เรื่องที่ควรรู้…หกล้มในผู้สูงวัย
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : หนังสือ คู่มือการดูแลผู้สูงวัย ชุด ‘เดินดีไม่มีล้ม’ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ผู้สูงวัยมักมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บมากมาย ทั้งโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรมการกิน รวมถึงโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และการเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน
ซึ่ง พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส) ได้กล่าวถึงการหกล้มในผู้สูงวัยไว้ในงาน “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” ว่า การหกล้มเป็นสาเหตุปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ที่นำไปสู่ภาวะทุพพลภาพหรือบาดเจ็บ จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม ควรจัดสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านให้รองรับต่อการมีกิจกรรมทางกาย เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายไปพร้อมๆ กับการดำเนินชีวิตโดยไม่รู้ตัว
แม้ว่าร้อยละ 20-30 จากการหกล้มจะทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือสมองก็ตาม แต่เราก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะการหกล้มในผู้สูงวัยยังเป็นสาเหตุหลักของอาการกระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบภาวะบกพร่องทางการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้ค่ะ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการหกล้ม
แบ่งออกเป็น 1) ปัจจัยภายใน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน ไขสันหลัง สมองเสื่อม ข้ออักเสบ ผู้มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ผู้มีภาวะบกพร่องด้านการกลั้นปัสสาวะ (ทำให้ต้องรีบเข้าห้องน้ำ) ผู้ที่ได้รับยาหลายชนิดพร้อมกัน เป็นต้น และ 2) ปัจจัยภายนอก เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นทางเดินเปียก-ลื่น ทางเท้าขรุขระ การจัดบ้านไม่มีราวจับในห้องน้ำ พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงชุดแต่งกายที่อาจหลวม-รุ่มร่าม หรือรองเท้าลื่น หลวม เลนส์แว่นตาไม่พอดีกับสายตา เป็นต้น
การพัฒนาความสามารถในการทรงตัว
ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มทักษะการทรงตัวและป้องกันการล้ม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1) ผู้สูงวัยที่นอนติดเตียงและไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ควรเริ่มออกกำลังกายในจำนวนน้อยๆ แล้วเพิ่มจำนวนขึ้นในวันถัดไป โดยเลือกใช้ท่าที่ช้าๆ ไม่กลั้นหายใจ หากมีอาการเหนื่อยหรือเวียนศีรษะให้หยุดพัก เช่น ท่านอนราบเหยียดเข่าทีละข้าง ท่านอนราบยกก้นให้ลำตัวและสะโพกอยู่ในแนวเดียวกัน ท่านอนหงายและกางขาออก 45 องศา ท่านอนตะแคงและยกขาขึ้นในท่าตะแคง 45 องศา เป็นต้น
2) ผู้สูงวัยที่สามารถยืนและเดินได้ด้วยตนเอง ควรมีผู้ดูแลอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด โดยทำในบริเวณพื้นเรียบ ใกล้ผนัง หรือที่มั่นคงที่สามารถจัดได้ทันทีหากเสียการทรงตัว เริ่มจากจำนวนครั้งที่น้อยๆ และเพิ่มจำนวนในวันถัดไป ควรทำท่าช้าๆ ไม่กลั้นหายใจ เช่น ยืนตรงเขย่งปลายเท้าโดยที่มือจับโต๊ะหรือเก้าอี้ ท่ายืนตรงมือจับเก้าอี้เหยียดขาไปด้านข้าง-ด้านหลัง ท่านั่งพิงเก้าอี้และสลับเหยียดขาไปข้างหน้าให้ตรงที่สุด เป็นต้น โดยในทุกวันผู้สูงอายุกลุ่มนี้สามารถเพิ่มการออกกำลังกายด้วยการเดินต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 20 นาที
ทั้งนี้หากผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม ควรมีอุปกรณ์เสริมที่ไว้ใช้ในการช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า โครงช่วยเดิน 4 ขา หรือรถเข็น รวมถึงสามารถดาวน์โหลด คู่มือการดูแลผู้สูงวัย ชุด ‘เดินดีไม่มีล้ม’ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ http://bit.ly/2oWXq2R
ที่สำคัญ ‘การออกกำลังกาย’ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ ไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นผู้สูงวัยก่อนแล้วค่อยเริ่มทำ เพื่อการมีสุขภาพกายและใจที่ดี ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนะคะ