เรื่องเล่าเฉียดตาย รอดได้เพราะ “เลิกบุหรี่”

 

“…มีเหตุฉุกเฉินคือ…พอถอดท่อแล้ว มันมีเสมหะเหนียวข้น ค้างในหลอดลม ซึ่งจะเกิดกับคนที่สูบบุหรี่ครับ…”

พลตำรวจตรีนายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงศ์ ข้าราชการบำนาญ วัย 65 ปี เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เดิมเป็นคนต่างจังหวัด มาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ก็เรียนจนจบ สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตอนอายุ 18 ปี ถึงได้เริ่มสูบบุหรี่ มันเป็นภาพรวมของสังคมสมัยนั้นด้วยว่า บุหรี่หาได้สะดวกและเป็นที่ยอมรับทั่วไป ฮิตในหมู่วัยรุ่นชาย เห็นเขาสูบก็สูบกันบ้าง ก็ติดได้ไม่ยากครับ เพราะอยากลองเอง…

จะโทษว่าเพื่อนหรือใครชวนก็ไม่ได้ พออยู่ในหมู่เพื่อนๆ เขาก็สูบกัน…เรียกได้ว่าแทบจะทุกคนเลยครับที่สนิทสนมที่ไปเที่ยวกัน เป็นการทำตามแบบอย่างกันระหว่างเพื่อนก็ได้ สูบประมาณวันละซอง จะเป็นช่วงที่มีเวลาว่าง ส่วนใหญ่จะหนักตอนค่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเย็นวันศุกร์วันเสาร์ที่ไม่มีเรียน…ที่กลุ่มเพื่อนนัดเที่ยวสังสรรค์เฮฮา ทานอาหาร ตั้งวง และ ดื่มเหล้า…เวลาดื่มแล้วบุหรี่จะตามมาเลย…คู่กัน

ระหว่างที่ทานอาหารคนหนึ่งก็หลายมวนเลยครับ ตอนกลางวันที่มีชั่วโมงเรียนก็ไม่สะดวกที่จะสูบ แต่ว่าช่วงที่พักยาวหน่อยก็อาจจะมีการแอบสูบกันนอกห้อง เวลาที่เราดื่มเหล้าเราจะสูบมากขึ้น เป็นชั่วโมงหรรษาที่จะมาด้วยกันทั้งสูบบุหรี่ดื่มเหล้า คนในครอบครัวไม่มีใครสูบบุหรี่ เราอยู่บ้านก็ไม่สูบบุหรี่ แต่พอตกเย็นทานข้าวกับที่บ้านเสร็จเราก็จะพบปะกับเพื่อนตั้งวงสภากาแฟก็อาจจะมีการสูบกันอีก แล้วตอนนั้นไม่มีกระแสสังคมมารณรงค์เรื่องเลิกบุหรี่ ผมพูดถึงเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว…ในภาพยนตร์ก็มีฉากสูบบุหรี่กันเป็นว่าเล่น…ไม่มีกระแสเหมือนสมัยนี้

เมื่อสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตปี 2512 …มาเป็นแพทย์ฝึกหัดก็ยังสูบอยู่ ตลอดช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัด 1 ปี พอปี 2513 สอบไปเรียนต่างประเทศที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ไปฝึกอบรมเป็นศัลยแพทย์ พอปีท้ายๆ ก่อนจะกลับปี 2518-2519 นับเป็นจุดเปลี่ยน คือผมเห็นคนในสังคมอเมริกาเขาสูบยาเส้นกันมากที่เรียกว่าสูบไปป์น่ะครับ เลยเปลี่ยนมาสูบไปป์…สูบมาถึงปี 2546

วันหนึ่งประมาณกลางเดือนมีนาคม 2546 ผมมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน ปวดกว่าปกติที่เคยปวด มากกว่าท้องเสียมวนท้อง…ปวดบิด…ปวดมาก…มากถึงขนาดที่นึกว่าน่าจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น อาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ก็ให้แพทย์ที่โรงพยาบาลสมิติเวชช่วยดูให้ ก็ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ และคอมพิวเตอร์สแกน พบว่าเป็นถุงน้ำดีอักเสบ จึงได้นัดหมายผ่าตัด ซึ่งไม่ต้องเปิดแผลกว้าง เพียงเจาะรูประมาณ 4 จุด จุดแรกใต้สะดือประมาณ 2 เซนติเมตรเพื่อสอดกล้องเข้าไปในช่องท้อง แล้วเขาจะเป่าลมซึ่งประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้องให้พองขึ้น เพื่อไม่ให้อวัยวะอื่นหรือลำไส้มาเกะกะในระหว่างการผ่าตัด แล้วจะมีรูอีก 2-3 จุด ใต้ชายโครง เพื่อใส่เครื่องมือกับตับไม่ให้เคลื่อนไหวมากเกินไประหว่างผ่าตัด คือโดยปกติเวลาคนเราหายใจตับจะถูกกระบังลมเบียดเคลื่อนไหวขึ้น ๆ ลง ๆ ส่วนถุงน้ำดีจริง ๆ มันอยู่ใต้ตับ ซึ่งไม่นิ่งพอที่จะศัลยแพทย์จะตัดถุงน้ำดีได้ ก็จะมีเครื่องมือที่ป้องกันไม่ให้ตับขยับมากเกินไป ศัลยแพทย์ก็จะค่อยๆ ตัดถุงน้ำดีออก

พอเสร็จสิ้นการผ่าตัด ซึ่งก็ไม่นาน…มารู้อีกทีคือตอนฟื้นแล้วว่า การผ่าตัดที่ไม่นานและเรียบร้อยดีนั้น…กระบวนการฟื้นตัวหลังผ่าตัดพบปัญหา… คือวิสัญญีแพทย์ที่เขาใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดลมเพื่อให้แก๊สที่ทำให้เราหลับและหมอผ่าตัดได้ แต่ในระหว่างที่เขาเลิกใช้แก๊ส เพื่อปลุกเราตื่นแล้วเปลี่ยนเป็นออกซิเจนเฉยๆ ในระหว่างที่ถอดท่อเครื่องช่วยหายใจออกเพื่อให้เราหายใจตามปกตินั้น มีเรื่องเล่าให้ฟัง ตอนนั้นภรรยายืนดูการผ่าตัดอยู่ว่า…มีเหตุฉุกเฉินคือ…พอถอดท่อแล้วมันมีเสมหะเหนียวข้นข้างในหลอดลม ซึ่งจะเกิดกับคนที่สูบบุหรี่ครับ… คนที่สูบบุหรี่ประจำจะมีความเข้มข้นของเยื่อเมือกที่หลอดลมมาก…ตัวขนพัดโบกที่เรียกว่าซีเลียจะทำงานได้ไม่ดี อย่างคนปกติที่ไม่สูบบุหรี่

แล้วเสมหะข้น เขาบอกว่าหน้าผมเขียวไปเลย…คือออกซิเจนไม่เข้า…ไม่สามารถหายใจเองได้ดีเท่าที่ควร ร้อนถึงวิสัญญีแพทย์ต้องใช้กระบวนวิธีดูดเสมหะที่ข้นเหนียวที่อุดหลอดลมอยู่ออกมา จึงกลับมาเป็นสีสันของใบหน้าปกติได้

พอรู้ข่าวแค่นั้นมันเหมือนเป็น shock therapy เป็นข่าวร้ายที่กระทบสุขภาพเรามากกว่า…เป็นเรื่องของบุหรี่แน่นอน…เพราะฉะนั้นมันตัดสินใจไม่ยากแล้ว หากเราคิดจะดำเนินชีวิตต่อไป ขณะนั้นอายุยังไม่ 60 ปี ก็สมควรที่จะเลิกบุหรี่ซะ ตอนนั้นรู้อยู่แล้วว่า บุหรี่ไม่ใช่ของดี แต่กระบวนการเลิกยังไม่มีตัวจูงใจที่ดีพอ นี่เป็นตัวจูงใจที่ดีที่สุดแล้ว คือถ้าไม่ทำเพื่อตัวเอง… หากคราวหน้ามีการผ่าตัดหรือ ไม่ได้ผ่าตัด แต่หลอดลมเราอาจจะมีปัญหา เกิดไข้หวัดรุนแรงขึ้นมามีปวดบวม…ทีนี้จะยุ่งแล้ว ก็เลยเลิก

ก็แปลกนะครับ ผมก็เลิกได้ทันทีทันควัน…ไม่คิดกลับไปสูบอีกเลย…แต่ว่าการที่หยุดบุหรี่ทำให้เรากินมากขึ้น…ปากเราว่าง แต่ก่อนเราว่างเราอยากโน่นอยากนี่…ก็สูบบุหรี่แทน แต่พอไม่มีบุหรี่มันต้องเอาอย่างอื่นมาแทน มาชดเชย ผลก็คือน้ำหนักขึ้นครับ เป็นผลข้างเคียงของการเลิกบุหรี่ในระยะแรกๆ แต่เราก็ไม่ได้ปล่อยตัวเลยเถิดไม่ได้อ้วนตุ๊ต๊ะ…ไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าน้ำหนักขึ้นหลายกิโล…แต่ก็ไม่ได้หนักหนาอะไรครับ ก็กินเป็นขนมของว่างทั่วไป และผมออกกำลังกาย…ออกมา 20 กว่าปีแล้วครับ โดยเป็นกระแสอยู่ตอนนั้นมีชมรมการวิ่ง แล้วเราก็คิดว่าก็ควรนะ…ซื้อรองเท้า แล้วก็ลงทุนถูกที่สุดในบรรดากีฬาทั้งหลาย แค่กางเกง 1 ตัว เสื้อยืด 1 ตัวแล้วก็รองเท้า ออกไปวิ่งๆ เดินๆ ก็ทำมาจนเป็นกิจวัตร ถ้าวันไหนไม่ได้ทำจะรู้สึกขาดอะไรไป ก็จะเป็นตอนเช้าที่สวนลุมพินี…เดิมผมทำงานโรงพยาบาลตำรวจ ออกจากบ้านไปสวนลุมฯ ทั้งวิ่งทั้งเดิน 1 รอบก็ได้เหงื่อกลับไปอาบน้ำเข้าที่ทำงานโรงพยาบาลตำรวจ พอหลังปี 2546 ผมย้ายโอนมาที่กระทรวงยุติธรรม…ไม่ค่อยสะดวก จึงมาวิ่งๆ เดินๆ แถวบ้านตรงเอกมัย ตอนนี้เพื่อความสะดวกเปลี่ยนเป็นออกกำลังกายตอนเย็นประมาณ 5 โมง 6 โมง ก็ที่สวนเบญจศิริบ้าง บางครั้งก็ไปสวนลุมฯ

สำหรับบุหรี่กับเยาวชน…อยู่ที่กระบวนการไม่ให้เริ่มสูบ ต้องลดเข้าถึง ลดโอกาส ลดสิ่งเย้ายวน คือเราทำถูกทางแล้วที่ห้ามการโฆษณา แต่ผู้ผลิตเขาก็อาจจะหาวิธีการที่ทำให้เด็กอยากสูบ ส่วนเรื่องเด็กอยากสูบนั้นเป็นเรื่องของกลุ่มเพื่อนๆ เป็นการเอาอย่างกัน ถ้าเข้ากลุ่มนี้แล้วไม่สูบก็ดูแปลกแยก ก็เป็นปัญหา เราต้องไปสร้างจิตสำนึกว่า…บุหรี่ไม่ใช่เรื่องแสดงความเป็นชาย ไม่ใช่ของดี สร้างภาพนี้ขึ้นมา ในละครหรือภาพยนตร์ ควรจะมีพระราชบัญญัติควบคุม ซึ่งผมได้ลองเขียนประเด็นนโยบายสาธารณะเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เขาประชุมใหญ่ทุกเดือน ธันวาคม ปีนี้จะเป็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ผมไปเสนอประเด็นของแพทยสมาคมฯ ให้คณะกรรมการจัดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอ 1 ผลต่อ แต่ผมได้เขียนเสนอไว้ว่าไม่ให้มีฉากสูบบุหรี่ ในภาพยนตร์ในละครทั้งหลาย ถ้าทำจริงๆ ไม่ยาก คนเขียนบทก็ไม่ต้องใส่ฉากสูบบุหรี่ได้

ส่วนคนที่สูบบุหรี่แล้วอยากเลิก…จริงๆ แล้วเป็นเรื่องการติดทางจิตใจ ไม่ใช่ติดทางกายที่ขาดนิโคตินแล้วจะตายให้ได้… มันไม่ลงแดงแบบเลิกเหล้า เหล้ามันติดทั้งจิตใจทั้งกายด้วย บุหรี่มันติดทางจิตใจ เพราะฉะนั้นสามารถหยุดได้ ถ้าจะหยุดจริงๆ อยู่ที่กำลังใจ ตั้งใจอยากจะหยุดจริงหรือเปล่า ถ้าอยากหยุดก็ทำได้ แต่มีบางคนพอกระแสสังคมบีบมากๆ ก็จะปฏิเสธที่จะร่วมกระบวนการ…ก็ยังจะสูบอยู่นั่นแหละ พวกนี้อาจต้องใช้สิ่งช่วยปัจจุบันก็มียาออกมาใหม่ๆ ที่ช่วยเลิกบุหรี่ซึ่งผมก็ได้ข่าวมา ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยากเลิกบุหรี่แต่ว่ายังติดที่ใจเลิกไม่ได้ก็ใช้ยาช่วย ก็จะทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง

 

 

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

Shares:
QR Code :
QR Code