“เลิกบุหรี่”ปรับชีวิตห่างไกลโรคร้าย

          /data/content/27067/cms/e_cdhijmqrxy58.jpg


          การสูบบุหรี่จะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมายและยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างที่ต้องรับควันบุหรี่มือสอง เพราะควันบุหรี่มีสารประกอบที่เป็นสารพิษและสารก่อมะเร็ง


/data/content/27067/cms/e_aehjptuw4789.jpg


          ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ  บอกว่า เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพอง โดยโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสูบบุหรี่ ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการเลิกบุหรี่


          ประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ บอกต่อถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับอัตราความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ว่า ต้องประกอบด้วย เป็นผู้ที่มีแรงจูงใจสูงในการเลิกบุหรี่ และมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง คือมีความพร้อมและมีความมั่นใจ ที่จะเลิกสูบบุหรี่ การสนับสนุนทางสังคม เช่น การไม่มีเพื่อนสูบบุหรี่ในช่วงเวลาเลิกบุหรี่ มีความหนักแน่นเอาจริงเอาจังในการให้คำปรึกษา โดยให้เวลาและเพิ่มจำนวนครั้งในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย การที่ผู้ให้คำปรึกษาประกอบด้วยบุคลากรหลายๆ ประเภท เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ทันตแพทย์ นักจิตวิทยา ทำงานร่วมกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความสำเร็จในการช่วยเลิกบุหรี่ การใช้โทรศัพท์ติดตาม และการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม เป็นรูปแบบที่ช่วยให้การทำโปรแกรมอดบุหรี่ประสบความสำเร็จ ในบางรายอาจมีการใช้ยาในการช่วยเลิกบุหรี่ โดยจะใช้ยาช่วยในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมกับผู้ติดบุหรี่แต่ละคน อย่างไรก็ตามการได้รับการสนับสนุนทั้งภายในตัวผู้ติดบุหรี่ และสังคมภายนอก มีผลอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ และคนรอบข้างควรให้กำลังใจในความพยายามเลิกบุหรี่ โดยการชี้ให้ผู้ติดบุหรี่ตระหนักว่า เขามีความสามารถที่จะเลิกบุหรี่ได้


/data/content/27067/cms/e_acgjstvx1367.jpg


          ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สมศรี บอกต่อว่า ปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ จากภาครัฐและบุคลากรด้านสาธารณสุข สามารถดำเนินการดังนี้ 1.จัดลำดับความสำคัญของการช่วยการเลิกบุหรี่ให้อยู่ในระดับต้นๆ 2.สนับสนุนให้ผู้ติดบุหรี่สามารถเข้าถึงบริการการรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ได้ 3.จัดให้มีคลินิก หน่วยให้คำปรึกษา และบำบัดรักษาการติดบุหรี่อย่างทั่วถึง 4.ประเมิน ติดตามผลการรักษาเพื่อสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และ5.การดำเนินมาตรการอื่นๆ ในการควบคุมยาสูบด้วย เช่น มาตรการทางกฎหมาย มาตรการด้านภาษี เพื่อที่จะลดโรคและลดอัตราการตายจากบุหรี่ได้ในที่สุด


/data/content/27067/cms/e_gijmpvwx1459.gif


          ประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ บอกทิ้งท้ายด้วยว่า การติดบุหรี่มีลักษณะเป็นโรคสมองติดสารเสพติดเช่นเดียวกับการติดสารเสพติดอื่นๆ ดังนั้นผู้ให้การรักษาต้องอธิบายให้ผู้ติดบุหรี่และต้องการเลิก เข้าใจถึงกลไกเหล่านี้ ให้ทราบเหตุผลที่ทำให้การเลิกบุหรี่ ในระยะแรกเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และความอยากบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งพฤติกรรมบำบัด ความมุ่งมั่นและความรู้สึกที่ดีต่อการเลิกบุหรี่ และในบางกรณีต้องใช้ยามาช่วยบำบัดอาการอยากบุหรี่ เพื่อทำให้ความสำเร็จในการเลิกบุหรี่อย่างถาวรได้ในที่สุด ทั้งนี้สามารถโทรขอคำปรึกษาฟรีได้ที่เบอร์ 1600 สายด่วนศูนย์บริการเลิกบุหรี่แห่งชาติ


 


          เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


          ข้อมูลประกอบจาก : รายงานแนวทางการรักษาและให้คำแนะนำ เพื่อเลิกบุหรี่สำหรับเภสัชกร โดยแพทย์หญิงวราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ และคณะ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต 

Shares:
QR Code :
QR Code