เรียนรู้รับมือ“โรคลมชัก”ภัยเงียบใกล้ตัว
อาการชัก ร่างกายแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้ อาจสร้างความตระหนกตกใจให้กับหลายคนที่พบเห็น ซึ่งโดยมากแล้วมักจะรับมือกันไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเด็ก หลายคนที่พบเห็นต่างก็พยายามให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่ทราบหรือไม่ว่า หลายครั้งที่ความช่วยเหลือนั้นกลับกลายเป็นอันตรายตามมาหากทำไม่ถูกวิธี
อาการชัก และโรคลมชัก
“โรคลมชักยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ในทุกเพศและทุกวัย ปัจจุบันสามารถรักษาโรคลมชักให้ดีขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งรักษาให้หายขาดได้” ผศ.นพ.รังสรรค์ ชัยเสวิกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า โรคลมชักแท้จริงแล้วไม่ใช่โรค แต่คนไทยเราเรียกกันจนเคยชินเช่นนั้น โรคลมชักเป็นกลุ่มอาการ หรืออาการแสดงที่เกิดจากโรคของสมอง ที่ทำให้บางเวลาสมองทำงานผิดปกติไปชั่วครู่ จนเกิดอาการชักขึ้นชั่วขณะหนึ่ง
อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของอาการชัก
ปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการชัก ได้แก่ โรคทางพันธุกรรมที่มักมีอาการชักร่วมด้วย ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งเกิดตั้งแต่เมื่อทารกยังอยู่ในครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ หรืออุบัติเหตุในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น การกระทบกระเทือนต่อสมองเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือการขาดออกซิเจน การติดเชื้อในสมอง อาทิ ฝีในสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งที่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ มาสู่สมอง รวมถึงอาจจะต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาและควบคุมอาการชัก
สำหรับการควบคุมอาการชักนั้นที่สำคัญคือ การให้ยากันชัก และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นอาการชัก สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักจำนวนหนึ่งที่สามารถผ่าตัดสมอง เพื่อให้หายขาดจากโรคลมชักได้ ก็อาจจะได้รับการพิจารณาผ่าตัดสมองแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้แล้วแพทย์จะให้คำแนะนำด้านต่างๆ เช่น การเล่นกีฬาและสันทนาการต่างๆ การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การให้นมและการเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็ก เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมอาการชักได้เป็นอย่างดี ส่วนน้อยที่ยังควบคุมด้วยยากันชักไม่ได้และไม่สามารถผ่าตัดสมองให้หายขาด ก็อาจใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทสมองเพื่อช่วยควบคุมอาการชักให้ทุเลาลงได้
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น
ผศ.นพ.รังสรรค์ บอกว่า โดยปกติแล้วการชักจะหยุดเองในเวลา 1-2 นาทีในระหว่างการชักการดูแลผู้ป่วยเกิดอาการชัก คือตั้งสติอย่าตกใจ ประคองผู้ป่วยให้นอนหรือนั่งลง สอดหมอนหรือวัสดุอ่อนนุ่มไว้ใต้ศีรษะ ตะแคงศีรษะให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก และอย่าใส่สิ่งของเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วย เพราะปกติผู้ป่วยจะไม่กัดลิ้นตัวเอง อีกท้ังวัสดุที่ใส่เข้าไปอาจจะหักหรือขาดหรือทำให้ฟันหักหลุดไปอุดหลอดลมจนหยุดหายใจได้ ส่วนใหญ่อาการชักมักจะไม่เกิน 5 นาทีแต่ถ้านานกว่านั้น ให้พาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
รู้เร็วมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
คุณหมอบอกว่า ร้อยละเจ็ดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของคนไข้โรคลมชักจะคุมได้ด้วยยา โดยคนไข้ที่คุมได้ด้วยยากันชัก ถ้ากินยา 3-5 ปี ส่วนใหญ่จะหยุดยาได้ เพราะสามารถรักษาให้หายขาด แล้วก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติได้
“ผู้ป่วยควรกินยาสม่ำเสมอ อย่าขาดยา และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อดนอน นอนดึก ถ้าอยู่ในระหว่างเริ่มต้นรักษาโรคลมชัก กิจกรรมที่มีความเสียงที่จะทำให้เกิดอันตราย เช่น การปีนที่สูง การว่ายน้ำคนเดียว การขี่จักรยานออกไปข้างนอก ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าคุมอาการลมชักไดัสักประมาณ 6 เดือน ปัจจัยพวกนี้ก็จะลดน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ”
กิจกรรมใดที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง
ผศ.นพ.รังสรรค์ อธิบายว่า การรักษาผู้ป่วยโรคลมชักจะแนะนำทุกครั้งว่าไม่ควรขับรถ เพราะหากอาการกำเริบขึ้นมา ไม่เพียงตัวเองที่จะบาดเจ็บ ยังอาจเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตผู้อื่นด้วย ที่น่าห่วงคือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามคนเป็นโรคลมชักขับรถ หากเป็นยุโรปหรือ สหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามขับรถ เว้นแต่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยมีการกินยาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยเกิดอาการชักอย่างต่ำ 6 เดือน – 1 ปี จึงจะสามารถขับรถได้
โรคลมชักส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมีอาการชักเกิดขึ้นแล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้น ด้วยการกินยากันชักตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต