เร่งสปีด’วัคซีนเอดส์’ ชนิดทำลายพิษราบคาบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
"เอชไอวี" (HIV) เชื้อไวรัสร้ายทำให้คนติดกลายเป็น "โรคเอดส์" ตั้งแต่พบไวรัสร้ายตัวนี้ครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 70 ล้านคน แต่มีเพียง 32 ล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่ หมายความว่าชีวิตมนุษย์พ่ายแพ้ไวรัสตัวนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจจัดการเชื้อโรคตัวนี้มาตลอด โดย ความฝันสูงสุดไม่ใช่ผลิต "ยารักษา" แต่คือการค้นพบวิธีป้องกันขั้นสุดยอด.. "วัคซีนเอดส์"
ไวรัสเอชไอวี ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus (HIV) ช่วงแรกที่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ยังสามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป เพราะร่างกายยังมี "ภูมิคุ้มกัน" แต่ไวรัสจะค่อยๆ ทำลายภูมิคุ้มกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือน้อยจนมีอาการ "ภูมิคุ้มกันบกพร่อง" หรือกลายเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ หมายถึง "กลุ่มโรคอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม"(acquired immunodeficiency syndrome-AIDS) หากใครติดเชื้อเอชไอวีแต่ดูแลตัวเองอย่างดี พวกเขาก็ไม่กลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ แต่หลายคนสับสนเข้าใจผิดคิดว่า "คนติดเอชไอวีทุกคนเป็นโรคเอดส์"
ช่วง 25 ปีที่ผ่านมีการผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีออกจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ เป็นลักษณะของยาที่ออกฤทธิ์หยุดยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย ควบคู่ไปกับการผลิตยาต้านไวรัส หน่วยงานวิจัยและกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามทำวิจัย โครงการผลิตและทดลองวัคซีนเอดส์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังไม่สัมฤทธิผล เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์หลบซ่อนตัวเก่ง แต่มนุษย์ไม่ละความพยายาม นักวิทยาศาสตร์ระดับอัจฉริยะแข่งขันกันทำวิจัย ในที่สุดก็พบความก้าวหน้าครั้งสำคัญเมื่อช่วงปีที่ผ่าน…
เริ่มต้นจากทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา สถาบัน TheScripps Research Institute (TSRI) เมื่อปี 2015 ประกาศความสำเร็จหลังพัฒนาเทคนิคกระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อที่แข็งแรง เพื่อช่วยผลิตสารเคมีป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวีไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นการพัฒนาหลังทดลองกับ "ลิง" แต่ไม่ใช่เชื้อไวรัสตัวเดียวกับเอชไวอี แต่มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยค้นพบว่าลิงที่ได้วัคซีนกระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อนั้น ไม่ว่าจะถูกฉีดเชื้อไวรัสเข้าไปมากเท่าไรก็ยังแข็งแรงสุขสบายดี
ปี 2016 นักวิทยาศาสตร์จากแคนาดาประกาศผลทดลอง "วัคซีนเอสเอวี-001" (SAV-001) หลังฉีดวัคซีนตัวนี้ให้ผู้ป่วยเอดส์อาสาสมัคร 33 คน ปรากฏ ว่าร่างกายผู้ป่วยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างดี กลายเป็นวัคซีนตัวแรกที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุญาตให้ทดสอบในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้นในปี 2017 โดยจะทดสอบกับอาสาสมัครผู้ไม่ติดเชื้อจากทั่วทวีปอเมริกาเหนือ 600 คน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มยาเสพติด กลุ่มขายบริการ ฯลฯ ถ้าสำเร็จจะเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างทดลองมากขึ้นเป็น 6 พันคนทั่วโลก
ประเทศเยอรมนีไม่ยอมแพ้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประสบความสำเร็จในการทำลายพิษร้ายของไวรัสเอชไอวี โดยตั้งชื่อ "แอนติบอดี 10-1074"(Antibody 10-1074) ลักษณะการทำงานของแอนติบอดีตัวนี้ คือ ไปทำลายโปรตีนที่ห่อหุ้มเชื้อเอชไอวี หลังจากทดลองในอาสาสมัคร 33 คน โดยมี 19 คนที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผลทดลองพบว่าสามารถต้านทานไม่ให้จำนวนไวรัสเอชไอวีเพิ่มขึ้นในร่างกายอาสาสมัคร บางคนเชื้อไวรัสลดลงในระดับต่ำสุด แสดงให้เห็นว่าแอนติบอดีตัวนี้มีอานุภาพในการทำลายพิษร้ายไวรัสเอชไอวีได้อย่างราบคาบ
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษกำลังมุ่งมั่นทดลองวัคซีนกับผู้ป่วยจำนวน 50 คน แบ่งเป็นวัคซีน 2 ชุด โดยชุดแรกเข้าไปช่วยร่างกายให้แยกแยะเซลล์ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี แล้วนำมากำจัดออกจากร่างกาย จากนั้นใส่ "ยา" Vorinostat เพื่อไปกระตุ้นหาเซลล์ร่างกายที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังหลบซ่อนอยู่ ถือเป็นวิธีรักษาแบบใหม่ที่ทำลายไวรัสเอชไอวีทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายได้ โดยผลการทดลองอาสาสมัครรายหนึ่ง ปรากฏว่าผลตรวจเลือดแทบจะไม่พบไวรัสเอชไอวีหลงเหลืออยู่ในร่างกาย หากวัคซีนนี้ได้ผลจริง แสดงว่าวิธีนี้ไม่ใช่แค่การ "ป้องกัน" แต่เป็น "การรักษา" ด้วย
เป็นที่น่าเสียดายว่า วัคซีนที่กำลังทดลองในยุโรปและอเมริกาเป็นสายพันธุ์ "บี" ซึ่งคนไทยอาจไม่ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะ "สายพันธุ์เอชไอวีที่พบในประเทศไทยเป็น สายพันธุ์อี (E) ทั่วโลกมีเชื้อนี้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ส่วนสายพันธ์เอชไอวี ที่พบมากที่สุดคือ "ซี" ระบาดพื้นที่แอฟริกา ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น รัสเซีย ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาวัคซีนของตัวเอง หรือนำวัคซีนต่างประเทศมาดัดแปลง ที่สำคัญคือต้องทดลองในคนไทย เพื่อยืนยันประสิทธิภาพว่าได้ผลจริง
คนไทยมีโอกาสเป็นกลุ่มทดลอง "วัคซีนป้องกันโรคเอดส์" ครั้งแรกเมื่อปี 2536 หรือ 24 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันมีโครงการทดลองไม่น้อยกว่า 10 โครงการ แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้แอบซ่อนเปลี่ยนแปลงแฝงตัวได้หลากหลายรูปแบบ โครงการที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ โครงการทดลองวัคซีนจังหวัด "ระยอง-ชลบุรี" เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทหารบกสหรัฐอเมริกา วัคซีนชุดนี้ถูกฉีดในอาสาสมัครกว่า 1.6 หมื่นคน ตั้งแต่ปี 2549 มีการติดตามผลเป็นระยะ
จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กระทรวงสาธารณสุขประกาศผลการวิจัยว่า "โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ทดลองระยะที่ 3" หรือชื่อย่อ "อาร์วี 144" โดยอาสาสมัครจากชลบุรีและระยอง จำนวน 16,400 คนนั้น พบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ร้อยละ 31 นับเป็นครั้งแรกในโลกที่ประสบผลสำเร็จในการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ระดับนี้
พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า การทดลองวัคซีนเอชไอวีมี 2 ประเภทคือ "วัคซีนป้องกัน" หมายถึงวัคซีนที่ถูกพัฒนาเพื่อป้องกันคนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย กับ "วัคซีนรักษา" หมายถึงเน้นกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เหมาะสำหรับผู้ที่รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่ต้องการควบคุมเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำ
ปีนี้มีวงการแพทย์ด้านนี้คึกคัก เพราะมีรายงานความก้าวหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนเอดส์ ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้ได้จริงในระยะใกล้นี้ โดยเฉพาะการค้นพบเทคโนโลยีที่สามารถเอา "ภูมิคุ้มกัน" ฉีดใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ ไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง
พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า ไทยเริ่มทดลองวัคซีนเอดส์มา 20 กว่าปีแล้ว มีไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ แบ่งเป็นหลายระยะ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดแค่ร้อยละ 30 ยังไม่ถึงร้อยละ 90 ตามมาตรฐาน แต่ยังคงพัฒนาการ ทดลองต่อไปเรื่อยๆ มีความร่วมมือแลกเปลี่ยน ข้อมูลในโครงการทดลองวัคซีนเอดส์ของหลายมหาวิทยาลัย เช่น ม.มหิดล จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ สภากาชาดไทย
"ช่วงที่วัคซีนเอดส์ยังไม่ได้ผลิตออกมา ทุกคนต้องป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย หรือกินยาฉุกเฉิน ที่สำคัญคือควรหมั่นไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี แม้ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ตาม ทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ควรไปตรวจเป็นระยะๆ เพราะยาต้านไวรัสตอนนี้พัฒนาไปมาก การรู้ตัวช้าหมายถึงกินยาช้า ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายไปมากแล้ว หากตรวจเร็ว รู้ตัวเร็ว รีบกินตั้งแต่รับเชื้อใหม่ๆ จะยิ่งทำให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติ ไม่ป่วยง่าย ตอนนี้คนไทยติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่วันละ 18 คน หรือประมาณปีละ 7 พันคน เราตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 ต้องไม่เกินปีละ 1 พันคน" พญ.นิตยากล่าวอย่างมีความหวัง
ขณะที่ กมล อุปแก้ว ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเอดส์แห่งประเทศไทย ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแสดงความเห็นว่า หลายสิบปีที่ผ่านมาคนไทยร่วมมือกับรัฐบาลและบริษัทยาหลายประเทศเพื่อพัฒนาวัคซีนเอดส์ แต่ส่วนใหญ่โครงการยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์พยายามติดตามข่าวความคืบหน้ามาตลอด
"เราเข้าใจดีว่าโครงการวัคซีนยังไม่เห็นผล ต้องใช้เวลา แต่ที่พวกเราตั้งข้อสังเกตมาตลอดคือ โครงการทดลองเป็นระดับนานาชาติ มีหลายประเทศเข้าร่วม มหาวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำของไทยเข้าร่วมด้วย แต่ไม่มีการพูดถึงสิทธิประโยชน์ของกลุ่มทดลองหรือชุมชนในพื้นที่เลย โดยเฉพาะระยอง ชลบุรี เช่น ถ้าทดลองผลิตวัคซีนสำเร็จ คนไทยจะได้รับสิทธิพิเศษเข้าถึงวัคซีนในราคาถูกกว่าหรือไม่ อยากให้รัฐบาลไทยทั้งหมอและกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวแทนของคนไทยต่อรองเรื่องพวกนี้ เพราะอนาคตถ้าวัคซีนโครงการไหนประสบความสำเร็จ ผลิตออกขายได้จริง ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่ได้แค่กลุ่มเดียว" กมล กล่าวแนะนำทิ้งท้าย
ความมุ่งมานะพิชิต "โรคเอดส์" ด้วยการผลิตวัคซีนให้สำเร็จ คือหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของวงการวิทยาศาสตร์โลก และประเทศไทยเป็นหนึ่งใน "เป้าหมายพื้นที่ทดลองวัคซีน" ไม่ว่าประเทศไหนจะผลิตได้ก่อนก็ตาม สุดท้ายต้องส่งมาทดลองที่ประเทศไทย เพราะสายพันธุ์ไวรัสเอชไอวีที่ระบาดในไทยไม่เหมือนใคร
หลายฝ่ายจึงตั้งความหวังว่า การเจรจาต่อรองของผู้มีอำนาจจะไม่มองข้ามผลประโยชน์ของ "ผู้ติดเชื้อ" ที่เสียสละเป็นอาสาสมัครฉีดสารต่างๆ เข้าร่างกายของตนเองทั้งที่ไม่ค่อยจะมีภูมิคุ้มกันมากนัก เพียงหวังได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตวัคซีนให้สำเร็จ เพื่ออนาคตของมวลมนุษยชาติ