‘เรียนหนัก-เนือยนิ่ง-ติดจอ’ทำเด็กไทยสุขภาพแย่
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
'เรียนหนัก-เนือยนิ่ง-ติดจอ'ทำเด็กไทยสุขภาพแย่ ชี้ควรส่งเสริม'เล่นอิสระ'สร้างพัฒนาการ
6 มี.ค.61 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี สาทร กทม.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีสัมมนาส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก “เล่นเพื่อชีวิตเด็ก”ว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยมีปัญหาทั้งโภชนาการเกินและมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 35 นาที ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักตามข้อเสนอตามหลักสากลไม่ถึงวันละ 60 นาที เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย พบว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนอายุ 6 – 17 ปี จำนวน 16,788 คน จาก 336 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด 9 ภูมิภาคทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร พบว่า ค่าเฉลี่ยการมีกิจกรรมทางกาย ของเด็กไทยอยู่ระดับปานกลาง หรืออยู่ระดับเกรด C แต่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งค่อนข้างสูง หรืออยู่ระดับเกรด D- ทั้งนี้ ผลที่ได้จากโครงการสำรวจ Report Card จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ขับเคลื่อนการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิการเล่นในประเทศไทย
ขณะที่ น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า สถานการณ์ทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี วิถีชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขันสูง เด็กถูกคาดหวังและบีบคั้นให้แข่งขันด้านการศึกษา ต้องติวเข้มเพื่อเข้าเรียน เรียนพิเศษเพิ่มเติมจนไม่มีเวลาเล่น หรือการใช้เวลากับสื่อ ติดหน้าจอ ไม่ต่ำกว่าวันละ8 ชั่วโมง ทำให้ “การเล่นอิสระ” (Free play) น้อยลง ประกอบกับพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในสังคม ไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของการเล่นอิสระ ปิดกั้นโอกาสในการเล่นอิสระของเด็ก สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาวะของเด็กเยาวชนในหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกายภาวะโรคอ้วน ความเครียด ปัญหาการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรอบข้าง การเข้าสังคม ฯลฯ ซึ่งการเล่นช่วยวางรากฐานการเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตในเด็ก
“การเล่นอิสระ ที่จะเล่นแบบไหนอย่างไรก็ได้ตามแต่จินตนาการของเด็ก เช่น บทบาทสมมุติ เล่นผจญภัย ซึ่งจะทำให้เด็กมีร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง สู่การมีเป้าหมายในชีวิต และเป็นกระบวนการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบและปูพื้นฐานสู่ความเป็นพลเมือง หรือในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสการเล่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจ ลดความเครียด และความกดดัน เมื่อพบปัญหาชีวิตก็จะเลือกทางออกที่ดีให้แก่ตนเองได้” น.ส.เข็มพร กล่าว
ด้านนางเคธี หว่อง (Kathy Wong) รองประธานสมาคมการเล่นนานาชาติ (IPA Vice President) และผู้อำนวยการบริหาร Play right Children's Play Association เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ย้ำว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ข้อ 31 ระบุว่า “เด็กมีสิทธิที่จะมีการพักและเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นสันทนาการที่เหมาะสมตามวัย การมีส่วนร่วมอย่างมีเสรีภาพเหมาะสม” แต่กลับเป็นสิทธิที่ถูกหลงลืมมองข้ามเพิกเฉยทั้งที่จริงแล้วสำคัญมาก ดังนั้น IPA จึงผลักดัน 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1.ส่งเสริมสิทธิการเล่นของเด็ก โดยนิยามการเล่นในมุมมองของเด็ก คือเด็กเป็นผู้ริเริ่ม เกิดจากแรงจูงใจภายในของเด็กเอง 2.สนับสนุนให้ผู้ใหญ่ส่งเสริมการเล่นของเด็ก ให้เด็กสามารถเล่นได้ทุกที่ ทุกโอกาส ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายส่วนไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครู แพทย์ ฯลฯ 3.มีสนามเด็กเล่นที่ไม่กีดกั้นการเข้าถึงของเด็กทุกคน โดยสร้างสนามเด็กเล่นที่สนุกสนาน ปลอดภัย ส่งเสริมจินตนาการ ไม่กลัวความเสี่ยงแต่สามารถจัดการความเสี่ยงได้ 4.สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับเด็กทุกคน เช่นที่จีน มีทางเท้าที่เด็กสามารถเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน หรือไปสนามเด็กเล่นอย่างปลอดภัย
“ผลการศึกษาปัญหาการเล่นของเด็กใน 8 ประเทศ พบปัญหาคล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย พ่อแม่กลัวอันตราย หน่วยงานราชการไม่มีนโยบายสนับสนุนการเล่นหรือมีแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีพื้นที่ ไม่มีของเล่น แรงกดดันจากพ่อแม่ที่เด็กต้องเรียนเก่ง ไม่มีกำหนดเวลาเล่นเมื่อไปโรงเรียน เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กมากจนเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเล่นอิสระของเด็ก แม้ว่าการเล่นจะเป็นหนึ่งในสิทธิที่เด็กพึงได้รับ” นางเคธี ระบุ