฉพาะการทำผิดศีลข้อ 5 คือการดื่มสุรา ซึ่งเป็นต้นเหตุสู่การผิดศีลข้ออื่นๆ ตามมาจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

 

          จากสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2550 คนไทยถึง 10.3 ล้านคน เป็นผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยมีถึง 3.3 ล้านคน ที่ดื่มทุกวันหรือเกือบทุกวัน 

 

          ที่น่าตกใจในเด็กเยาวชนที่มีอัตราการดื่มประจำนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2539 ถึงร้อยละ 70 ถ้ารัฐและสังคมไม่ช่วยกันดูแลปัญหาการดื่มสุราคงจะมีคนรุ่นใหม่ติดแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ผลวิจัยยังชี้อีกว่า เหล้านำไปสู่การเจ็บป่วยกว่า 60 โรค และในปี 2549 มีผู้ป่วยจากการดื่มแอลกอฮอล์กว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมีตัวเลขอยู่ที่ 2.6 ล้านคน

 

          ที่สำคัญคือ สังคมไทยเกิดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมากขึ้น โดยมีเหล้าเป็นตัวการของปัญหา เห็นได้จากตัวเลขการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัด 297 แห่งในปี 2550 พบเด็กสตรีและผู้สูงอายุถูกกระทำทารุณเข้ารับบริการเกือบ 2 หมื่นราย

 

          ตอกย้ำด้วยสถิติของกองวิจัยและวางแผน สำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงเข้าแจ้งความดำเนินคดีการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาของมูลนิธิเพื่อนหญิงก็ชี้ว่าร้อยละ 70 – 80 ของชายนักดื่มมีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กทั้งทุบตี ทำร้ายและด่าทอ ส่งผลทางลบต่อจิตใจ

 

          ดังนั้นในวันงดดื่มสุราแห่งชาติที่รัฐบาลมอบคำขวัญในปีนี้ว่า “เลิกเหล้าเข้าพรรษา พาครอบครัวเป็นสุข” จะยิ่งเป็นการกระตุ้นและปลุกกระแสสังคมให้หันมาตระหนักถึงคุณค่าในการที่จะเลิกเหล้า ที่สำคัญคือ ให้ใช้วันเข้าพรรษาเป็นวันแรกที่หยุดข้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง และเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

 

          อย่างไรก็ตาม แม้วันงดดื่มสุราแห่งชาติจะเกิดขึ้นและเวียนมาครบรอบ 1 ปีแล้ว หวังว่าคงไม่งดดื่มสุราในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้น แต่ทุกคนจะช่วยกันรณรงค์ในการสร้างค่านิยมใหม่เพื่อลดปัญหาน้ำเมา ซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยในตอนนี้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 03-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code