เรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน
พัฒนา ‘อีคิว‘ ควบ ‘ความรู้‘
“อีคิว” หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ ใครว่าไม่สำคัญ เพราะนอกจากความรู้จากมันสมองเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ที่ถูกต้องได้ เด็กๆ ก็คงจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพไม่ได้
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดกิจกรรม “ค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” โดยมีเยาวชนวัยเรียนจากกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โรงเรียนจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ร่วมฝึกฝนอีคิวและทักษะวิชาการที่แฝงอยู่ การได้อยู่ร่วมกัน ปรับตัว มีระเบียบ เรียนรู้ภาวะผู้นำและผู้ตาม เพื่อนำไปปรับใช้กับสภาพปัญหาในปัจจุบัน
นางแก่นจันทร์ เพี้ยงจันทร์ ครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ โรงเรียนจอมทอง ผู้รับผิดชอบค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์รุ่นที่ 2 เล่าว่า สิ่งที่เน้นกับเด็กมากที่สุดคือ ความสุขและได้ความรู้ควบคู่กันไป รวมทั้งอยากเห็นมากที่สุดนอกจากทักษะวิชาการที่แฝงอยู่ในการเข้าค่ายคือ เด็กจะได้เรียนรู้การได้อยู่ร่วมกัน ปรับตัว มีระเบียบ เรียนรู้ภาวะผู้นำและผู้ตาม เพื่อนำไปปรับใช้กับสภาพปัญหาในปัจจุบัน เพราะหากทุกคนไม่มีการปรับตัวอาจเกิดเปัญหาความขัดแย้งขึ้นในกลุ่ม
สำหรับบรรยากาศของการเข้าค่ายนั้นก็เปี่ยมไปด้วยสาระและความสนุก เยาวชนได้ร่วมกันประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ อาทิ “เตาเผาถ่านลดโลกร้อน” จากวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น “เครื่องมือเจาะหลุมถั่ว” ที่ทำจากล้อรถจักรยานยนต์ น้ำหมักจุลินทรีย์สำหรับผักและผลไม้ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อพืชและคน “เครื่องกะเทาะเมล็ดถั่ว” ลดฝุ่นละอองที่ย่นระยะเวลาในการทำงานให้แก่ชาวบ้านจากครึ่งวันเหลือเพียง 1 กิโลกรัมภายใน 2 นาที ซึ่งโครงงานนี้นำไปให้ชาวบ้านดงหลวงใช้ได้จริง โดยเด็กๆ ไม่จดลิขสิทธิ์ เพราะต้องการให้ชาวบ้านผลิตเครื่องขึ้นใช้เองอย่างง่ายๆ
เริ่มต้นที่ “มอส” นายพิชิตพล มุ่งเกษม นักเรียนชั้น ม.6 บอกว่า ตอนเข้าค่ายครั้งแรกได้มีโอกาสตรวจหาฟอร์มาลีนจากยอดมะยม ทำแหนม คิดโครงงานใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความรู้ รู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนๆ ได้ผ่อนคลาย ได้ทั้งเรียนและเล่นไปพร้อมๆ กัน
“หากให้ผมจำเนื้อหาของวิชาการในห้องผมก็ไม่ค่อยจำ แต่หากมาเข้าค่ายแบบนี้ผมสนุกและจดจำไปด้วยโดยไม่รู้ตัว หากใครมาทดสอบผมก็ยังจำบทเรียนเก่าๆ ได้อยู่ เพราะมันฝังอยู่ในความทรงจำ เรียนในห้องเรียนใครก็ทำได้แต่เรียนแบบไบโอเทคไม่ใช่ใครก็ทำได้”
ขณะที่ “ส้ม” น.ส.เครือวัลย์ คำแห่ สาวน้อยวัย 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 บอกว่า เข้าค่ายครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะอยากมีประสบการณ์และการปรับตัวอยู่ร่วมกับเพื่อน น้อง และพี่ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ข้อดีข้อด้อยของตนเองและเพื่อนๆ เพราะการมุ่งหน้าเพื่อเรียนให้เก่งอย่างเดียว ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต การเรียนเก่งอยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จะต้องเรียนรู้ภาคปฏิบัติควบคู่ไปด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update:29-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย