เร่งพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉิน
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เร่งพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉิน แค่โทร 1669 ก็รู้พิกัดทันที โดยจะมีความคลาดเคลื่อนเพียง 7 เมตรเท่านั้น ทั้งยังติดตั้งจีพีเอสที่อยู่ในรถพยาบาลแต่ละคัน
"ขณะนี้เรากำลังติดต่อประสานเพื่อพูดคุยกับกูเกิล เพื่อขอใช้บริการเรื่องการแจ้งพิกัด ที่ต่อไปเพียงผู้ขอความช่วยเหลือโทรฯมาที่เบอร์ 1669 แม้โทรฯมาแล้วแต่ขาดการติดต่อก็ จะทราบถึงพิกัดทันที" ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวในการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ "นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบการแพทย์ฉุกเฉินยุคใหม่ : Ems System Technology Innovation" ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 13 ประจำปี 2562 ซึ่งจัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมระบุว่า การแจ้งเหตุฉุกเฉินความสำคัญอยู่ที่การทราบพิกัดของผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ อย่างเช่น ในต่างประเทศที่มีระบบ AML หรือการส่ง พิกัดทางมือถือแบบอัตโนมัติ ยกตัวอย่างกรณีที่มีนักปีนเขาโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ เมื่อโทรฯมาที่เบอร์ฉุกเฉินแล้วสายถูกตัดหรือขาดการติดต่อไป หากเป็นระบบเดิมก็จะไม่สามารถทราบถึงพิกัด แต่เมื่อมีระบบ AML จะทำให้ทราบถึงพิกัดแบบอัตโนมัติซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมาก
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและสารสนเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินประสบผลสำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาเราพบปัญหาและอุปสรรคในการช่วยเหลือฉุกเฉินอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มประชากรเปราะบาง สพฉ.จึงต้องเร่งพัฒนาให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการอย่าง ทั่วถึงและเท่าเทียม รวมไปถึงการพัฒนาและนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น และเป็นระบบเดียวกัน เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบ กลางขึ้นมา เพื่อให้บุคลากรในพื้นที่นำไปใช้ร่วมกันได้ ทั้งรัฐและเอกชน
ทั้งนี้ได้ระดมหลายหน่วยงานมาช่วยในการคิดนวัตกรรม เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลเรียลไทม์การให้บริการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ตมีทั้งภาพ เสียง และวิดีโอ การพัฒนาการช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินให้เข้าถึงการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินผ่านล่ามภาษามือ หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติสามารถใช้ระบบแปลภาษาได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม หรือพื้นที่ที่ห่างไกลเราก็จะมีระบบดาวเทียม ระบบวิทยุ อินเทอร์เน็ต เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดต้องให้ทุกหน่วยงานพิจารณาร่วมกันโดยใช้ระบบกลางมาดำเนินการ
"ปัจจุบันเราได้พัฒนาเป็นระบบ CIS ที่ประชาชนแค่โทรฯผ่านโทรศัพท์ธรรมดาไม่ต้องผ่านแอพพลิเคชั่น เราก็สามารถรู้พิกัดผู้ป่วยได้เลย โดยระบบนี้จะมีความคลาดเคลื่อนเพียง 7 เมตรเท่านั้นนอกจากนี้ยังมีระบบ เทเลเมดีซีน ติดตั้งจีพีเอสที่อยู่ในรถพยาบาลแต่ละคัน ซึ่งเรียกว่าระบบปฏิบัติการ OIS ที่สามารถเชื่อมต่อกับแพทย์ โดยแพทย์จะรู้ถึงสัญญาณชีพหรือคลื่นหัวใจของผู้ป่วย แพทย์จะเห็นคนไข้ผ่านกล้อง และระบบสามารถดึงลายพิมพ์นิ้วมือ เพื่อดูข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลเหล่านั้นมารักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงที" ดร.กิตติ วงศ์ถาวรวราวัฒน์ หัวหน้าทีมนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เราได้นำระบบสื่อสารและสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการใช้ระบบ ITEMS 3 (OIS) Operation Information System ที่ติดตั้งระบบกับศูนย์รับแจ้งเหตุ หน่วยปฏิบัติการโรงพยาบาล และรถปฏิบัติการ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ทำงานแบบ real time มาใช้ออกปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ต้นทางที่รับส่งผู้ป่วยจนถึงปลายทางในการนำส่งผู้ป่วย โดยเราได้เริ่มทดลองใช้จังหวัดอุบลราชธานี โดยระบบนี้มีความสำคัญอยู่ที่ในขณะที่เรามีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทีมแพทย์ที่ไม่ได้อยู่บนรถจะสามารถให้คำแนะนำหรือให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านการ Monitor จากระบบ OIS ได้ ระบบนี้ยังสามารถบอกให้ทราบถึงตำแหน่งจุดเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการที่ออกช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินคือชุดอะไร และรถฉุกเฉินกำลังแล่นไปที่ไหน ซึ่งเราจะรู้ถึงข้อมูลทั้งหมด
รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเก็บข้อมูลเป็นดิจิทัลแทนการเก็บผ่านกระดาษ เพราะข้อมูลผู้ป่วยมีความสำคัญมาก และต้องถูกต้องและแม่นยำ จะทำให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีการเกิดสึนามิ การส่งข้อมูลต่าง ๆ จะมาจากหลายภาคส่วนและส่งมาที่ส่วนกลาง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปกระดาษ ทำให้มีความคลาดเคลื่อน ทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
ดร.ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล ผู้จัดการส่วนบริหารความปลอดภัยและมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศได้มีการเปิดให้ใช้บริการ 5G แล้ว ซึ่งระบบนี้จะมีความเสถียรและสามารถรับส่งข้อมูลระดับใหญ่ได้ ต่อไประบบนี้ก็จะมาช่วยแพทย์ทำการผ่าตัดทางไกลได้ ซึ่งประเทศไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 3 ปี อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตทางการแพทย์ จึงมีข้อแนะนำดังนี้ 1.ตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย 2.หากไม่มีความจำเป็นใช้อินเทอร์เน็ต ก็ให้ปิด ไม่จำเป็นต้องเปิดตลอดเวลา 3.ควรตั้งรหัสผ่านอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมด และ 4.ควรอัพเดทซอฟต์แวร์ตลอดเวลา เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด