เร่งแก้ปัญหา “ไอคิว-อีคิว” หลังพบต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20%
ที่มา: ผู้จัดการ ออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต เร่งเพิ่มไอคิว-อีคิว เด็กปฐมวัยถิ่นที่สูง-ทุรกันดาร 10 จังหวัด ให้อยู่ในเกณฑ์สากลเท่าเด็กพื้นที่ปกติ หลังพบพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติร้อยละ 25 ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเด็กทั้งประเทศมากกว่าร้อยละ 20 เตรียมใช้มาตรการ “ 3 ปรับ 3 เพื่ม” กระตุ้นสร้างการมีส่วนร่วมครอบครัว ชุมชน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำทีมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เยี่ยมชมการดำเนินงานจัดบริการประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลของสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ( ตชด.)ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทยอนุสรณ์บ้านแสนคำลือ บ้านแอโก๋-แสนคำลือ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยในพื้นที่สูง ห่างไกล ให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ เตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 5 ขวบนั้น มีความสำคัญมากถือเป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงคุณภาพของสมองเด็กโดยเฉพาะระดับไอคิวและอีคิวที่ส่งผลไปจนถึงตลอดชีวิต ในปีงบประมาณ 2560 กรมสุขภาพจิตได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยในพื้นที่สูง ห่างไกล เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีสติปัญญาและอารมณ์อยู่ในเกณฑ์สากลเท่ากับเด็กพื้นที่ปกติ โดยดำเนินการในสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตชด.ซึ่งให้บริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลขั้นต้นแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร เริ่มในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจำนวน 5 แห่ง คือที่บ้านแสนคำลือ บ้านแอโก๋-แสนคำลือ ตำบลถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน , บ้านห้วยกุ๊ก ต.ปอ.อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย, บ้านผาแดง ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ , บ้านพะคะเซ ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และที่บ้านปอหมื้อ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมอบให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ดำเนินการ
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ผลการดำเนินการทั้ง 5 แห่ง พบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้ามากกว่าเด็กพื้นที่ปกติประมาณร้อยละ 25 ระดับสติปัญญาเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศมากกว่าร้อยละ 20 สาเหตุที่เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เกิดมาจากการขาดทักษะการเลี้ยงดู วัฒนธรรมบางชนเผ่าจะให้พี่ช่วยเลี้ยงน้อง เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงานในไร่ บางชนเผ่าให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงและเลี้ยงแบบตามใจ บางชนเผ่าที่เริ่มมีไฟฟ้าใช้ ก็เริ่มให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ และเริ่มมีปัญหาเด็กติดโทรศัพท์ ส่งผลให้เด็กไม่ถูกกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กรวมทั้งความอบอุ่นผูกพันระหว่างกันลดลง เป็นเรื่องที่ต้องเร่งส่งเสริมแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ในปี2561นี้ จึงได้ขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมสุขศาลาพระราชทานฯที่มีทั้งหมด 20 แห่งทั่วประเทศใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน น่าน กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และนราธิวาส โดยจะพัฒนาคุณภาพงานพัฒนาการเด็กในสุขศาลาพระราชทานตามเกณฑ์การรับรองคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน พัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งเจ้าหน้าที่สุขศาลา ผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อสม. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานทุกสุขศาลา และติดตามประเมินผลทั้งสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์นักเรียนประถมศึกษาตอนต้นด้วย
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่สุขศาลาพระราชทานฯทั้ง 5 แห่ง ได้ใช้กระบวนกลุ่มเข้ามาช่วยทั้งกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง และกลุ่มเด็กทั้งหมดในหมู่บ้าน ซึ่งเด็กจะเข้าใจภาษาชนเผ่าได้ดี โดยได้ปรับใช้เครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่ใช้กับเด็กพื้นราบ และเพิ่มกลยุทธ์เสริม 3 ปรับ 3 เพิ่ม เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสการพัฒนามากที่สุด โดย 3 ปรับ คือ ปรับจากการฝึก/ออกคำสั่งให้เด็กทำ เป็นการ“เล่น” กับเด็ก ปรับจากการฝึกเด็กมาเป็น“ฝึกพ่อแม่” และปรับจากการฝึกรายบุคคล เป็นการทำ“กลุ่มครอบครัว” ช่วยให้ดูแลเด็กได้เพิ่มขึ้น ส่วน 3 เพิ่ม คือเพิ่มการสร้าง“ความฉลาดทางอารมณ์และความผูกพันในครอบครัว” เพิ่มการสร้าง “วินัยเชิงบวก” และเพิ่มการสร้าง“ทักษะและทัศนคติของผู้ปกครอง” ในการเลี้ยงลูก โดยไม่ตามใจทำแทนลูกทุกอย่าง หรือการโอ๋เอาใจลูก เนื่องจากจะทำให้เด็กขาดการกระตุ้นพัฒนาการ โดยหลังจากใช้กลยุทธ์ดังกล่าวกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัยร่วมกับครอบครัว 145 ครอบครัว พบว่าได้ผลดีมาก เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นกว่าเดิมสูงถึงร้อยละ 80
สำหรับที่บ้านแอโก๋ แสนคำลือ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีประชากรทั้งหมด 660 คน มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 25 คน พบว่ามีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 74 มีพัฒนาการล่าช้าอยู่ระหว่างการกระตุ้นด้วยเครื่องมือที่โรงพยาบาลชุมชน 5 คน ซึ่งหลังจากที่กรมสุขภาพจิตจัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการลงที่หมู่บ้าน พบว่าชาวบ้านและผ้นำชุมชนมีการตื่นตัวและให้ความร่วมมืออย่างดี เนื่องจากทุกคนต้องการให้เด็กมีคุณภาพ เรียนหนังสือเก่ง โดยในปี2561 อ.ปางมะผ้าได้นำรูปแบบตามกลยุทธ์ 3 เพิ่ม 3 ปรับ ไปขยายผลใช้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกตำบลด้วย