เรื่องใจเรื่องใหญ่

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวทีเสวนา ThaiHealth Watch 2022 The Series หัวข้อ “เรื่องใจเรื่องใหญ่”

ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

เรื่องใจเรื่องใหญ่ thaihealth

ทุกวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของทุกคน หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้น เกิดความท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกเช่นนี้อยู่กับเรานานเกินไป ก็อาจเกิดความเครียดสะสม กลายเป็นภัยเงียบ ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้

ภารกิจสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจเป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงได้จัดกิจกรรม ThaiHealth Watch 2022 The Series ในหัวข้อ เรื่องใจเรื่องใหญ่ เปิดพื้นที่แชร์ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านอารมณ์ แนะแนวทางป้องกันและดูแลตนเอง มุ่งเสริมภูมิคุ้มใจ ฟื้นฟูภาวะเครียดสะสมของคนไทยให้ดีขึ้น

เรื่องใจเรื่องใหญ่ thaihealth

“ต้องยอมรับว่าจิตใจเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ เพราะช่วยทำให้เรามีพละกำลัง มีการจัดการชีวิตที่มีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความหวัง หากรู้สึกเครียดเรื้อรังจึงไม่ควรละเลย เพราะอาจพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิต” เป็นมุมมองของนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

นายชาติวุฒิ เล่าว่า เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตของโรคโควิด-19 มาหลายปี เกิดความรู้สึกไม่แน่นอน กังวลใจ รู้สึกรุกรานตัวเราเป็นอย่างมาก ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทั้งการเรียน การทำงานจากที่บ้าน ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง มีข่าวผู้เสียชีวิตรายวัน เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายคนถูกตัดเงินเดือน ถูกให้ออกจากงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความเครียดสะสมของคนไทย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่โรคทางใจ และปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เล่าต่อว่า เราจะต้องเร่งจัดการให้ใจมีวัคซีน หาสมดุลชีวิต สามารถจัดการชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยสามารถนำหลักการในเรื่องทุนจิตวิทยาเชิงบวก มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา คือ 1. การใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความหวัง เราสามารถตื่นขึ้นมาพร้อมความหวังในการจัดการชีวิตได้ 2. การมองโลกในแง่ดี ทำให้ทุกย่างก้าวของชีวิตมีความสดใสและสดชื่น 3. ความยืดหยุ่นในการกลับสู่ภาวะปกติ ล้มแล้วลุกไว มีความอึดฮึดสู้ สามารถก้าวข้ามวันที่ไม่มีความสุข และ 4. ความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง คิดเสมอว่าเรามีความสามารถที่จะผ่านเรื่องนี้ไปได้ ดังนั้น จิตวิทยาเชิงบวกทั้ง 4 ข้อ จึงถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ที่มีความสุขได้

เรื่องใจเรื่องใหญ่ thaihealth

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า ในชีวิตประจำวันสามารถมีความเครียดเกิดขึ้นได้ แต่ในกรณีของโรคความเครียดสะสม เป็นความเครียดบางอย่างที่อยู่กับเรานาน ๆ แล้วไม่หายไป และยังคงมีเรื่องเครียดทับถมอยู่เรื่อย ๆ ไม่สามารถจัดการได้ เราต้องพยายามหาทางแก้ไขโดยเร็ว

โดยให้สังเกตว่ามีอาการต่อไปนี้หรือไม่

1. หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง

2. ประสิทธิภาพในการทำงาน และการใช้ชีวิตลดลง

3. ไม่อยากเข้าสังคม วิตกกังวลความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว

4. กลัว เครียด กังวล อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

5. เบื่อ เฉยชา รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า

6. พฤติกรรมการกินผิดปกติ

7. ดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรือสูบบุหรี่

8. สมาธิจดจ่อไม่ดี หลง ๆ ลืม ๆ

9. ท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่

เรื่องใจเรื่องใหญ่ thaihealth

ผศ.ดร.ณัฐสุดา พูดต่อด้วยว่า ขณะเดียวกันเรายังสามารถรู้ทันความเครียดได้ ด้วยการทำแบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต โดยจะมีอยู่เกณฑ์อยู่ 4 ระดับ คือ สีเขียว เครียดแต่เอาอยู่ คือ แม้ทุกคนมีความเครียด แต่ยังพอรับมือได้ด้วยตัวเอง สีเหลือง เครียดจัด ยังพอประคับประคองไปได้ คือ อยู่ระหว่างป่วยกับปกติเครียดสูง แต่ยังประคับประคองตัวได้ เป็นฟางเส้นสุดท้าย สีส้ม ซึมเศร้า กระทบงานและการใช้ชีวิต คือ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และสีแดง ซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย คือ ภาวะความเสี่ยงทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น สิ่งของ และคิดฆ่าตัวตาย

ขณะที่ 3 จุดสังเกต เช็กง่าย ๆ ดูว่าเรากำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตอยู่หรือเปล่า

1. ความคิด เกิดความคิดเชิงลบในชีวิตประจำวัน หรือ ความคิดว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วหรือเปล่า จากปกติที่ไม่เคยคิดมาก่อน

2. พฤติกรรม ดูว่าเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ เช่น นอนไม่หลับโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยขึ้นมากะทันหัน

3. อารมณ์และความรู้สึก อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่สามารถควบคุมความเศร้า หรือความโกรธที่มากเกินไปของตัวเองได้

ดังนั้น การขอความช่วยเหลือในช่องทางต่าง ๆ หรือคำปรึกษามีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้เราคัดกรองตัวเองได้เร็วขึ้น เข้าถึงปัญหาเร็วขึ้น และได้รับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงอารมณ์ด้านลบ และพฤติกรรมต่าง ๆ ทันท่วงที

สสส. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาโครงการ Here to Heal ขึ้นเพื่อให้ผู้มีอาการด้านสุขภาพจิตสามารถปรึกษาผ่านนวัตกรรมออนไลน์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Here to Heal ที่สามารถพูดคุยทางแชทได้สะดวก รวดเร็ว โดยให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา 10.00-22.00 น.

เรื่องใจเรื่องใหญ่ thaihealth

สอดคล้องกับ นางสาววิภาดา แหวนเพชร อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยากร Podcast Life’s Classroom ที่อธิบายว่า เวลาเกิดปัญหาขึ้น ยังไม่ต้องรีบคิดบวกเพื่อจัดการปัญหาในทันที เพราะสถานการณ์อาจจะแย่กว่าเดิม แต่ให้เยียวยาอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ณ เวลานั้นก่อน เช่น เรากำลังรู้สึกโกรธ เศร้าหรือว่ากำลังเสียใจ ให้หาทางระบายความรู้สึกนั้นออกมาก่อน พร้อมถามตัวเองว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ มองปัญหาให้ครบทุกมุมของสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะวิธีการมองโลกของเราเป็นส่วนสำคัญของความสุข

เรื่องใจเรื่องใหญ่ thaihealth

5 เคล็ดลับสร้างพลังใจด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน ประกอบด้วย

1. ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 15 นาที ทำทุกวัน

2. พูดขอบคุณในสิ่งดี ๆ ของผู้อื่น เช่น พูดต่อหน้า หรือในใจ ส่งโปสการ์ด ส่งข้อความ เป็นต้น

3. เขียนขอบคุณอะไรก็ได้ 3 สิ่งก่อนนอน ทำทุกวันและห้ามเขียนซ้ำกัน

4. คิดถึงสิ่งที่มีความสุข วันละ 3 สิ่ง ทำทุกวันและห้ามเขียนซ้ำกัน

5. ทำสมาธิวันละ 2 นาที ด้วยวิธีการดูลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ

สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง และมีความมั่นใจในการเอาชนะปัญหาอุปสรรคทั้งหลาย สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในคนทุกคน ขอเพียงเปลี่ยนมุมมองและเริ่มต้นที่ตัวเราเอง สสส. ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนยืนหยัดลุกขึ้นสู้ทุกวิกฤตปัญหา และดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ