เรียนน้อยเงินเดือนน้อยตายจากโรคหัวใจมาก

 

เรียนน้อยเงินเดือนน้อยตายจากโรคหัวใจมาก            มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยงานวิจัยดีเด่นในการประกวดงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2552 ของ นพ.ปริญญ์ วาทีสาธกกิจ อาจารย์หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในโอกาสวันหัวใจโลก 27 กันยายน ที่พบว่าการศึกษาน้อยและรายได้น้อยเป็นดัชนีชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือด โดยการวิจัยดังกล่าวติดตามสภาวะสุขภาพและสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 3,499 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2550 เป็นเวลา 22 ปี พบว่ามีผู้เสียชีวิต 504 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและ หลอดเลือด 150 คน การวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาน้อยและมีเงินเดือนน้อย เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าและรายได้มากกว่า โดยผู้ที่มีระดับการศึกษาชั้นประถม มีการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็น 2 เท่าของผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยม และเกือบสี่เท่าของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในเรื่องของรายได้ก็พบความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ คนที่มีรายได้น้อยกว่ามีสถิติการเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่าในด้านพฤติกรรมเสี่ยงพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษามีอัตราการ สูบบุหรี่สูงกว่า เป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานมากกว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมและปริญญาตรี

 

            นพ.ปริญญ์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ทำให้ความเชื่อที่ว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่เกิดกับคนมีอันจะกิน ไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้องเสมอไป สาเหตุที่คนที่มีการศึกษาน้อยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า เพราะว่าประชากรกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า เช่น การสูบบุหรี่มากกว่า เป็นความดันสูง และเบาหวานมากกว่า ทั้งนี้การที่มีระดับการศึกษาน้อยอาจทำให้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น การเข้าใจถึงอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพและความสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ การควบคุมเบาหวานและความดัน เป็นไปได้ยากกว่า ขณะที่การที่มีรายได้น้อยทำให้การดูแลตัวเองและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ช้ากว่าและน้อยกว่า ทำให้สุดท้ายมีสถิติการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า ข้อมูลวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการยกระดับการศึกษาของประชาชน เพื่อลดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตในโรคที่ป้องกันได้ แต่ในระยะสั้นหน่วยงานที่รณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี จะต้องเน้นการรณรงค์ในกลุ่มประชากรที่มีการศึกษาน้อยและมีรายได้น้อย เพื่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมโดยเฉพาะการเลิกสูบบุหรี่

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

 

 

update 28-09-52

 

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ