เร่งปลูกฝังเด็กและเยาวชน “กินตามแม่”
เร่งปลูกฝังเด็กและเยาวชน “กินตามแม่” สร้างสุขภาวะ
เปลี่ยนพฤติกรรมการ “บริโภค” สร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ยั่งยืน
จากคำกล่าวที่ว่า “กินอย่างไร เป็นอย่างนั้น” ที่หมายถึงหากกินของไม่มีประโยชน์แม้รสชาติจะถูกปาก แต่จะส่งผลเสียต่อร่างกายในภายหน้า ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่เด็กและเยาวชนให้ตระหนักถึงการบริโภคอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เนิ่น ๆ
ประภาพรรณ วงศ์บ้านฉาง อดีตข้าราชการครูวัยเกษียณ ประธานโครงการ พลังเด็กและเยาวชนสร้างสุขภาวะชุมชน เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา “กินเปลี่ยนโลก” เล่าถึงกิจกรรม “กินตามแม่” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หรือ “วันแม่แห่งชาติ” ว่า สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ดำเนินโครงการ “กินเปลี่ยนโลก” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ตะหนักถึงการบริโภคอาหารที่ถูกหลักอนามัยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพและการเกิดโรคต่าง ๆ ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้อง
“ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล มีสาเหตุมาจากเรื่องของการกิน เพราะกินไม่ถูกหลัก ดังนั้นจึงต้องมาปฏิวัติกันใหม่ให้เด็กได้รับรู้ว่า จะต้องเลือกกินอาหารอย่างไรเพื่อให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ส่วนการที่เน้นไปที่โรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพบว่าเด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคไม่ค่อยถูกต้อง ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีปัญหาเด็กไม่กินผัก บางส่วนยังพบว่าไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน และชอบกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ตามกระแสสื่อโฆษณา ส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้เกิดจากตัวของผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานมากนัก” ประธานโครงการกล่าว
สำหรับกิจกรรมที่นำมาแสดงในงาน “กินเปลี่ยนโลก” ในครั้งนี้ แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งการจัดนิทรรศการ การสาธิตการปรุงอาหาร การตรวจสอบความปลอดภัยวัตถุดิบสำหรับนำมาปรุงอาหาร ฯลฯ และมีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในการนำไปขยายผลต่อ
“ในครั้งนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 19 โรงเรียน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเด็ก ๆ ที่เป็นแกนนำจากทุกโรงเรียนภายหลังที่ผ่านการอบรมให้ความรู้แล้ว ก็จะไปหาเพิ่มจำนวน 30 คนต่อแกนนำ 1 คน เพื่อชักชวนให้เพื่อน ๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงเรียน รวมถึงสามารถขยายผลส่งต่อความรู้ไปสู่คนใกล้ตัวในครอบครัว โดยในภาคอีสานเรามีศูนย์สำหรับอบรมให้ความรู้ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยโรงเรียนแต่ละแห่งก็จะทำกิจกรรมไม่เหมือนกัน และคาดหวังว่าโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบในเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินให้กับเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งเห็นได้ชัดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการ” ประภาพรรณ วงศ์บ้านฉาง ระบุ
กรกนก อุดมชัย นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กรุงเทพฯ ที่มาร่วมสาธิตการตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร กล่าวว่า ในโรงเรียนของตนเองนั้นดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาวะ สนับสนุนการออกกำลังกาย และรณรงค์ให้นักเรียนลดการกินขนมกรุบกรอบที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการทดสอบสารปนเปื้อนในอาหารจะทำให้เด็กนักเรียนตระหนักและมีความระมัดระวังในการหาซื้ออาหารต่าง ๆ มาบริโภคมากขึ้น เพราะการกินอาหารไม่มีประโยชน์เข้าไปจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้
“พอเรารู้ว่ามีอะไรอยู่ในส่วนผสมของขนมที่เราจะกิน ก็ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น ขนมกรุบกรอบหรือของดองที่เคยกินตอนนี้ก็จะลดลง อาหารบางอย่างที่เราเคยทดสอบพบว่ามีฟอร์มาลีนอยู่ด้วย เช่น กะหล่ำปลี เพราะจะทำให้ผักดูสดอยู่ได้นาน หรือพวกเนื้อสัตว์ก็จะมีสารบอแรกซ์ผสมอยู่ ต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อ ก่อนจะนำไปกินหรือปรุงอาหารจะต้องล้างให้ดีก่อน”
“ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเคยมีพฤติกรรมกินอาหารไม่เป็นเวลา และไม่รับประทานผัก จนกระทั่งได้รับความรู้จากการร่วมอบรมจึงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและครอบครัว ส่วนในโรงเรียนแกนนำนักเรียนก็ได้นำความรู้ไปเผยแพร่ต่อในหมู่เพื่อนนักเรียนให้เกิดความตระหนักถึงพฤติกรรมการกินให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ” ฐิติภา ปัตตาเทสัง นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กล่าวเสริม
ทางด้าน ปิยะธิดา จั้นพลแสน นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ จ.มหาสารคาม เล่าว่า ที่โรงเรียนดำเนินกิจกรรมหลัก 2 ประเด็นคือ ในระดับชั้น ม.1 เป็นกิจกรรมชวนน้องกินผัก ส่วนชั้น ม.2 ทำกิจกรรมลดหวาน มัน เค็ม ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ ชวนรุ่นน้องมาเข้าร่วมกิจกรรม นำวิทยากรผู้มีความรู้ด้านโภชนาการมาให้ความรู้ จัดกิจกรรมตลาดนัดกินเปลี่ยนโลกในโรงเรียน และยังนำความรู้ไปจัดกิจกรรมให้ชุมชนมีส่วนร่วมนอกโรงเรียนอีกด้วย
“อย่างกิจกรรมชวนน้องกินผัก แกนนำรุ่นพี่จะต้องทำอาหารร่วมรับประทานกับน้อง ๆ สัปดาห์ละสองวัน เป็นเมนูสุขภาพ พร้อมกับทำแบบสำรวจไปด้วย ส่วนที่บ้านเราจะส่งจดหมายชี้แจงถึงผู้ปกครอง ให้คำแนะนำเรื่องเมนูอาหารและมีการบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาประเมินผลด้วยซึ่งได้รับความร่วมมือดี”
แกนนำนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ ยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าภายหลังจากการเข้ารับการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง และนำไปขยายผลต่อในโรงเรียนของตนเอง ก็ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเพื่อนนักเรียนในการรับประทานอาหารต่าง ๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ท่ามกลางสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนในปัจจุบัน แต่พลังจากเด็กและเยาวชนก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพด้วยการสร้างพฤติกรรมการบริโภคอย่างถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทย.