เรื่องเล่าจากบนดอย “โรงเรียนบ้านเวียงหวาย” จ.เชียงใหม่

 

เมื่อตอนเป็นเด็ก คนเราก็คิดแบบเด็กๆ อยากจะไปให้ถึงปลายฟ้า ด้วยอยากรู้อยากเห็นว่า ที่สุดของที่สุดคืออะไร ครั้นโตมาแม้จะรู้แล้วว่าปลายฟ้าไม่มีจริง ก็ยังอยากเก็บความคิดแบบนั้นไว้เพื่อความคิดฝันและจินตนาการ “การให้ก็เหมือนกับสายรุ้ง โดยเฉพาะการให้ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน มันไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่แท้จริง”

ที่โรงเรียนบ้านเวียงหวาย ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีครูคนหนึ่งทำงานเกินเงินเดือน เกินบทบาทของข้าราชการครู เกินเวลาทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน เกินภาระหน้าที่ของการเป็นแม่และเป็นภรรยา โดยมองว่ารางวัลต่างๆ ที่ได้รับ… ไม่ใช่สุดท้ายปลายทางของการให้

ครูแดง กรวรรณ พนาวงค์ เป็นคนสันกำแพง แต่มาสอนอยู่ที่โรงเรียนเวียงหวาย อำเภอฝาง กว่า 30 ปีที่เธอทำงานร่วมกับชุมชนชาวไตหรือไทใหญ่ ทำให้ครูแดงเห็นชัด ลึกซึ้ง พวกเขาคือคนชายขอบ มิใช่แค่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจด้วยระยะทาง แต่ยังห่างไกลด้วยสิทธิและความเสมอภาค ทั้งในด้านการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน การศึกษาและการงานอาชีพ เพียงเพราะการถูกประทับตรา “คนไร้สัญชาติ”

ชาวไทใหญ่โดยมากนับถือพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนับถือโดยการสืบทอดกันมาโดยชาติพันธุ์หรืออย่างไรก็ตาม แต่พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับงานบุญ งานประเพณีและการถือศีลครองธรรม ยิ่งกว่าอื่นใด หญิงชายวัยกลางคนนิยมที่จะไปถืออุโบสถศีลในวันพระ เงินนับสิบนับร้อยเพียรบรรจบอธิษฐานไปถึงชาติหน้า เกิดมาครั้งใด อย่าให้เป็นคนไร้สัญชาติอีกเลย ใช่ว่าจะไม่ได้สำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน แต่เพราะเห็นความสุขของคนไทยบนผืนแผ่นดินไทย

เดินออกจากโรงเรียนไม่ไกลนัก มองเห็นรั้วด้านนอกของโรงเรียนและของกำแพงวัด จดจารรายชื่อผู้มีส่วนร่วมสร้างด้วยศรัทธา กำแพงวัดอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่รั้วโรงเรียนต่างหากที่มีความหมาย ชาวบ้านร่วมสร้างเพราะความหวังให้ลูกหลานมีอนาคต พวกเขาพยายามที่จะดูแลตัวเองมิได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว

ความไม่แบ่งแยกกีดกันของคนไทยที่มีต่อคนไร้สัญชาติ ณ เวียงหวาย จนกลายเป็นความหนึ่งเดียวบนความหลากหลายของชาติพันธุ์ นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ก็ความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยมิใช่หรือคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และถ้าเราบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาอย่าง “รู้คิด” คือ มีความคิด ความรู้และความเท่าทันในความยั่วยุของสังคมบริโภคและสื่อน้ำเน่า พวกเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักตัวเองและอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

อยู่ที่นั่นสองวัน ฉันเห็นความสุขและการเกื้อกูลแบ่งปันของเด็กๆ หากก็เร็วไปที่จะด่วนสรุป จึงถามครูแดง ตรงไปตรงมา ทำงานนี้มาหลายสิบปี เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในตัวเด็ก ครูและผู้ใหญ่บ้านตอบตรงกัน เด็กที่นี่ไม่มีเรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ แต่มีความสุข เพราะผู้ใหญ่ได้เห็นคุณค่าของพวกเขาจากผลงานที่ปรากฏ การได้มีส่วนร่วมกับงานของชุมชนและการเป็นหน่อเนื้อของการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทำให้เด็กที่เป็น “nobody” กลายเป็น “somebody” แค่นี้ ฉันก็ว่ามันคุ้มเกินคุ้มแล้ว

หากที่มากไปกว่านั้น โรงเรียนบ้างเวียงหวายกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบของการศึกษาที่แสดงจุดเด่นเรื่อง อัตลักษณ์ของนักเรียนและเอกลักษณ์ของโรงเรียน ใครต่อใครมาขอศึกษาดูงานแล้วนำกลับไปทำตามบริบทของพื้นที่ของตน นับเป็นเรื่องที่ดี ฉันและครูแดงเห็นตรงกัน ถ้าได้ “เรียนรู้” ก็ไม่จำเป็นต้อง “เลียนแบบ” ด้วยบริบทและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน และถ้าจะนำไปต่อยอดให้ดีกว่า มากกว่า ก็นับเป็นเรื่องที่ดีอีกเช่นกัน ความดีไม่จำเป็นต้องแข่งขัน

ก่อนกลับฉันได้พบและคุยกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่น ซึ่งเดินหน้าลงมือต่อยอดงานของครูแดงแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยหยิบจับขึ้นมาเป็นโครงการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น “อุ๊ยสอนหลาน” รายการนี้มีทุกสามเดือน จัดให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ที่ อบต.รับผิดชอบ บรรจุไว้เป็นงบประมาณประจำปีเรียบร้อย และอีกโครงการหนึ่งคือกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในอันที่จะเชื่อมร้อยคนสามวัยเข้าด้วยกัน

เห็นความเชื่อมโยงของกลุ่มพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยกับโรงเรียน ภายใต้การสนับสนุนของชุมชนและท้องถิ่นแบบนี้ ก็ชื่นใจเสียจนอยากให้ใครต่อใครมาเห็นบ้าง เราจะได้ให้กันต่อๆ ไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด…

 

 

ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โดย เกศินี จุฑาวิจิตร

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code