เรื่องเล่าแรงบันดาลใจ ชีวิตใหม่ และงานวิ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
"ศักยภาพของคนเรามันมีมากกว่าที่เราประมาณไว้ เพียงแต่เราต้องมีความกล้าพอที่จะดึงมันออกมา" 'วิ่ง' กลายเป็นปรากฏการณ์ ด้านสุขภาพเรื่องใหม่และกำลังเป็นที่สนใจของคนไทยในเวลานี้
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การวิ่งได้รับ ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประชาชน ทุกเพศทุกวัย ดูจะเป็นเรื่องชินตาเสียแล้ว หากเราจะเห็นผู้คนทุกเพศทุกวัยใช้เวลา ในวันหยุดไปวิ่งที่สวนสาธารณะและพื้นที่ สีเขียวต่างๆ ทั่วประเทศ
อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือความตื่นตัวของกลุ่มนักวิ่งสายทำงาน โดยเกือบทุกวันหยุดต่างพากันบ่มเพาะร่างกายที่ฝึกฝนจนฟิตได้ที่ กับหัวใจกระตือรือร้น มาสมัครเข้าร่วม "งานวิ่ง" ที่จัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ได้ปลุกกระแส "วิ่ง" ให้ยิ่งมีสีสันและคึกคัก
เชื่อหรือไม่ว่า ปีที่ผ่านมา (2559) ประเทศไทยมีงานวิ่งที่จัดขึ้นทุกสุดสัปดาห์ ทั่วประเทศมากกว่า 700 งานเชียวนั่น แม้วันนี้สาเหตุที่คนออกมาวิ่งจะ แตกต่างกัน หลายคนมีเป้าหมายการวิ่งเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง บางคนอาจวิ่งเพื่อลืมความผิดหวัง บางคนต้องการเอาชนะจิตใจตัวเอง หรือบางคนอาจวิ่งเพราะเพื่อนชวนมา ในตอนแรก
แต่หนึ่งสิ่งที่ทุกคนยอมรับกันถ้วนหน้าว่า ของแถมที่ได้หลังจากเริ่มวิ่งคือ "ชีวิตใหม่" ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งหากวันนี้ใครยังมองหาแรงบันดาลใจ ที่จะเริ่มวิ่ง เราคิดว่าเรื่องราวของ 3 นักวิ่งข้างล่างนี้ อาจสร้างแรงบันดาลใจให้คุณไม่น้อย
สุนันทา เลื่อมประภัศร์
"80 ก็วิ่งได้"
เหตุเพราะสามีเป็นโรคเครียดถึงขั้นต้องผ่าตัดบายพาส แล้วคุณหมอแนะนำให้ออกกำลังกาย ทำให้คุณยายสุนันทา เลื่อมประภัศร์ ที่คิดจะมาวิ่งเป็นเพื่อนสามี กลับตกหลุมรักกีฬาวิ่งเสียเอง ที่สำคัญ ทุกวันนี้เธอยังคงติดลมบนงานวิ่งยาวนาน จนเข้าปีที่สามสิบปีแล้ว
"ครั้งแรกที่วิ่งก็เหนื่อยๆ หายใจไม่ทัน ก็เลยหันมาเดินสลับวิ่งไปเรื่อยๆ จนเริ่มสนใจไปสมัครลงกิจกรรมงานวิ่ง แต่สมัยก่อน ไม่มีงานวิ่งเยอะเหมือนสมัยนี้นะ เขาจัดแค่เดือนละครั้ง ยายก็เข้าร่วมขยับจาก 3 กิโลเมตร เป็น 5 10 21 มาจนถึง 42 กิโลเมตร เบ็ดเสร็จคือไปๆ มาๆ วิ่งไปสามสิบปีแล้ว แต่ตอนนี้ต้องเลิกวิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร เพราะมีคนเขาบอกว่า อายุมากแล้ว อย่าวิ่งเลย
หลายคนชอบถามว่า ยายวิ่งแล้วได้อะไร คือพอวิ่งแล้วเราสบายไง ตั้งแต่วิ่งแทบไม่เคย เป็นไข้ตัวร้อน ไม่ต้องกินยา ไปหาหมออีก มีเป็นนิดหน่อยพอลุกขึ้นมาขยับตัวมันก็ หายแล้ว ปกติยายจะชอบออกไปวิ่งต่างจังหวัด ก็วิ่งด้วยเที่ยวไปด้วย ทำบุญบ้าง วิ่งแล้ว ได้เพื่อน เรียกว่าได้สุขทั้งกายและใจ ส่วนใหญ่คนวัยสูงอายุมักคิดมากไง แต่พอเราวิ่งแล้วก็จิตแจ่มใส คิดน้อยลง"
ณัฐพล เสมสุวรรณ
"นักวิ่งหัวใจไม่แพ้"
ใครจะเชื่อว่าสิบปีที่แล้ว แซม ณัฐพล เสมสุวรรณ คือผู้ชายที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเมื่อตอนอายุ 21 ปี หลังจากฝ่าฟันโรคภัยที่หนักหนา ในวันนี้แซมยังพบโอกาสที่พิสูจน์ความแข็งแกร่ง ทั้งกายและใจของเขาอีกครั้ง…กับการ "วิ่ง"
"ครั้งแรกที่รู้ไม่เชื่อเลยว่าตัวเองจะเป็น เพราะเราแข็งแรงมาก เคยเป็นนักกีฬาเล่นมาตลอด ผมต้องรับคีโมถึง 36 ครั้ง จากนั้นก็ยังต้องปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่แย่ที่สุดแล้ว ตอนอยู่ในห้องปลอดเชื้อ เราขยับตัวไม่ได้ พูดทีได้ไม่เกิน 5 คำก็หมดแรงคิดว่าเราอาจไม่รอดออกจากห้องนี้แล้ว วันหนึ่ง มีนกบินมาเกาะที่หน้าต่าง เราเห็นแล้วน้ำตาไหลเลย เพราะรู้สึกว่าทำไมนกยังมีอิสระ ในชีวิตมากกว่าเรา ช่วง 3 เดือน นั้นรู้สึกว่ามันลำบากเกินไปที่จะต่อสู้ ไม่ใช่แค่เราคนเดียวแต่มีพ่อแม่ที่ต้องลำบากไปกับเรา
หลังจากหนึ่งปีอาการเริ่มดีขึ้น แต่ผมมาโชคร้ายซ้ำ เพราะแพ้ยากดภูมิอย่างรุนแรง หมอบอกว่าในล้านคน จะมีแค่ 7 คนเท่านั้น ในใจคิดว่าทำไมต้องมาเกิดกับเรา ผลของยาส่งผลให้ร่างกายเราเปลี่ยนแปลง ผิวหนังเริ่มไหม้ ตัวเริ่มดำ ต่อมน้ำลายเสีย ตาก็ต้องใช้น้ำยาหยอดตาตลอดเวลา มีวันหนึ่งผมไปซื้อของที่ร้านค้า มีเด็กคนหนึ่งกำลัง เดินมา พอเขาเห็นผม เขาร้องไห้รีบวิ่งกลับไปหาพ่อ เราเริ่มคิดว่าทุกคนในร้านมองเราแปลกๆ ทำให้รู้สึกแย่มาก คิดว่าเราจะมีชีวิตอยู่ทำไม จนแผลเริ่มจางลง เริ่มมาคิดได้ว่า ถ้าเป็นเรา เห็นคนอื่นเป็นแบบนี้ เราก็คงคิดแบบเดียวกับคนอื่นเหมือนกัน ตอนนั้นผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของพี่หนุ่มเมืองจันท์ ได้ข้อคิดว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนเข้าใจเรา แต่เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เราจะเข้าใจความคิดคนอื่น มันทำให้ผมได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง
ผมเริ่มวิ่งครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นเราประคองร่างกายให้มีชีวิตอยู่ไปวันๆ เพราะคิดว่าร่างกายเราอ่อนแอ บอบบางเกินไป คงออกกำลังกาย ไม่ได้ แต่เกิดแรงบันดาลใจเพราะได้ยิน พี่ตูน บอดี้สแลม ที่เคยพูดว่า อยากให้ คนไทยดูแลสุขภาพตัวเอง อยากให้สิ่งที่เขาทำเป็นน้ำที่กระเพื่อมไปเรื่อยๆ มันเลยเกิดคำถามกับตัวเองว่าเราได้ดูแลสุขภาพ ตัวเองหรือยัง
วิ่งครั้งแรก ได้แค่ 20 เมตร ก็เริ่มหอบ ไม่ไหว แต่วันต่อมา ผมเลือกที่จะไม่หยุด ออกไปวิ่งต่อ จนประมาณ 3 เดือน เราถึงวิ่งปกติได้ ทำให้เราได้เข้าใจแล้วว่า สำคัญที่สุดของการวิ่งคือความไม่หยุดไม่ยอมแพ้ ส่วนการลงสนามวิ่งครั้งแรกเป็นการวิ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะแฟนเพื่อนไม่ว่างเลยไปแทนเขา ตั้งใจจะไปแค่ 5 กิโลเมตร แต่ระหว่างที่วิ่งเรามองป้ายระยะทางแล้วมาคิดว่า ถ้า 5 กิโลถือว่าเราได้ทำ แต่ 10 กิโลคือเราทำได้
ทุกวันนี้นผมวิ่งได้ 15 กิโลเมตร อยากบอกว่ามันไกลกว่าความคิดริเริ่มแรกของเรามาก แต่สิ่งนี้มันทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วศักยภาพของคนเรามันมีมากกว่าที่เราประมาณไว้ เพียงแต่เราต้องมีความกล้าพอที่จะดึงมันออกมาหรือเปล่าเท่านั้นเอง"
ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์
"เป้าหมายชีวิตใหม่ เพราะงานวิ่ง"
หากยังจำข่าวนักเรียนไทยประสบอุบัติเหตุตกรถรางไฟฟ้าที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อนได้ วันนี้ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ที่เคยเลิกหวังที่จะ "เดิน" ได้เหมือนคนปกติ กลับสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองกลายเป็นผู้ให้ เพราะวันนี้ณิชชารีย์กำลังมีบทบาทใหม่เป็น "ผู้สำรวจความสุขคนไข้" ที่รพ.เวิลด์เมดิคอล ส่วนหนึ่งเพราะแรงบันดาลใจจากงานวิ่ง Thai Health Day Run หรืองานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ที่ทุกคนรู้จัก
"ตอนแรกเราตัดสินใจที่จะลุกเดิน แต่ไม่คิดไกลว่าเราจะได้มีโอกาสไปวิ่งกับเพื่อนๆ อีกแล้ว เราคิดแค่อยากจะเดินได้ แต่การซ้อม ตอนแรกเราก็ทำแต่อยู่ในฟิตเนส ตอนที่ ถูกชวนให้เข้ากิจกรรมวิ่งสู่ชีวิตใหม่ครั้งนั้น เป็น งานแรกที่เราจะได้เดินในสภาพแวดล้อมจริง เหมือนชีวิตประจำวัน ตอนแรกเราก็เกือบปฏิเสธแม้พี่เขาจะบอกให้เดินแค่ 2.5 กิโลเมตร ตอนซ้อมก็มีงอแงบ้าง แต่วันจริง เรากลับสามารถเดินไปเรื่อยๆ ด้วยตัวเองได้ เพราะบรรยากาศในสนามมันทำให้เรามีแรงบันดาลใจทำให้เราคิดว่าอยากก้าวเข้าเส้นชัยด้วยขาเทียม ไม่ต้องใช้วีลแชร์สักครั้งในชีวิต การร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น ทำให้เราต่อยอดการออกกำลังกีฬาอื่นๆ เช่น ตีแบต ดำน้ำล่าสุดมีแพลนกับเพื่อนว่าจะไปปีนเขาด้วยกัน
งานวิ่งสู่ชีวิตใหม่เป็นงานแรกที่ให้ ความรู้เรื่องการวิ่งถูกวิธี ทำให้เราเดินได้ดีขึ้น รู้สเต็ปมากขึ้น ทำให้เราไม่กลัวสภาวะเวลาที่ออกนอกบ้าน เตรียมความพร้อมว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร และเป็นโครงการแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถออกไปเดินหรือวิ่งกับคนอื่นๆ ทั่วไปได้เหมือนกัน อีกสิ่งที่ส่งผลสำหรับเราอย่างแรก คือมิตรภาพที่ได้ ทำให้เรามีเพื่อน เป็นจุดเริ่มต้นสานสัมพันธ์ และลดช่องว่าง และการวิ่งในวันนั้น ยังเป็น จุดเริ่มต้นที่เรามาทำงานด้านนี้ เพราะเราอยากชวนให้เพื่อนๆ หรือคนที่ใช้วีลแชร์ ออกมานอกบ้าน ออกมาวิ่งเหมือนที่เราเคยทำ เราจึงพยายามคิดโครงการที่อยากให้พวกเขาวิ่งคู่กับคนปกติ ซึ่งในอนาคตหนูจะพยายามคิดโครงการอื่นๆ มากขึ้นอีก
วันวานของงานวิ่ง
หากจะหวนรำลึกถึงที่มาของงาน "วิ่ง" ที่กลายเป็นกระแสสุดฮิตในไทยขนาดนี้ คงต้องย้อนไป ตั้งแต่ปี 2555 ตอนนั้นมีกลุ่มภาคี สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้จัดโครงการวันนักวิ่งเพื่อสุขภาพไทย: Thai Health Day Run ขึ้นครั้งแรก
แล้วกระแสวิ่งก็ถูกจุดพลุอีกครั้งจากภาพยนตร์ "รัก 7 ปี ดี 7 หน" รวมถึงรายการเรียลลิตี้โชว์สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการวิ่ง ที่เกิดจากความร่วมมือของ สสส. สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และ บริษัท จีทีเอช จำกัด ที่สร้างความนิยมของเรื่องวิ่งโดยฉับพลัน
บางคนอาจมองว่านี่คือกระแส แต่หากคิดถึงผลลัพธ์ที่ได้ ก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่า หากระแสที่ว่าจะทำให้ประเทศไทยเราจะมีนักวิ่งหน้าใหม่เข้าสู่สนามวิ่งมากขึ้นทุกวัน